สร้างโอกาส SME ไทยทำตลาดนักท่องเที่ยวจีน

COFFEE TALK SERIES EP#3


ประเทศจีนมีความสำคัญในฐานะคู่ค้าธุรกิจกับไทยมาหลายทศวรรษ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการเป็นตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยมีนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทยปีละกว่าสิบล้านคน คุณ Susan Yongjun Su ผู้บริหาร Lert Global Group มาร่วมสัมมนา Coffee Talk Series ให้ความรู้ผู้ประกอบการ SME ถึงโอกาสและแนวทางทำธุรกิจกับนักท่องเที่ยวจีน

ภาพรวมตลาดนักท่องเที่ยวจีน

ประเทศไทย เป็นอันดับหนึ่งจุดหมายปลายทางในใจของนักท่องเที่ยวจีน เพราะด้วยจำนวนวันหยุดจำกัด นักท่องเที่ยวจีน 65% จะนิยมเที่ยวประเทศใกล้ๆ อย่างญี่ปุ่น หรือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกว่า 60% จะชอบเที่ยวชายทะเลและเกาะต่างๆ  ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเป็นที่นิยมของชาวจีนเหนือกว่าญี่ปุ่นและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ดูจากเมื่อช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ชาวจีนก็มาเที่ยวไทยมากที่สุด ดังนั้น ชาวจีนจึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดของตลาดท่องเที่ยวไทย  โดยเมื่อปี 2018 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยกว่า 10.35 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 27.5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มาไทย และจากครึ่งปีแรกของปี 2019 ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนมาไทยกว่า 5.64 ล้านคน จึงคาดว่าในปี 2019 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนรวม 11.15 ล้านคน เพิ่มจากปีที่แล้ว 5.87%


ในบรรดานักท่องเที่ยวทุกชาติที่มาเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากที่สุดด้วยตัวเลข 536,278 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะใช้จ่ายไปกับการช้อปปิ้งและ Leisure  เช่นสปา การล่องเรือเที่ยว เป็นต้น

นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวที่ไหน เมื่อไหร่?

10 อันดับเมืองท่องเที่ยวที่คนจีนนิยมไปกัน ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เกาะสมุย กระบี่ เกาะช้าง หัวหิน ปาย เกาะเสม็ด เกาะหลีเป๊ะ มีแนวโน้มกลุ่ม Younger Generation (Gen Y, Gen Z) จะมามากขึ้น โดยจากข้อมูลของ CTrip แพล็ตฟอร์มจองตั๋วที่พักออนไลน์ แสดงให้เห็นเทรนด์ในกลุ่ม GenY GenZ ว่าจะไม่วางแผนล่วงหน้านาน ระยะเวลาซื้อตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมล่วงหน้าก่อนเดินทางแค่ 1-3 วันก่อนเท่านั้น เรียกว่านึกอยากไปก็ไปเลย แล้วก็เทรนด์จะเป็นการมาเที่ยวแบบอิสระ (FIT – Free Independent Traveler) หรือมาซื้อทัวร์ท้องถิ่น ดังนั้นการทำตลาดจะต้องเน้นไปจับกลุ่ม FIT เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ทำตลาดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์อย่างเดียว


โดยเฉลี่ยและนักท่องเที่ยวจีนใช้เวลาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 8 วัน ถ้ามาประมาณ 1-3 วันก็จะเที่ยวแค่เมืองเดียว อย่างภูเก็ต, กรุงเทพ, เชียงใหม่ ถ้ามา 4-6 วัน จะเที่ยว 2 เมือง เช่น ภาคใต้+กรุงเทพ, ภาคเหนือ+กรุงเทพ และถ้ามีเวลามากขึ้นก็จะขยายไปเที่ยวเมืองรองๆ เมืองเล็กๆ มากขึ้น เช่น น่าน เลย ปาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า Deep Travelling

เหตุผลที่ชาวจีนชอบมาไทย ก็เพราะ อากาศดีเที่ยวได้ทั้งปี, เดินทางสะดวกมีเที่ยวบินตรงไฟล์ทบินสั้น, วีซ่าของ่าย มี Visa On Arrival, ค่าใช้จ่ายถูก ราคาเป็นกันเอง คุ้มค่า บริการดี, สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม และได้อิทธิพลจากหนัง/ซีรี่ย์ จึงมีการจัดทริปตามรอย


สำหรับช่วงเวลาพีคที่คนจีนนิยมมาไทยมี 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ และช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ที่เป็นช่วงเด็กปิดเทอม นักท่องเที่ยวที่มาช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทริปครอบครัว จึงเป็นโอกาสเหมาะที่ผู้ประกอบการจะทำโปรโมชั่นครอบครัวดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

นักท่องเที่ยวจีนเป็นใครมาจากไหนบ้าง?

