รู้จัก HENRYs, SINKs, DINKs, PANKs คืออะไร เราเป็นใครในกลุ่มนี้

ในยุคสมัยที่สภาพสังคมเศรษฐกิจซับซ้อนมากขึ้น คำที่กำหนดความหมายบ่งบอกถึงคนกลุ่มต่างๆ แบบเดิมอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเชิงของธุรกิจการตลาดที่ต้องพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง จึงมีการคิดคำจำกัดความถึงคนกลุ่มต่างๆ ให้เราเข้าใจรูปแบบการใช้ชีวิต พฤติกรรม ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคมได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แนะนำตัวอย่างคำเรียกและนิยามกลุ่มบุคคลที่น่าสนใจ แล้วมาสำรวจว่าตัวเราเองเป็นใครในกลุ่มคนเหล่านี้


1) HENRYs


แม้จะฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นชื่อคน ให้ฟีลหรูดูดี แต่ความหมายจริงเป็นตรงกันข้าม คำว่า HENRYs ย่อมาจาก H igh E arners, N ot R ich Y et หมายถึงคนที่มีรายได้สูง แต่ยังไม่รวยสักที มีที่มาครั้งแรกจากนิตยสาร Fortune ปี 2003 ใช้เรียกเซกเมนท์ครอบครัวที่มีรายได้สูงราวๆ 2.5- 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ค่อยเงินเหลือเก็บเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง เช่นภาษี ค่าเล่าเรียนลูก ค่าผ่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายในครอบครัว จนถึงอาจไม่มีการเก็บออมสำหรับเกษียณมากเท่าที่ควร มาในปัจจุบัน HENRYs กลายเป็นคำเรียนกลุ่มเจนมิลเลนเนี่ยมที่มีหน้าที่การงานดี รายได้สูง แต่ก็มีพฤติกรรมใช้จ่ายไปกับไลฟ์สไตล์ช้อป กิน เที่ยวอย่างหรูหราจนไม่มีเงินเหลือเก็บ กล่าวคือแม้จะหาได้มาก ก็มือเติบจ่ายหนัก ซึ่งการใช้จ่ายรูดบัตรเครดิตไปกับไลฟ์สไตล์หรูเพื่อความสุขในชีวิตบวกกับค่าครองชีพจำเป็นในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บหรือนำไปลงทุน โดยกลุ่ม HENRYs ถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมูลค่ามหาศาลของแบรนด์สินค้าลักชัวรี่แบรนด์ต่างๆ ซึ่งก็ได้มีการทำกลยุทธ์การตลาดสำหรับกลุ่ม HENRYs โดยเฉพาะ


กลุ่ม HENRYs ถูกเรียกอีกอย่างว่า “Working Rich” คือทำงานถึงจะรวย แต่ถ้าหยุดทำงาน ความรวยก็จะหายไปทันที เพราะเงินที่ได้มากลายเป็นค่าใช้จ่ายสร้างไลฟ์สไตล์ที่ดูรวย ไม่ได้นำไปเก็บออมลงทุน จึงเสียโอกาสสร้างความมั่งคั่งอย่างน่าเสียดาย ยังมีความรู้สึกว่าตัวเองมีเงินไม่พอใช้และชีวิตต้องผูกติดกับเงินเดือนที่จะได้รับในเดือนต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไรก็ดี คนกลุ่ม HENRYs ก็สามารถขยับขึ้นไปกลุ่มคนมั่งคั่ง (Wealth) ได้ไม่ยาก เพียงลดการใช้จ่ายให้หนี้สินลดลง และเพิ่มเงินส่วนการเก็บออมและลงทุนเพิ่ม ชีวิตก็จะมั่งคงขึ้นและกลายเป็นคนรวยได้ไม่ยาก

henrys-sinks-dinks-panks-01

2) SINKs/DINKs


สองคำนี้มาคู่กัน โดยย่อมาจาก S ingle I ncome N o K id - SINKs หมายถึงคนโสดที่มีรายได้แต่ไม่มีลูก และ D ouble I ncome N o K id - DINKs ที่หมายถึง คู่แต่งงานมีรายได้ทั้งคู่และไม่มีลูก ซึ่งกลุ่ม DINKs ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคู่หนุ่มสาวข้าวใหม่ปลามันอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงคู่สามีภรรยาสูงอายุที่ลูกๆ โตจนย้ายออกจากบ้านแล้ว (Empty Nester) คู่ชีวิต LGBTQ และคู่แต่งงานที่ตัดสินใจไม่มีลูก (Childless Couple) ซึ่งการที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องลูก ทำให้คนกลุ่มนี้มีเงินเหลือมาเก็บออมลงทุนหรือใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบายของตัวเองได้มากขึ้น ยิ่งกลุ่ม DINKs จะมีค่าใช้จ่ายในบ้านต่อคนน้อยกว่ากลุ่ม SINKs ที่เป็นคนโสด เพราะพวกเขาสามารถแชร์ค่าใช้จ่ายกับคู่ของตัวเองได้


ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทำให้กลุ่ม SINKs และ DINKs เป็นที่หมายปองของสินค้าลักชัวรี่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจท่องเที่ยว อย่างรถยนต์ราคาแพง แพ็คเกจโรงแรมหรู รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ แต่ในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ด้วยความที่อยู่กันแค่ 2 คน บ้านหลังใหญ่มีหลายห้องอาจไม่ใช่คำตอบของคนกลุ่มนี้ แต่น่าจะเป็นการเช่าหรือซื้อที่อยู่อาศัยพื้นที่ใช้สอยขนาดย่อมในราคาคุ้มค่ามากกว่า และการที่ SINKs และ DINKs ไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เกี่ยวกับลูก เป็นโอกาสให้คนกลุ่มนี้นำเงินส่วนนี้มาเก็บออมและลงทุนในหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างความมั่งคงให้กับตัวเองและครอบครัวได้

3) PANKs


P
rofessional A unt, N o K ids หรือ PANKs เป็นคำเรียกกลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ อาชีพการงานดี ซึ่งบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากเดิมที่เคยจำกัดคุณค่าความสำเร็จในชีวิตของผู้หญิงที่การแต่งงานมีลูก มาให้คุณค่ากับผู้หญิงที่เลือกชีวิตโสดและความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพให้ได้รับการชื่นชมอย่างน่าภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน และกลุ่ม PANKs ยังมีบทบาทสำคัญกับคนรอบข้างและมีกำลังซื้อสูงมากด้วย


บทความ “The Rise of PANKs and What That Means for Startup Culture” กล่าวถึงแนวโน้มของกลุ่ม PANKs ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีผู้หญิงจำนวนมากได้รับสนับสนุนทักษะความสามารถด้านผู้ประกอบการให้สร้างธุรกิจของตัวเอง ยิ่งถ้าผู้หญิงทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่ แนวโน้มที่จะเกิดประชากรกลุ่ม PANKs ก็มากขึ้นเท่านั้น เพราะจะเอาเวลาในช่วงอายุ 20 มาทุ่มเทสร้างธุรกิจ มากกว่าที่จะหาคู่เพื่อแต่งงานมีลูกให้ทันช่วงวัยที่สังคมตั้งเกณฑ์เอาไว้ที่อายุ 30 ปี ยิ่งกว่านั้นการบุกเบิกธุรกิจใหม่ก็ต้องทุ่มเทเวลา พลังงานมาก ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ทำงานไม่จำกัดเวลา มีความไม่แน่นอนสูง จึงเป็นความท้าทายอย่างมากที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะแบกความรับผิดชอบในฐานะแม่ สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพไปพร้อมๆ กัน และบาลานซ์ทั้งสองอย่างให้ลงตัว ผู้ประกอบการหญิงหลายคนจึงเลือกที่จะสร้างธุรกิจให้เป็นลูกของพวกเธอแทน


ทั้งนี้ กลุ่ม PANKs ถือเป็นเซกเมนต์ที่นักการตลาดพุ่งเป้าไปที่เงินรายได้ที่มีอย่างเหลือเฟือ แม้ PANK จะไม่มีครอบครัวของตัวเอง แต่ธุรกิจที่ขายสินค้าให้เด็กและคนเป็นพ่อแม่ก็อย่ามองข้ามคนกลุ่ม PANKs เพราะคุณป้ากลุ่มนี้มีอิทธิพลชักจูงเด็กๆ และพ่อแม่เด็กที่อยู่รอบตัว จากการสำรวจกว่า 68% เป็นแบบอย่างให้กับเด็กที่รู้จัก เช่น หลาน ลูกของเพื่อน ขณะที่ 67% กล่าวว่าพวกเขามักจะมีเพื่อนมาขอคำปรึกษาในการตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งของต่างๆ และ 2 ใน 3 ของคนกลุ่ม PANKs บอกว่าดีใจที่ไม่ต้องมีลูกเอง คำว่า “Aunt” ที่เคยเป็นคำเรียกจิกกัด ได้แปรเปลี่ยนความหมายใหม่ที่นิยามถึงผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในโลกการทำงาน มีรายได้ดี ดูแลพึ่งพาตัวเองได้อย่างสง่างาม

ไม่ว่าจะเป็น HENRYs, SINKs, DINKs, PANKs หรือครอบครัวมีลูก การเก็บออมและลงทุนสร้างผลตอบแทนเป็นวิธีที่จะนำไปสู่ความมั่นคงและมั่งคั่งในระยะยาว สนใจการลงทุนทางแอป SCB EASY INVEST ที่ให้คุณเลือกลงทุนกองทุนรวมมากกว่า 1,500 กองทุนจาก 21 บลจ. ตั้งแต่กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมต่างประเทศ กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก และกองทุนรวมลดหย่อนภาษี (SSF, RMF) สะดวก ง่าย ครบในที่เดียว คลิกดูรายละเอียดที่นี่