ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
“ของสะสม” มูลค่าทางใจที่อาจเปลี่ยนเป็นกำไรในอนาคต
Passion Investment หรือการลงทุนกับของที่มีมูลค่าทางใจ ขึ้นชื่อในเรื่องความผันผวนในมูลค่าซื้อขาย ด้วยราคาประเมินขึ้นอยู่กับความพึงพอใจแห่งเจ้าของ และผู้ปรารถนาจะครอบครอง ไม่มีมาตรวัดชั่งตวงวัดที่ตายตัว แต่เข้าทำนอง “รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังต้องขอลอง” ในเมื่อใจมันรักไปแล้ว ลองได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “คอลเลกชั่น” ที่ไม่ควรพลาด ผู้มีใจรักต่างพร้อมดั้นด้นแสวงหามาครอบครองให้จงได้ และนี่เป็นปัจจัยที่ทำให้การลงทุนประเภทนี้ มีทั้งเสน่ห์และความประหลาดใจ ชวนให้คนภายนอกมองเข้ามาอย่างพิศวง เมื่อราคาซื้อขายหรือประมูลของสะสม พุ่งทะยานติดน่านฟ้าไม่แพ้ทรัพย์สินใดในโลก
นอกจากของสะสมพิมพ์นิยมอย่าง นาฬิกา อัญมณี กระเป๋า งานศิลปะ รถคลาสสิค เหรียญกษาปณ์ ที่เป็นไอเท็มยอดนิยมมาช้านาน รู้หรือไม่ว่าในโลกนี้ยังมีของสะสมม้านอกสายตาที่คนอาจมองข้าม เคยปิดการขายในราคาที่ชวนตกตะลึงมาแล้ว จะเป็นอะไรบ้างนั้น มาติดตามตัวอย่างกัน
หนังสือหายาก
เคยสังเกตไหมว่าเมื่อมีหนังสือใหม่วางแผงครั้งแรก ทำไมคนถึงต่อคิวยาวไม่ต่างอะไรกับการเข้าแถวรอซื้อโทรศัพท์หรือกระเป๋าราคาแพง นอกจากความอยากรู้เนื้อหาเป็นคนแรกๆ ตามประสาหนอนหนังสือแล้ว คำว่า “ตีพิมพ์ครั้งแรก” (First Edition) นั้น มีมนต์ขลังเสมอสำหรับนักสะสมตัวยง ยิ่งหากได้ฉบับพิมพ์ครั้งแรก และสำทับด้วย “ลายเซ็น” ของนักเขียนด้วย หนังสือเล่มนั้นอาจมีมูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัว หากหนังสือหรือตัวผู้เขียนได้รับความนิยมขึ้นมา
ตัวอย่างเช่น The Hobbit วรรณกรรมจากปลายปากกาของ เจ.อาร์.อาร์ โทลเคียน ที่ปัจจุบันราคาฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกพุ่งสูงถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.2 แสนบาท แต่เดี๋ยวก่อน หากคุณได้ครอบครองฉบับที่มีลายเซ็นของนักเขียน ราคาซื้อขายนั้นทะยานไปถึง 50,000-60,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.55-1.86 ล้านบาทกันเลยทีเดียว หากอยากเข้าสู่เส้นทางนักสะสมมือใหม่ มีเว็บไซต์หนังสือเก่าที่นิยมให้ลองไปส่อง อาทิ AbeBooks.com เป็นต้น
ชุดของเล่นตัวต่อเลโก้
ความฝันในวัยเด็กหอมหวานอย่างไร ชุดตัวต่อเลโก้ก็อาจให้ผลตอบแทนหอมหวานเช่นนั้น เพราะของเล่นเสริมจินตนาการจากแบรนด์ดังรายนี้ ขึ้นแท่นเป็นของสะสมเพื่อการลงทุนทางเลือกที่ราคาสูงลิบไม่แพ้ใครในตลาดมือสอง
งานวิจัยจากปี 2563 ที่ช่วยยืนยันว่า การลงทุนในตัวต่อเลโก้นั้นให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่หรือทองคำเสียอีก เพราะมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนขั้นต่ำ 11% จากการเก็บตัวอย่างวิจัยระหว่างปี ค.ศ.1987-2015 แถมยังเป็นการลงทุนที่ลอยตัวเหนือความเสี่ยงที่การลงทุนประเภทอื่นๆ มักจะเจอด้วย ด้วยการเป็นของเล่นระดับตำนานที่อยู่คู่เด็กทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 1958 จึงมีโมเดลรุ่นเก่าให้นักสะสมเลือกตามหามาครอบครองกันหลายรุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่เลโก้ร่วมมือกับภาพยนตร์ดังอย่างเช่น สตาร์วอร์ส หรือโมเดลคลาสสิกที่เป็นแลนด์มาร์กอย่าง ทัชมาฮาล หรือ หอไอเฟล ที่ผลิตขายออกมาเป็นช่วงสั้นๆ ก่อนจะเลิกจำหน่าย กลับกลายเป็นของหายากที่มูลค่าสูงขึ้นมาก ยิ่งหากคุณมีเซ็ตเหล่านี้แบบไม่เคยเปิดผนึกกล่องล่ะก็ ราคาอาจจะเพิ่มขึ้น 20-30% เลยทีเดียว
