เจรจาธุรกิจ พิชิตใจคนเวียดนาม (Business Culture and Etiquette)

เพราะความสำเร็จของธุรกิจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตลาดภายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว การขยายตลาดไปยังต่างประเทศก็นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อีกหนึ่งก้าวของธุรกิจ ดังนั้นการเจรจาการค้ากับชาวต่างชาติให้สำเร็จจึงต้องเข้าใจกลยุทธ์ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อเราจะชนะใจคู่ค้าได้เป็นอย่างดี


เวียดนาม เป็นหนึ่งในประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นเป้าหมายในการลงทุนของทุกๆ อุตสาหกรรม แต่ก่อนจะเข้าไปทำธุรกิจในเวียดนาม นักลงทุนควรรอบรู้ธรรมเนียมปฏิบัติและเทคนิคในการติดต่อธุรกิจกับคนเวียดนาม เพราะนั่นเป็นปราการด่านแรกที่จะช่วยให้การติดต่อธุรกิจในเวียดนามประสบความสำเร็จ วันนี้เราจะมากล่าวถึงมารยาทที่ควรรู้ก่อนการติดต่อธุรกิจที่จะสามารถมัดใจคนเวียดนามจนทำให้การเจรจาราบรื่นและสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

vietnam

  1. การทักทาย : เพศเดียวกันการจับมือสองข้างแสดงการทักทาย เพศตรงข้ามก้มหัวคำนับ โดยควรทักทายและกล่าวลาผู้อาวุโสที่สุดก่อนเสมอ

  2. การเรียกชื่อ : ไม่นิยมเรียกชื่ออย่างเดียว ให้เรียก MR. หรือ Miss หรือ Mrs. แล้วตามด้วยชื่อ

  3. การนัดหมาย : ให้ทำการนัดหมายล่วงหน้าก่อน ไม่ชอบให้เข้าพบโดยมิได้นัดหมาย เพราะคนเวียดนามชอบเตรียมการรับรองแขกไว้ก่อน

  4. การมอบนามบัตร : ควรมอบและรับด้วยมือสองข้าง ควรจะเริ่มจากคนที่อาวุโสที่สุดก่อน เมื่อรับมาแล้วควรอ่านชื่อออกเสียงเพื่อเป็นการทวนให้ฝั่งตรงข้ามได้ยินอย่างใส่ใจ

  5. ของขวัญ/ของฝาก : นิยมของขวัญหรือของฝากที่มีราคาไม่แพงติดมือไปด้วย พร้อมห่อกระดาษสีสันสดใส ไม่ควรมอบผ้าเช็ดหน้าให้แก่กัน เพราะเป็นการแสดงถึงความโศกเศร้า

  6. การพยักหน้าเห็นด้วยของคนเวียดนาม : ระหว่างบทสนทนาคนเวียดนามจะมีการพยักหน้า ไม่ได้แสดงถึงการตกลง หากแต่เป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจของอีกฝ่าย ดังนั้นจะนำการพยักหน้ามาถือเป็นการรับข้อตกลงไม่ได้

  7. ภาษาที่ใช้ : ถึงแม้คนเวียดนามจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดี แต่โดยส่วนมากมักจะนิยมใช้ภาษาเวียดนามในการติดต่อและเจราจาธุรกิจมากกว่า ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรจะมีล่ามไปด้วย เพื่อความราบรื่นในการประชุม  **เทคนิคเล็กน้อย** ควรจะรู้จักภาษาเวียดนามบ้าง เช่น คำทักทาย ขอบคุณ ขอโทษ ชาวเวียดนามมักจะชื่นชอบชาวต่างชาติที่พูดภาษาเวียดนามได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในบางครั้งเขาไม่พูดภาษาอังกฤษเลย

  8. การรักษาหน้าตา : ไม่ควรจะทำให้คนเวียดนามรู้สึกขายหน้า เพราะเรื่องนี้ค่อนข้างจะมีความสำคัญและอ่อนไหว ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงประเด็นที่ทำให้คนเวียดนามรู้สึกขายหน้า 

  9. ชื่นชอบในการคุยเรื่องส่วนตัว : คนเวียดนามมักจะถามคำถามในเชิง personal question เช่น การแต่งงาน ครอบครัว ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปกติ ดังนั้นอาจจะต้องทำความเข้าในในเรื่องนี้ด้วย

  10. การกล่าวอำลา : นิยมให้แขกผู้รับเชิญเป็นฝ่ายกล่าวคำลาก่อน ผู้ที่เป็นเจ้าภาพจะไม่เป็นฝ่ายพูดคำลา เพราะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน
     

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการทำการค้าหรือเข้าไปลงทุนในเวียดนาม นอกเหนือจากการศึกษาตลาด และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังควรเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติของคนเวียดนาม ตลอดจนการทำความเข้าใจถึงบุคลิกและอุปนิสัย เพื่อให้การติดต่อธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ

ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโฮจิมินท์ซิตี้ เวียดนาม 

 

ข้อมูลอ้างอิง :

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. “Do’s and Don’ts สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม”. https://www.bic.moe.go.th/images/stories/pdf/ASEAN_vietnam.pdf (ค้นหาเมื่อ 18/3/21)