เกาะกระแสเกมเมอร์ปั้นธุรกิจ สร้างรายได้

รู้หรือไม่ว่าในปีที่ผ่านมา ประชากรชาวเกมเมอร์ทั่วโลกมีจำนวนกว่า 2,690 ล้านคน สูสีกับประชากรจีนและอินเดีย ที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมารวมกัน และจำนวนเกมเมอร์อาจขยายเพิ่มไปแตะ 3,070 ล้านคนภายในปี 2566


ค่านิยมเดิมๆ ทีมองกลุ่มเกมเมอร์เป็นแค่เด็กหรือเยาวชน กลายเป็นเรื่องเก่า เพราะเกมหลากหลายที่ได้รับการพัฒนาขึ้น ได้ยึดหัวหอกครองใจคนในช่วงอายุที่หลากหลาย ขยายไปครอบคลุม “กลุ่มคนวัยทำงาน” ที่มีกำลังซื้อแล้วโดยมีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนมาเล่นเกมเพื่อคลายเครียด ในช่วงที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้านมากขึ้น แล้วจะเกาะกระแสเกมเมอร์ พลิกหาช่องทางเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจได้อย่างไร?


ที่ผ่านมา มีตัวอย่างการสร้างรายได้จากเกมที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจRoblox แพลตฟอร์มที่เปิดให้คนทั่วไปมาสร้างเกมออนไลน์ และผลิตออกมาให้เกมเมอร์ทั่วไปเข้าถึง โดยใช้โค้ดที่ไม่ยากเกินไป ทำให้มีนักพัฒนาเกมมือใหม่และผู้เชี่ยวชาญ สามารถออกแบบเกมของตัวเองกับ Roblox ได้ ร่วมรับแบ่งปันรายได้ 30% เมื่อขายไอเท็มในเกมออกไปให้ผู้เล่น บริษัทนี้มีมูลค่าการตลาดสูงเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกาไปในเดือนมีนาคม 2564 ที่น่าสนใจคือ บริษัทอ้างว่านักพัฒนาเกมกว่า 1,250 คนที่ลิสต์เกมอยู่ในแพลตฟอร์มของพวกเขา สามารถทำรายได้อย่างน้อย 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐจากการซื้อขายเสมือนจริง และหากนับยอดการแบ่งปันรายได้ให้นักออกแบบเกมทั้งหมดในปีที่ผ่านมา คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 328.7 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 200% เทียบกับปีก่อนหน้านั้น

business-for-gamers-01

สำหรับคนที่ชอบเล่นเกม สะสมทักษะและความเข้าใจในกลยุทธ์ พร้อมทั้งมีไอเดียแปลกใหม่ นี่จึงเป็นหนึ่งช่องทางที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเยาวชนที่ค้นพบความสามารถจากจุดเริ่มต้นนี้ ยังนำไปสู่การต่อยอดหาความรู้เพิ่มเติม ลองฝึกเรียนเขียนโค้ดโปรแกรมที่ซับซ้อนขึ้น เอาจริงเอาจังกับการเป็นนักออกแบบเกมในอนาคต


ทว่าหากไม่สันทัดในการพัฒนาเกม แค่การเข้าไปมีส่วนร่วม อัพเดทข่าวสารและกิจกรรมของเกมต่างๆ ที่มีฐานผู้เล่นจำนวนมาก ก็อาจสร้างประโยชน์ให้กับคนที่รู้จักพลิกแพลงธุรกิจได้เช่นกัน โดยเฉพาะเกมประเภท AR (Augmented Reality) ที่ผูกสถานการณ์ในเกมเข้ากับภูมิประเทศจริง และกระตุ้นให้คนต้อง “ออกจากบ้าน” มาปฏิสัมพันธ์เพื่อทำภารกิจต่างๆ


“โปเกม่อน โก” มีแฟนพันธุ์แท้ในทุกประเทศ และเป็นเกมสร้างรายได้สูงสุดติด 5 อันดับแรกของโลกในปีที่ผ่านมา เพราะเนื้อหาในเกมจะกระตุ้นให้คนเดินทางไปทำภารกิจในสถานที่จริง พร้อมจับจ่ายเพื่อล่าไอเท็มที่ต้องมี เพื่อเพิ่มอรรถรสในการเล่น ซึ่งในช่วงก่อนจะเกิดวิกฤตไวรัสระดับโลก โปเกม่อน โก จะมีกิจกรรมใหญ่หมุนเวียนจัดตามประเทศต่างๆ เป็นเฟสติวัลที่ดึงดูดผู้เล่นนับหมื่นและแสนคนมารวมกัน