รองเท้าสนีคเกอร์
ของสะสมที่หวือหวาตามกระแส และมูลค่าของตลาดที่ไม่เล็กเลย เมื่อพบว่ามีขนาดกว่า 62,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.9 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะทะยานไปแตะ 97,800 ดอลลาร์ หรือราว 3 ล้านล้านบาทภายในปี 2567 แต่ปัจจัยที่จะทำให้สนีคเกอร์คู่โปรดของคุณราคาพุ่งเมื่อผ่านกาลเวลาไปได้นั้น นอกจากจะไม่เคยสวมใส่ เก็บถนอมไว้อย่างดีชนิดที่ไร้รอยตำหนิ ยังควรเป็นรุ่น Limited Edition ของแบรนด์ที่นักสะสมให้คุณค่าด้วย อาทิ Nike, Air Jordans, Yeezys และ Adidas ยกตัวอย่างเช่น Nike SB What the Dunk รองเท้าสีฉูดฉาดบาดใจ ที่เปิดราคาขายอยู่ที่ 120 ดอลลาร์ (ราว 3,700 บาท) แต่ปัจจุบันมูลค่าสูงเฉียด 5,000 ดอลลาร์ (ราว 1.5 แสนบาท) เข้าไปแล้ว
หากอยากชิมลางเป็นนักสะสม สามารถเทียบราคาได้จากตลาดออนไลน์อย่าง eBay, GOAT และ StockX โดยอาจเริ่มจากการค่อยๆ สะสมด้วยจำนวนน้อยๆ ค้นหาแนวทางความชอบของตัวเองให้ชัด และหมั่นตรวจสอบดูเทรนด์ตลาดว่าอะไรกำลังมา
ภาพถ่าย
ในขณะที่งานศิลปะเป็นของสะสมยอดฮิตของมหาเศรษฐีทั่วโลกมานาน แต่การสะสมภาพถ่ายเพื่อการลงทุน เป็นกระแสที่เพิ่งเติบโตตามมาในยุคหลังๆ สาเหตุที่ทำให้นักสะสมตะขิดตะขวงใจในยุคแรกๆ นั้น เป็นเพราะมุมมองที่คิดว่าภาพถ่ายสามารถทำซ้ำได้ง่ายกว่าศิลปะประเภทอื่น และอาจทำให้การลงทุนเพื่อครอบครองภาพถ่ายนั้น ไม่คุ้มค่าพอ
ทว่าในยุคหลังๆ การประมูลภาพถ่ายเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น และแตกแขนงไปสู่ภาพถ่ายในสาขาที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะจากศิลปินชื่อดังเท่านั้นอย่าง Ansel Adams ช่างภาพที่โด่งดังจากการถ่ายภาพธรรมชาติแบบขาว-ดำ แต่ขยายไปถึงการถ่ายภาพเพื่อแฟชั่นอย่าง Ellen von Unwerth การถ่ายภาพเชิงวารสารศาสตร์ที่เน้นเก็บบันทึกช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ และแม้กระทั่งภาพถ่ายการสำรวจอวกาศจากนาซ่า ที่มีความสนใจซื้อขายในราคาสูง แต่ทั้งนี้ การสะสมภาพถ่ายก็เป็นเช่นเดียวกับของสะสมประเภทอื่นๆ คือ ราคาที่ผันผวนและมีขึ้นลงตามความพึงพอใจในช่วงเวลานั้นๆ และต้องอาศัยรสนิยมส่วนตัวสูงในการเลือกหาและเฟ้นภาพถ่ายที่จะมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต
ไม่ว่าจะชอบสะสมอะไร แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะของสะสมที่ขนาดตลาดมีจำกัด หากลงทุนเพื่อผลตอบแทนในอนาคต ก็ควรหมั่นติดตามข่าวสารในแวดวงสังคมเหล่านั้นไว้เสมอ เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์
ที่มา
https://www.visualcapitalist.com/comparing-luxury-investment-around-the-world/
https://www.businessinsider.com/collectible-investments-valuable-types
https://www.lovemoney.com/gallerylist/82582/rare-editions-of-famous-books-worth-a-fortune
https://www.thetimes.co.uk/money-mentor/guide/guide-passion-investments/
https://www.wealthdaily.com/resources/investing-in-rare-books/51937
https://www.knightfrank.com/wealthreport/2021-03-01-photography-as-a-luxury-investment
https://ideas.repec.org/p/hig/wpaper/80-fe-2020.html
https://www.workandmoney.com/s/valuable-lego-sets-c2b25e794f0e4afb
https://www.theguardian.com/money/2017/sep/16/photography-new-investment-choice-rich-shunning-paintings