มองตลาดพม่า...ผ่าน 10 เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาหรือพม่า ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย เป็นระยะทางยาวสุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านถึง 2,401 กิโลเมตร และได้ทำการค้าขายกับไทยตามเขตแนวชายแดนมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อสถานการณ์ภายในประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น เมียนมาจะกลับมาเข้าสู่เวทีเศรษฐกิจโลก จะเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจ ความน่าสนใจของเมียนมา คือ เป็นตลาดที่เริ่มเปิดรับนักลงทุนในธุรกิจต่างชาติ มีทรัพยากรที่ยังสดใหม่ ค่าแรงถูก และมีพรมแดนที่ติดกับประเทศจีนมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคอาเซียน วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักเมืองท่าและเมืองสำคัญของเมียนมา เพื่อเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับเมืองท่าและเมืองสำคัญของเมียนมาที่นักลงทุนควรรู้ก่อนตัดสินใจลงทุน มีดังนี้


1.เนปิดอว์ เมืองหลวงปัจจุบัน

ก่อตั้งเป็นเมืองหลวงเมื่อปี พ.ศ.2548 ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์ และมีชัยภูมิที่อยู่กึ่งกลางระหว่างรัฐต่างๆ ทําให้รัฐบาลสามารถปกครองและพัฒนาภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง มีการวางผังเมืองเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนราชการ โซนโรงแรม โซนอุตสาหกรรม และโซนทหาร เพื่อรองรับภาคการลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องการมาลงทุนในเมียนมาได้อย่างครบวงจร

2. ย่างกุ้ง

อดีตเมืองหลวงของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ใช่เมืองหลวงดังอดีต แต่ย่างกุ้งยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเมืองที่มีความพร้อมทางสาธารณูปโภค และมีโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว สถาบันฝึกอบรมวิชาชีพ และอุตสาหกรรมการประมง

3.หงสาวดี หรือ พะโค

อดีตเมืองหลวงของเมียนมา ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เคยรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง และได้ถูกเผาทำลายลงในสมัยพระเจ้านันทบุเรง ปัจจุบันเมืองหงสาวดีสร้างรายได้ให้กับเมียนมาด้วยบทบาทการเป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และพระพุทธศาสนา ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่รุ่งเรืองในเมืองนี้ได้แก่อุตสาหกรรมทางด้านการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจนำเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น

4. เมาะละแหม่ง

เมืองเกษตรกรรมใกล้ชายทะเลริมอ่าวเมาะตะมะ คนมอญเรียกชื่อเมืองนี้ว่า “โหมดแหมะเหลิ่ม” เป็นเมืองตากอากาศชายทะเลที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของเมียนมา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา และอุตสาหกรรมสิ่งทอ

5.เมียวดี

ถือว่าเป็นประตูบานใหญ่สู่อาเซียน ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) โดยมีเมืองหลวงคือเมืองพะอัน  เมืองเมียวดีมีชายแดนติดกับประเทศไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีแม่น้ำเมยกั้นอยู่ และเชื่อมด้วยสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เป็นตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญ ซึ่งทางการเมียนมาจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นเมืองสำคัญในการกระจายสินค้าจากประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน ไปยังเมืองต่างๆ ในเมียนมา 

6. เกาะสอง หรือ วิคตอรี่พอยท์

คนเมียนมาเรียก “เกาดอง” (Kaw Thaung) ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ จ.ระนอง มีแม่น้ำกระบุรีกั้นขวางตรงตัวจังหวัดระนอง สามารถโดยสารเรือข้ามฟากจาก จ.ระนอง ใช้ระยะเวลา 30 นาที รูปร่างพื้นที่เป็นลักษณะแหลมสุดของเมียนมาที่ยื่นออกไปในทะเลอันดามัน แต่ที่นิยมเรียกกันว่าเกาะ เนื่องจากบริเวณใกล้เคียงมีเกาะเล็กๆ ขนาบอยู่ และที่เรียกว่า “เกาะสอง” เนื่องจากเพี้ยนจากชื่อเกาดองในภาษาเมียนมา เศรษฐกิจของเกาะสองคึกคักจากการซื้อขายสินค้าทางการประมง เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชายทะเลสวยงาม และมีโบราณสถานสำคัญได้แก่ พระบรมราชานุสวรีย์บาเยงนอง และ เจดีย์แห่งความสงบ

