3 เมืองเศรษฐกิจดาวรุ่งในกัมพูชา

จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของประเทศกัมพูชา ทำให้กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจในการขยับขยายธุรกิจ ด้วยค่าจ้างแรงงานที่ไม่สูงมากนัก วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร ทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ รวมไปถึงนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดผู้ลงทุนต่างชาติของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนเล็งเห็นโอกาสสูงในการทำการค้าและการลงทุน ซึ่งวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ 3 เมืองเศรษฐกิจดาวรุ่งแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาที่จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังวางแผนการทำธุรกิจและมองหาการลงทุนใหม่ ๆ อยู่ขณะนี้ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการขยายธุรกิจในอนาคต

1. พนมเปญ

เมืองหลวงและเมืองเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศกัมพูชา เป็นศูนย์กลางการเติบโตทางธุรกิจ อุตสาหกรรม การเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ มรดกทางวัฒนธรรม และการทูตของประเทศ ตั้งอยู่ในภาคใต้ตอนกลางของประเทศที่จุดบรรจบกันของแม่น้ำบาสัก แม่น้ำโตนเลสาบ และแม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำทั้งสามสายนี้เป็นแหล่งน้ำจืดและระบบนิเวศที่สำคัญของเมือง


กรุงพนมเปญมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Phnom Penh Special Economic Zone (PPSEZ) ตั้งอยู่ในจังหวัด กันดาล (Kandal) ทางตอนใต้ของกัมพูชา เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Japan Cambodia Development Corporation มีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในอุตสาหกรรมแรงงานเป็นหลัก กระจายลงทุนอยู่ในหลายภาคธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยสินค้าที่สำคัญของกรุงพนมเปญ ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อาหารแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ จักรยาน และสินค้าอุปโภคและบริโภคอื่น ๆ เป็นต้น เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ยังเอื้อต่อการคมนาคมขนส่ง PPSEZ เนื่องจากตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 4 ซึ่งห่างจากสนามบินนานาชาติพนมเปญเพียง 8 กิโลเมตร เท่านั้น นอกจากเรื่องเขตเศษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกอบการแล้ว กรุงพนมเปญยังเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญของประเทศ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล วัดพนม และ วัดอุณาโลม เป็นต้น ทำให้เหมาะแก่การทำธุรกิจท่องเที่ยวเพราะเป็นเมืองสำคัญที่รองรับผู้คนจากในประเทศและต่างประเทศ

2. พระสีหนุ / สีหนุวิลล์

เมืองศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ เป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกสำหรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ใช้ในการนำเข้าและส่งออกสินค้า เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟและติดถนนหลวง 25 กม. จากสนามบินนานาชาติ สีหนุวิลล์มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่น มีชายหาดที่สวยงาม เป็นแหล่งที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง นอกจากนี้ ยังมีสนามบินนานาชาติ รองรับผู้โดยสารมากกว่า 600,000 คนต่อปี ทำให้มีเที่ยวบินขึ้นลงประมาณ 40 เที่ยวต่อวัน เที่ยวบินในประเทศเชื่อมโยงกับกรุงพนมเปญ และเสียมเรียบ ส่วนเที่ยวบินต่างประเทศจะเชื่อมโยงกับไทย เวียดนาม จีน และ มาเลเซีย รวมถึงการยกระดับสนามบินในจังหวัดให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ เพื่อรองรองปริมาณการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว


ในด้านเศรษฐกิจ เป็นฐานการผลิตสินค้าใหญ่อันดับสองรองจากพนมเปญ สิ่งที่น่าสนใจของสีหนุวิลล์สำหรับนักลงทุน คือรัฐบาลกัมพูชาได้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 3 โรง กำลังการผลิตรวมร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ซึ่งลงทุนโดย กัมพูชา จีน และมาเลเซีย ทั้งยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) 6 แห่ง เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมากว่า 300 โรงงาน นั่นก็คือ Sihanoukville SEZ นิคมที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีนักลงทุนจำนวนมากที่สนใจลงทุนเกี่ยวกับโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังถ่านหิน รองลงมาคือ Sihanoukville Port SEZ ที่โดดเด่นด้านการลงทุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยรัฐบาลกัมพูชาได้ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น การให้สัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาว 50 ปี การยกเว้นภาษีนําเข้าสินค้าและวัตถุดิบ เครื่องจักรและเครื่องมือในการผลิต การยกเว้นภาษีเงินจากผลกําไร 9 ปี รวมทั้งการให้วีซ่าถาวรแก่นักลงทุน ทำให้เหมาะสมกับการลงทุนและกิจกรรมเชิงพาณิชย์


ในส่วนของอุตสาหกรรมเกษตร มีการลงทุนสวนปาล์มบนพื้นที่มากกว่า 30,000 เฮกตาร์ โดยการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไทย-กัมพูชา โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ ทำให้มีผลผลิตมากกว่า 25,000 ตันต่อปี