ชาวจีนที่ท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนมากเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ระดับ Super 1 st Tier, New Tier 1* โดยมาจากมณฑลกวางตุ้งเยอะที่สุด ด้วยว่าเป็นมณฑลที่มีประชากรมากที่สุด มีสนามบินนานาชาติหลายแห่งทั้งที่กวางโจว เซินเจิ้น รวมไปถึงเมืองใกล้ๆ อย่างฮ่องกง มาเก๊า ทำให้มีเที่ยวบินเยอะ เดินทางสะดวก โดยเป็นกลุ่ม GenY (เกิดปี 1980s) มากที่สุด 29%  รองมาคือกลุ่ม GenZ (เกิดปี 1990s) 18% และ GenX (เกิดปี 1970s) 17% ซึ่งแนวโน้มกลุ่ม GenZ มีพฤติกรรมไม่ค่อยเก็บเงิน กล้าใช้จ่ายมาก ซื้อของมูลค่าสูง Luxury Brand เยอะมาก


*ประเทศจีนใช้ระบบ Tier แบ่งเมืองต่างๆ ตามขนาดเศรษฐกิจ ได้แก่ Super 1 st Tier 4 เมือง คือ Beijing, Shanghai, Guangzhou, Shenzhen , New Tier 1 15 เมือง เช่น Chengdu, Hangzhou, Wuhan, Chongqing, Nanjing ฯลฯ, Tier 2 30 เมือง เช่น Xiamen, Fuzhou, Wuxii, Kunming, Harbin ฯลฯ และ Tier 3 70 เมือง เช่น Weifang, Yangzhou, Guilin, Shanya ฯลฯ

แพล็ตฟอร์มออนไลน์ ประตูสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน

ในการทำแผนการตลาดเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์ สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ แพล็ตฟอร์มกลุ่มการท่องเที่ยวที่สัมผัสกับกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยตรง และแพล็ตฟอร์มการตลาดออนไลน์เพื่อสร้าง Visibility ในใจชาวจีน


แพล็ตฟอร์มกลุ่มท่องเที่ยวที่นิยม ได้แก่ C-Trip , Qunar , Figgy โดยสามอันนี้ใช้จองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ฯลฯ โดย CTrip มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ใหญ่อายุ 30 ขึ้นไป ส่วน Figgy ฐานลูกค้าเป็นกลุ่ม Gen Y ซึ่งสามารถซื้อ Ad ใน 3 แพล็ตฟอร์มนี้ได้  และอีกหนึ่งแพล็ตฟอร์มที่สำคัญมากคือ Mafengwo ซึ่งเป็น UGC (user generate content)แพล็ตฟอร์มคล้ายกับ Tripadvisor แชร์ประสบการณ์ รีวิวที่พัก ที่เที่ยว ร้านอาหาร ร้านของฝาก การเดินทาง บริการทัวร์ ที่นักท่องเที่ยวจีนอ่านกันมากที่สุด โดยสำหรับ Mafenwo นี้สามารถใช้ทั้งการซื้อ Ad และใช้ KOL (Key Opinion Leader) ทำคอนเทนต์รีวิว

แพล็ตฟอร์มสร้าง Visibility ในใจชาวจีน ได้แก่ 3W + 360 Communication

  • สร้างแอคเคานท์และคอนเทนต์ เพิ่มยอด traffic/follower ทำโปรโมชั่นใน 3W : Chinese Website + Wechat (= Line Official + Facebook) + Weibo (= Twitter + IG)

  • ทำ SEM และ SEO ผ่าน Baidu Search Engine, A. Baidu Optimization และ B.Zhihu Q&A

  • การใช้ KOL (Key Opinion Leader) สร้างรีวิวคอนเทนต์ใน Wechat, Weibo, Taobao Live, Dou Yin (Tiktok) และ RED (Little Red Book มีชื่อจีนว่า Xiaohongshu) ซึ่ง RED จัดเป็นแพล็ตฟอร์มแชร์ประสบการณ์ชิ้นสำคัญของตลาดจีน ก่อนจะขายสินค้าบริการอะไรให้ชาวจีน จะต้องแน่ใจว่ามี RED เป็นส่วนใหญ่ของแผนการตลาด เพราะเป็นการสร้างความน่าเชื่อของสินค้าทั้ในกลุ่มผู้บริโภคและตัวแทนจัดจำหน่าย

สรุปแนวทางบุกตลาดจีน

คุณซูซานสรุปสิ่งที่แนวทางการเตรียมตัวบุกตลาดจีนเป็น 2 Phrase คือ Phrase แรกที่อยู่ในประเทศไทยก็ต้องเตรียมพร้อมให้นักท่องเที่ยวเห็น visibility สินค้าในไทย เห็นรีวิวใน Social Media และรู้ว่าจะหาซื้อได้ที่ไหน Phrase ที่สองคือเมื่อจะเข้าตลาดจีน ต้องมีการสำรวจตลาดและกำหนดกลยุทธ์ จดทะเบียนลิขสิทธิ์แบรนด์/โลโก้ทั้งภาษาจีน/อังกฤษเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบในภายหลัง รวมถึงการขอใบอนุญาตต่างๆ ทำประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ติดต่อตัวแทนจำหน่ายสินค้าทั้ง Online และ Offline วางระบบการชำระเงิน การขนส่ง สต็อกสินค้า ปิดท้ายด้วยบริการหลังการขาย


แม้การเข้าตลาดจีนจะมีความท้าทายหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องขนาด ภาษาวัฒนธรรม การแข่งขัน กฎระเบียบ เทคโนโลยี ฯลฯ แต่การศึกษาเจาะลึกข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ก็สามารถวางแผนกลยุทธ์สู้ศึกการตลาดแดนมังกรได้ ดังคำกล่าวในตำราพิชัยสงครามซุนวู “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”