บรรยากาศความคึกคักจะไม่หยุดอยู่ที่โซนจัดงานเท่านั้น แต่ร้านค้าต่างๆ ในเมืองที่ทำเลตรงกับ “โปเก สต็อป” หรือจุดรับไอเท็มฟรีในเกม จะถือโอกาสเปิดเครื่องมือที่เรียกว่า “Lure” เพื่อดึงตัวโปเกม่อนมาที่สต็อปนั้นๆ ซึ่งจะดึงดูดเหล่าเกมเมอร์ให้ตามมาใช้บริการเป็นพรวน ร้านค้าหัวใสบางร้าน อาจถือโอกาสจัดโปรโมชั่นอาหารและเครื่องดื่มเป็นพิเศษ เอาใจคอเกมและเพิ่มยอดขายอย่างคึกคัก หรือในประเทศที่รู้ว่าฐานประชากรของตัวเองคลั่งไคล้โปเกม่อนขนาดหนักอย่าง “ไต้หวัน” ในอดีตก็เคยมีการจัดทัวร์บนรถบัส 5 ชั่วโมง เพื่อตระเวนจับโปเกม่อน โดยบนรถมีช่องชาร์จโทรศัพท์เพื่อการเล่นที่ต่อเนื่อง พร้อมไวไฟสัญญาณแรง โปรแกรมนี้มีร้อนแรงจนมีผู้ลงทะเบียนขอเข้าร่วมกว่า 940 คน แต่น่าเสียดายที่บริษัททัวร์รองรับเหล่าเทรนเนอร์ได้เพียง 14 คนต่อรอบเท่านั้น


การเชื่อมโยงแผนที่ในโลกจริงเข้ากับโลกเสมือน ยังเป็นกิจกรรมที่เกมโปเกม่อน เล็งเห็นแนวทางสร้างประโยชน์แก่ชุมชนด้วย เพราะในปี 2564 นี้ บริษัท Niantic ซึ่งเป็นเจ้าของเกมนี้ ประกาศว่าจะจัดกิจกรรมพิเศษในพื้นที่ Tohoku ที่ญี่ปุ่นในโอกาสครบรอบ 10 ปีโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวรุนแรง จนบัดนี้การเดินทางท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ภายใต้กิจกรรมนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ Iwate, Miyagi และ Fukushima ที่เคยบอบช้ำจากแผ่นดินไหวและสึนามิ จะให้ความร่วมมือกระตุ้นท่องเที่ยวและการจับจ่ายให้กับร้านค้าท้องถิ่นกว่า 100 แห่ง ซึ่งมีสิทธิเข้าร่วมเป็นจุดตั้งโปเกสต็อปหรือยิมภายในเกม เพื่อดึงดูดเหล่าสาวกให้พาเหรดเข้าพื้นที่เป็นเวลา 6 เดือนเต็ม


ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เหล่าเกมเมอร์สามารถสร้างพลังทางเศรษฐกิจในโลกได้จริง

หากคุณเป็นคนที่ชอบเล่นเกม มีเทคนิคแพรวพราวผสมผสานกับการเล่าเรื่องเก่งกาจ อาจยกระดับตัวเองเป็นนักแคสต์เกมคนดังเลยก็ได้ ปัจจุบันการมีแพลตฟอร์มที่เปิดให้สตรีมมิ่งเกมออนไลน์สะดวกขึ้นอย่าง Twitch ขึ้นมา ซึ่งสร้างฐานแฟนคลับได้รวดเร็ว สร้างปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับแฟนๆ ได้ทันที จนนักร้องดังฝั่งสหรัฐและเกาหลีใต้ หรือนักฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกก็ยังหันมาใช้แพลตฟอร์มนี้ เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับแฟนๆ


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะหารายได้จากเกมด้วยวิธีไหน แต่อย่าลืมว่าไม่ควรเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของเกม เช่น ปั้นไอดีเพิ่มเลเวลและสะสมไอเท็มหายากไว้ แล้วนำไอดีนั้นมาขายต่อให้กับคนที่ไม่อยากเสียเวลา นอกจากฉีกกฎของเกม แล้วยังเสี่ยงต่อการถูกแบนอีกด้วย


ทางที่ดีคือ การรู้จักดึง “ความสนุก” ของเกมมาใช้ให้เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ รับรองว่าตัวเองมีรายได้อย่างสบายใจ และมัดใจคอเกมทั้งหลายอยู่มือแน่นอน อยากทำธุรกิจเกาะกระแสเกมเมอร์ แต่ยังขาดเงินทุน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่


ที่มา
https://financesonline.com/number-of-gamers-worldwide/
https://www.cnbc.com/2021/03/09/roblox-ipo-how-game-developers-built-a-30-billion-platform.html
https://www.superdataresearch.com/blog/2020-year-in-review
https://dotesports.com/news/niantic-to-launch-local-business-program-in-pokemon-go-to-support-tohoku-remember-great-east-japan-earthquake
https://www.taiwannews.com.tw/en/news/2966249
https://www.theverge.com/2021/3/15/22331623/twitch-facebook-gaming-pandemic-hours-watched