ปัจจุบัน สีหนุวิลล์ เป็นที่สนใจอย่างมากในหมู่นักลงทุนรายใหญ่ และต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา เนื่องจากการพัฒนาของหมู่บ้านชาวประมงให้เป็นศูนย์กลางการเล่นคาสิโน และคาดว่าจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นเมืองสมัยใหม่ในอนาคต ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่แพงมากยังคงมีความต้องการสูง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยหลังเกษียณอายุ ศูนย์ข้อมูล และหอพักนักศึกษา เป็นต้น

3. เกาะกง

แม้จะยังไม่เป็นที่นิยมของนักธุรกิจต่างชาติมากนัก แต่ก็ยังมีโอกาสลงทุนมากมายสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะจังหวัดเกาะกงมีชายแดนที่ติดกับจังหวัดตราดของไทย ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น และสามารถเดินทางข้ามพรมแดนที่ “ด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก” อ.คลองใหญ่ จ.ตราด อีกทั้งประชาชนในพื้นที่จังหวัดเกาะกงสามารถพูดภาษาไทยได้เกือบทั้งหมด จุดแข็งของจังหวัดเกาะกง ที่รัฐบาลใช้สำหรับพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นคือ ท่าเรือน้ำลึกทางทะเล ซึ่งมีพื้นที่กว่า 360 ตร.กม. และสนามบินนานาชาติ 2 แห่ง ที่ปรับปรุงสนามบินเก่าเป็นแห่งแรก และสนามบินในโครงการ Dara Sakor ของกลุ่ม UDG จากประเทศจีนเป็นแห่งที่สอง


นอกจากนี้ ยังมีแหล่งลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจ ได้แก่ โรงงานไฟฟ้า Stung Tatai และ Stung Russei เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำ จากการสร้างเขื่อนเพื่อรับน้ำจากแม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาซึ่งลงทุนโดยกลุ่มทุนจากประเทศจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออกผ่านไทย หรือทำอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้าได้ ทั้งยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่  NeangKokKoh Kong SEZ ที่เน้นอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์และอะไหล่ เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา และ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเขตเศรษฐกิจอีก 2 แห่ง ได้แก่ SouyChheng SEZ และ KiriSakorKoh Kong SEZ จะส่งเสริมการลงทุนในจังหวัด ซึ่งเป็นประตูทางการค้าไทย-กัมพูชาในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ปัจจุบันมีโรงงาน 6 โรงงาน โดยเป็นโรงงานที่ขยายฐานการผลิตจากประเทศไทย 4 โรงงาน นอกจากนี้ เกาะกงยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เช่น ภูเขา น้ำตก แม่น้ำ ชายทะเล และป่าไม้หลายประเภท ทำให้สะดวกต่อการไปขยายธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ฯลฯ อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ประเทศกัมพูชา นับว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนและมีจุดแข็งหลายด้าน ทั้งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และเป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน อ้อย โรงงานน้ำตาลทราย สินค้าสัตว์น้ำ การท่องเที่ยวทางทะเล ประกอบกับการเปิดการค้าเสรีอาเซียน ทำให้การเดินทางข้ามแดนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น


ในปี 2565 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่คลี่คลายลง และมีการเปิดประเทศของกัมพูชา อีกทั้งรัฐบาลกัมพูชาได้เตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้าน เช่น การประกาศใช้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ การปรับปรุงรายละเอียดด้านภาษีต่าง ๆ การส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การเจรจาทางการค้าทวิภาคี และพหุภาคีกับประเทศต่าง ๆ สำนักงานผู้แทนฯ ทำให้เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนอย่างมากในการขยายธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศกัมพูชา


สิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างชาติ

  1. มีสิทธิ์เลือกระหว่างการได้รับยกเว้นภาษีผลกำไร หรือ การหักค่าเสื่อมราคาในอัตราพิเศษ ประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ใช้ประกอบการ
  2. ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องมือการผลิต อุปกรณ์การก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ประกอบสินค้าเพื่อการส่งออก
  3. ได้รับยกเว้นภาษีส่งออก เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายกำหนดประเภทของกิจการไว้ต่างหาก
  4. สามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้ 100% โดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้นร่วมกับคนท้องถิ่น
  5. เช่าที่ดินได้ระยะเวลาไม่เกิน 50 ปี โดยสามารถขอต่อสัญญาได้ไม่จำกัด
  6. สามารถว่าจ้างแรงงานต่างชาติได้ แต่ต้องเป็นแรงงานต่างชาติที่มีคุณสมบัติและความสามารถเฉพาะตำแหน่งที่ชาวกัมพูชาไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ต้องขอใบอนุญาตเข้าเมืองประเภททำงาน และปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กฎหมายว่าด้วยแรงงานและการเข้าเมืองกำหนด


