เก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ ส่งผลต่อนักลงทุนอย่างไร

บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร


จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแก้กฎหมายจัดเก็บภาษีในอัตรา 15% จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่าน กองทุนรวม ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561   ที่ผ่านมา จะส่งผลอย่างไรกับนักลงทุน มาติดตามกันได้ผ่านบทความนี้


ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจถึงผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนผ่านตราสารหนี้กันก่อน หากท่านเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ สิ่งที่นักลงทุนจะได้คือ ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย และดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 15     โดยที่นักลงทุนมีสิทธิ์เลือกที่จะนำรายได้จากดอกเบี้ยมารวมหรือไม่รวมในการคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีประจำปีก็ได้

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา หากนักลงทุนมาลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ที่กองทุนไปลงทุนนั้นจะไม่โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบภาษีขึ้น โดยนักลงทุนที่ลงทุนทางตรงในตราสารหนี้จะมีภาระภาษีมากกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้


ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรม กระทรวงการคลังได้พิจารณาปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมให้มีภาระภาษีเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกันกับการฝากเงินหรือการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง โดยอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ทำให้ประชาชนมีภาระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดให้กองทุนรวมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะในส่วนของรายได้ประเภทดอกเบี้ย ส่วนลด (Discount) และเงินได้ที่มีลักษณะเดียวกันกับดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 15 โดยกำหนดให้ผู้จ่ายเป็นผู้หักภาษีเงินได้ ณ  ที่จ่าย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ บริษัทที่ออกตราสารหนี้ที่กองทุนไปลงทุนต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยที่จ่ายออกมาด้วยนั่นเอง

ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง กับการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ (ก่อนกฎหมายมีผลบังคับ) เพื่อให้เห็นภาพ


นายมั่งคั่งมีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ได้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี จำนวน 100,000 บาท

ดังนั้น   นายมั่งคั่งจะได้ดอกเบี้ยจากการลงทุนนี้ 100,000 x 3% = 3,000 บาทต่อปี

แต่นายมั่งคั่งจะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% คิดเป็นเงิน 450 บาท (3,000 x 15% = 450)

ทำให้ดอกเบี้ยสุทธิที่นายมั่งคั่งได้รับจะอยู่ที่ 3,000 – 450 = 2,550 บาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนหลังภาษีที่ 2.55%


ในทางตรงกันข้าม หากนายมั่งคั่งมาลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ได้มีการลงทุนใน พันธบัตร รัฐบาลที่ได้ดอกเบี้ย 3% ต่อปีเช่นกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ในอดีตดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนนี้ของกองทุนรวมตราสารหนี้จะไม่โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ทำให้กองทุนรวมตราสารหนี้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนนี้ไป 3% เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งตรงนี้ที่กระทรวงการคลังมองว่าเกิดความไม่เท่าเทียมกัน และเป็นที่มาของการแก้กฎหมายให้กองทุนรวมตราสารหนี้ต้องโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ย และผู้ออกตราสารก็ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากกองทุนรวมตราสารหนี้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ลดลง


อย่างไรก็ตามกรมสรรพากรจะออกกฎหมายลำดับรองเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้สำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นการสนับสนุนการออมเงินเพื่อการเกษียณของประชาชนต่อไป


ดังนั้นหากนักลงทุนมีการสร้างพอร์ตการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้แทน แต่หากต้องการพักเงิน หรือเป็นการลงทุนระยะสั้นก็ยังสามารถลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ได้     แม้ว่าผลตอบแทนจาก การลงทุน ในกองทุนรวมตราสารหนี้จะลดลงไปบ้างก็ตาม