วิถีเวียดนามกับการต่อสู้โควิด-19 ที่เศรษฐกิจทะยานสวนกระแสโลก

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีการปรับตัวและต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ดีมาตลอด ตั้งแต่ระยะเวลาจากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อในเวียดนาม 328 คน และไม่มีผู้เสียชีวิต (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2563) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี


ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้ทำให้หลายประเทศทั่วโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะต่ำลงจนถึงขั้นติดลบในปีนี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับ เวียดนามนั้นกลับมี GDP ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้น 3.82% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จึงนับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่แม้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ แต่ GDP ยังเป็นบวก แม้ครั้งนี้จะเติบโตต่ำสุดในรอบทศวรรษของเวียดนามก็ตาม

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดในเวียดนาม คือ กลุ่มเกษตรกรท้องถิ่น เนื่องจากลูกค้าหลักในการส่งออกของเวียดนามคือจีน ซึ่งชายแดนจีน-เวียดนามก็ถูกปิดไปตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด ผลไม้หลายประเภทที่เคยส่งออกได้ปริมาณมากในช่วงนี้ เช่น แก้วมังกร ทุเรียน และแตงโม ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ไม่สามารถระบายสินค้าได้ จึงแก้ปัญหาด้วยการหันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ผู้ประกอบการร้านอาหารและบริการหลายราย ได้ร่วมมือกับเกษตรกรนำผลไม้เหล่านั้นมาแปรรูปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสร้างสรรค์ เช่น ร้าน ABC Bakery ผลิตขนมปังที่ใช้ส่วนผสมของแก้วมังกรและทุเรียน, บริษัท Duy Anh Foods ออกผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นแตงโม แป้งห่อปอเปี๊ยะและลูกชิ้นปลาแก้วมังกร, บริษัท Lavifood นำแก้วมังกรมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ 100% หรือแม้กระทั่งร้านอาหารจานด่วนอย่าง KFC ก็ได้ออกเมนูเบอร์เกอร์แป้งขนมปังสีชมพูที่ทำจากแก้วมังกร ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้นอกจากจะบริโภคกันภายในประเทศแล้ว ยังถือเป็นโอกาสในการกระจายสินค้าที่แปลกใหม่และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ส่งออกไปยังต่างประเทศได้ด้วยมูลค่าที่สูงกว่าราคาปกติ 30-40%

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการค้าปลีก, ร้านอาหาร และภัตตาคารต่างๆ พากันหันมาให้บริการจำหน่ายสินค้าบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น แพลทฟอร์ม E-Commerce อย่าง Lazada และ Shopee ก็ได้เพิ่มบริการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และอาหารสดจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในช่วงเวลาที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน การจัดส่งก็ใช้บริการธุรกิจขนส่งสินค้า อย่างเช่น Now.Vn, Grab, Lalamove, Baemin และ Goviet ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563

ที่สำคัญรัฐบาลทุกหน่วยงานได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการช่วยเหลือหลากหลายด้านมากมาย อาทิ ให้เงินสนับสนุนแก่ประชาชนรายหัว-รายครัวเรือน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย 2563), การขยายระยะเวลาการชำระภาษีและค่าเช่าออกไปอีก 5 เดือน นับจากวันที่ 8 เมษายน 2563, ธนาคารแห่งชาติเวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงขั้นต่ำ 2% และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ปรับลดค่าไฟฟ้า 10% เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2563)

เมื่อพ้นภาวะวิกฤติแล้วรัฐบาลได้วางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกสายธุรกิจ ได้แก่ กระทรวงคมนาคมและการขนส่งมีข้อเสนอในการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้กับธุรกิจสายการบิน, กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จัดทำแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว, กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหาร ปรับปรุงขีดความสามารถในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและป่าไม้ควบคุมโรคในปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด รักษาเสถียรภาพตลาดเนื้อหมูและราคาเนื้อหมูในประเทศ เพิ่มการนำเข้าเนื้อหมูเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และกระทรวงการคลังได้ปรับลดขั้นตอนระเบียบการดำเนินงานราชการ และปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และที่สำคัญกระทรวงการวางแผนและการลงทุนจะคอยสอดส่องดูแลและรายงานปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้งรัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน โดยเฉพาะงบลงทุนจากภาครัฐ โดยต้องเบิกจ่ายเงินทุนส่วนที่เหลือในปี 2562 และเงินทุนที่วางแผนไว้ในปี 2563 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่า เวียดนามนั้นนอกจากหน่วยงานภาครัฐมีบทบาทในการช่วยคลายความเดือดร้อนให้กับประชาชนในประเทศโดยตรงแล้ว ภาคเอกชนก็มีบทบาทช่วยให้ทุกคนต่อสู้กับสถานการณ์ที่เลวร้ายได้อย่างดี ไม่ปล่อยให้ผู้ที่เดือดร้อนต้องเดียวดาย สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมแรงกันระหว่างคนในชาติ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้ความกดดันด้วยสถานการณ์ที่รุนแรงก็สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อันเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ประคองเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ สามารถปรับตัวและช่วยผลักดันให้ทุกคนพ้นจากวิกฤติโดยเร็ว ซึ่งหากพ้นสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ไปได้ เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง มีคุณสมบัติที่ครบถ้วนเหมาะสมกับการลงทุน เพราะคนเวียดนามเป็นยอดนักสู้ สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างดี


ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการสนใจติดต่อ -ที่นี่-


#SCBInternationalBanking #TheMostAdmiredBank #SiamCommercialBank


ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก:
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโฮจิมินท์ซิตี้ เวียดนา


ข้อมูลอ้างอิง

1. DITP. “รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำเดือนมีนาคม 2563. (12/5/2020)

2.สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์. ต้องรอด! การปรับตัวของ SMEs เวียดนามท่ามกลางการแพร่ระบาดของ Covid-19. (12/5/2020)

3.DITP. “มาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม. (12/5/2020)