จาก 3 เมืองเศรษฐกิจที่กล่าวมาข้างต้น อุตสาหกรรมที่มีโอกาสจะพัฒนาและเติบโตในประเทศกัมพูชา ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ ธุรกิจก่อสร้างและตกแต่งภายใน ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และ ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ในการพิจารณาขยายการค้าการลงทุนและกระจายสินค้ามายังประเทศกัมพูชาผ่านประตูการค้าชายแดน รวมถึงการใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศ ส่งสินค้ากลับมาไทย และส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก พร้อมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่อยู่ใกล้กับกัมพูชา นอกจากจะเข้าถึงตลาดได้ง่ายแล้ว ยังเข้าใจและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในตลาดกัมพูชา ซึ่งจะช่วยปลดล็อกธุรกิจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย


สำหรับลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://scbcw-preprod.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ กัมพูชาพาณิชย์ (Cambodia Commercial Bank – CCB) https://scbcw-preprod.scb.co.th/ccb/corporate-banking.html

แหล่งอ้างอิง

1. Salika. “มีโอกาสอะไร? รอผู้ประกอบการไทยอยู่ที่ ‘เกาะกง-พระสีหนุ’ 2 จังหวัดดาวรุ่ง ตลาดน่าลงทุนแห่งใหม่ในกัมพูชา” . https://www.salika.co/2019/03/18/investment-opportunity-in-2-cambodia/ (สืบค้นเมื่อ 13/6/2565)

2. ทันโลก. “เกาะติดสถานการณ์การส่งออกและกลยุทธ์ทางการลงทุนของกัมพูชา” . https://globthailand.com/cambodia-141021/ (สืบค้นเมื่อ 13/6/2565)

3. RYT9. “เรื่องเล่าจาก CLMV: ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจใน CLMV” . https://www.ryt9.com/s/exim/3287100 (สืบค้นเมื่อ 13/6/2565)

4. ข้อมูลพื้นฐานของต่างประเทศ 2565. “ราชอาณาจักรกัมพูชา” . https://www.nia.go.th/media/almanac/2022/01/%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B2_2565.pdf (สืบค้นเมื่อ 13/6/2565)

5. DITP . “เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจกัมพูชา” . https://www.ditp.go.th/contents_attach/732411/732411.pdf (สืบค้นเมื่อ 13/6/2565)

6. ประชาชาติธุรกิจ. “กัมพูชา ดาวรุ่งลงทุนท่องเที่ยว โอกาสไทยบุกตลาดเบอร์ 2 CLMV” . https://www.prachachat.net/aseanaec/news-73857 (สืบค้นเมื่อ 13/6/2565)

7. สำนักงานการต่างประเทศ. “กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา” . https://iao.bangkok.go.th/content-detail/12335 (สืบค้นเมื่อ 14/6/2565)

8. กรุงเทพธุรกิจ. “เสียมเรียบแชมป์ธุรกิจเกิดใหม่ในกัมพูชา” . https://www.bangkokbiznews.com/world/604071 (สืบค้นเมื่อ 14/6/2565)

9. DITP. “Siem Reap จะฟื้นเศรษฐกิจอย่างไร” . https://www.ditp.go.th/contents_attach/643544/643544.pdf (สืบค้นเมื่อ 14/6/2565)

10. DITP. “คู่มือ โอกาสและทิศทางการค้าการลงทุนในกัมพูชา” . https://www.ditp.go.th/contents_attach/391545/391545.pdf (สืบค้นเมื่อ 15/6/2565)

11. Bangkok Airways. “6 ที่เที่ยวพนมเปญ ตามมาดูกันว่า มีอะไรทำที่เมืองหลวงกัมพูชาบ้าง?” . https://blog.bangkokair.com/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%8D/ (สืบค้นเมื่อ 15/6/2565)

12.สํานักความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ. “เอกสารวิเคราะห์เรื่องจังหวัดพระตะบองเมืองน่าลงทุนของกัมพูชา” . https://www.dft.go.th/Portals/3/Users/017/17/17/s_capital_city.pdf (สืบค้นเมื่อ 16/6/2565)

13. ฐานเศรษฐกิจ. “กรมทางหลวง ขยายทล.3ตราด-หาดเล็ก หนุนศก.ชายแดน เชื่อมเกาะกงคืบ85%” . https://www.thansettakij.com/economy/491958 (สืบค้นเมื่อ 16/6/2565)

14. DITP. “โควิดกระทบยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือไม่ถึงแสนคน ใน 4 เดือนแรกของปีน” . https://www.ditp.go.th/contents_attach/734592/734592.pdf (สืบค้นเมื่อ 17/6/2565)

15. DITP. “การเปรียบเทียบสถานที่เป้าหมายที่จะลงทุน” . https://www.ditp.go.th/contents_attach/92523/92523.pdf (สืบค้นเมื่อ 20/6/2565)

16. วารสารบริหารธุรกิจและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. “การลงทุนของนักลงทุนไทยในประเทศกัมพูชา: กฎระเบียบและข้อพึงพิจารณา” . file:///C:/Users/thr181/Downloads/kittinart,+%7B$userGroup%7D,+Edited+%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1+1+%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2+APR+22+.pdf (สืบค้นเมื่อ 21/6/2565)