7. พุกาม หรือ บะกัน

เป็นที่รู้จักกันในนามดินแดนแห่งเจดีย์หมื่นองค์ หรือทะเลเจดีย์ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลก (World  Heritage Site) แสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนเมียนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าอาณาจักรพุกามที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจะล่มสลายลงแล้ว แต่ร่อยรอยอารยธรรมมอญผสมผสานกับอินเดียยังปรากฏอยู่ตามสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในเมืองพุกาม ซึ่งกลายมาเป็นศิลปะประจำชาติของเมียนมาอย่างแท้จริง สำหรับธุรกิจที่รุ่งเรืองในเมืองพุกามได้แก่อุตสากรรมการท่องเที่ยว ซึ่งทางการเมียนมาได้ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

8. พินอูลวิน

ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ เป็นเมืองที่มีอากาศดีคล้ายๆ กับทางยุโรป มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี จึงกลายเป็นศูนย์กลางของดอกไม้เมืองหนาวและเมล็ดกาแฟที่สำคัญของประเทศ รวมถึงมีสวนพฤกษศาสตร์ และสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่งดงาม

9. ตานต่วย

ตั้งอยู่ริมฝั่งอ่าวเบงกอล มีหาดงาปาลีที่สวยงามซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม และเป็นที่น่าสนใจของชาวยุโรป ทางการเมียนมาจึงเร่งพัฒนาให้มีความพร้อมทางด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภคมากยิ่งขึ้นเพื่อ รองรับการเติบโตของการท่องเที่ยว

10. มัณฑะเลย์ อดีตเมืองหลวงของเมียนมา

ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของย่างกุ้ง ห่างจากย่างกุ้งประมาณ 620 กิโลเมตร มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนของเมียนมาตอนบน ซึ่งเป็นศูนย์เส้นทางคมนาคมไปยังประเทศอินเดีย และประเทศจีนตอนใต้ เป็นแหล่งรวมงานศิลปหัตถกรรม ได้แก่ ไม้และหินอ่อนแกะสลัก การผลิตแผ่นทองคำเปลว และเป็นแหล่งเพาะปลูกฝ้าย ถั่ว และยาสูบ

ด้วยศักยภาพในด้านต่างๆ ทำให้เมืองท่าและเมืองสำคัญที่มีบทบาททางเศรษฐกิจต่อเมียนมาที่กล่าวมานี้ เป็นอีกตัวเลือกของแหล่งลงทุนในเมียนมา ที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจในการขยายฐานการตลาดการค้าการลงทุนไปยังเมียนมา หลังสถานการณ์ภายในประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ความคึกคักทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมาจะกลับมาอีกครั้ง

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: ธนาคารไทยพาณิชย์เมียนมา ณ กรุงย่างกุ้ง https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network/myanmar

อ้างอิงข้อมูล :

1. DITP. “Country Profile_Myanmar”. https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/93160/93160.pdf&title=93160&cate=414&d=0 (ค้นหาเมื่อ 9/12/2563)

2. Travel MThai. “พินอูลวิน เมืองตากอากาศพม่า บรรยากาศสวยงาม”. https://travel.mthai.com/world-travel/65368.html (ค้นหาเมื่อ 9/12/2563)

3. ศูนย์เมียนมาร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร แม่สอด. “ระบบฐานข้อมูลออนไลน์เมียนมาร์ศึกษา”. http://myanmarcenter.kpru.ac.th/myanmar/index.php/capital-city-economy (ค้นหาเมื่อ 14/12/2020)

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง