อยากลำไส้ดีต้องมีโพรไบโอติกส์ จุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

รู้หรือไม่ว่าโพรไปโอติกส์มีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลำไส้ให้ดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มที่ ทำให้ขับถ่ายดี ลดอาการภูมิแพ้ แก้อาการอักเสบ แถมยังมีผลในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งได้อีกด้วย! พูดง่ายๆ ถ้าเราอยากให้ลำไส้เราทำงานดี ขับถ่ายดี ดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ต่างๆ ไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้เต็มประสิทธิภาพโพรไปโอติกส์คือหัวใจสำคัญ


โพรไบโอติกส์คืออะไร?

โพรไบโอติกส์คือจุลินทรีย์ขนาดเล็กประเภท “แลคติกแอซิดแบคทีเรีย” ซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต  กิมจิ มิโสะ เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร ให้คำจำกัดความว่า โพรไบโอติกส์ คือ “จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สุขภาพดี โดยเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้”

โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ต่างกันอย่างไร?

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าโพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยในการย่อยพรีไบโอติกเพื่อกระตุ้นการทำงานของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ และช่วยให้แบคทีเรียที่ดีในลำไส้เจริญเติบโต


ส่วน พรีไบโอติก (
Prebiotics) คือ ไฟเบอร์ที่ได้จากพืชผักและผลไม้ที่รับประทานเข้าไป โดยที่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะไม่มีการย่อยหรือการดูดซึมใดๆ เมื่ออยู่ที่ลำไส้เล็ก แต่จะถูกย่อยที่ลำไส้ใหญ่ด้วยโพรไบโอติกแทน ซึ่งพรีไบโอติกนี้เองที่ช่วยให้แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้เจริญเติบโต เมื่อลำไส้มีปริมาณของแบคทีเรียชนิดดีมากขึ้นระบบย่อยอาหารก็จะทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น เราสามารถได้รับพรีไบโอติกผ่านการรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ รวมถึงยังสามารถพบได้จากอาหารบางประเภทที่ให้คาร์โบไฮเดรตอย่างเช่น โยเกิร์ต ซีเรียล ขนมปัง คุกกี้ เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าทั้งพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์นั้นเป็นสิ่งที่ทำงานร่วมกัน และให้ประโยชน์ต่อร่างกายในเรื่องของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายเหมือนกัน กล่าวง่ายๆ ก็คือ พรีไบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์นั่นเอง ดังนั้นหากรับประทานอาหารพวกพรีไบโอติกส์ก็จะช่วยส่งเสริมฤทธิ์โพรไบโอติกส์ได้ดียิ่งขึ้น

ประเภทของโพรไบโอติกส์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1.แลคโตบาซิลลัส  (Lactobacillus)

เป็นแบคทีเรียชนิดดีในกลุ่มของโพรไบโอติกส์ที่พบได้มากที่สุด โดยสามารถพบได้ในอาหารจำพวก โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารหมักดองต่างๆ ดีต่อระบบขับถ่าย และดีต่อผู้ที่มีประสบปัญหาไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้


2.ไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)

 ได้รับการจัดว่าเป็นหนึ่งในจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่ดีที่สุด สามารถพบได้ในอาหารจำพวกผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน


3.แซคคาโรไมซิส (Saccharomyces boulardii)

เป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มของโพรไบโอติกส์ มีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และบรรเทาปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร


โพรไบโอติกส์มีความสำคัญกับร่างกายอย่างไร?

โพรไบโอติกส์มีบทบาทมากมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ต่อร่างกาย ดังนี้

  • ป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ โดยการสร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้

  • ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสในร่างกาย

  • กระตุ้นระบบการย่อยอาหารโดยการสร้างเอนไซม์หลากหลายชนิด

  • ช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายที่เสียไป

  • เหนี่ยวนำการกระตุ้นการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการสร้างสารป้องกันและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เข้าสู่ภาวะสมดุลได้

     

โพรไบโอติกส์ช่วยป้องกันหรือบรรเทาโรคอะไรได้บ้าง?

  • โรคระบบทางเดินอาหาร อาการลำไส้แปรปรวน, กรดไหลย้อน, ท้องผูก, ท้องร่วงจากการติดเชื้อ, ท้องร่วงอันเกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน, ภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแลคโตส
  • โรคภูมิแพ้ ผื่นแพ้ผิวหนัง, ภูมิแพ้อากาศ
  • โรคทางอวัยวะสืบพันธุ์ ภาวะติดเชื้อในช่องคลอด, ช่องคลอดแห้งหลังหมดประจำเดือน
  • โรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ

 

ทำไมเราถึงควรทานโพรไบโอติกส์เสริม?

อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าอาหารบางชนิด เช่น โยเกิร์ต และนมเปรี้ยว มีโพรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าโพรไบโอติกส์ยังพบได้ในอาหารบางชนิด เช่น กิมจิ ซุปมิโสะ คอมบุชาหรือชาหมัก แตงกวาดอง และในชีสบางชนิด อย่างเชดด้าชีส หรือมอสซาเรลลาชีส เป็นต้น สำหรับผู้ที่แพ้อาหารหรือไม่ชื่นชอบอาหารดังกล่าวจึงแนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติกส์ทดแทนได้ โดยมีบรรจุในหลายรูปแบบทั้งแบบเม็ด แคปซูล ผง และในรูปแบบอื่นๆ ทำให้ง่ายต่อการรับประทาน อีกทั้งยังสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป โพรไบโอติกส์จากอาหารเสริมที่มีคุณภาพและผ่านมาตรฐานนั้นมีความปลอดภัยต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ในบางคนก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องอืด หรือเรอในช่วง 2-3 วันแรกได้

โพรไบโอติกส์ เรียกได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นหรือ Normal flora อย่างหนึ่งในทางเดินอาหาร หากร่างกายมีสุขภาพดีก็จะมีการรักษาสมดุลจุลินทรีย์ให้เป็นปกติ แต่ถ้าหากมีอะไรไปรบกวนสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย  จุลินทรีย์ประจำถิ่นในลำไส้ถูกรุกราน อาจเกิดผลกระทบตามมาได้ เช่น หากร่างกายได้รับยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลานาน ยาเหล่านี้จะส่งผลให้จุลินทรีย์ในร่างกายมีจำนวนลดลง เมื่อร่างกายมีการรับเชื้ออื่นอาจก่อโรคเข้ามา และมีโอกาสสูญเสียจุลินทรีย์ดีในร่างกายได้  ดังนั้นการสร้างสภาวะความสมดุลระหว่างจุลลินทรีย์ที่ดีในร่างกายจึงมีความสำคัญ ซึ่งการรับประทานโพรไบโอติกส์ทั้งจากอาหารหรืออาหารเสริมจึงเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการเสริมจุลินทรีย์ชนิดดีและรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย  นอกจากการดูแลสุขภาพด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์และเสริมด้วยอาหารเสริมประเภทต่างๆ แล้ว การมีประกันสุขภาพที่มีวงเงินครอบคลุมตามที่เราต้องการ ยังเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างไร้กังวลในยุคที่ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นทุกวัน สนใจทำประกันสุขภาพ SCB มีประกันสุขภาพหลากหลายนโยบายให้เลือก สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ -ที่นี่-


อ้างอิง

https://www.interpharma.co.th

https://www.bumrungrad.com

https://women.trueid.net/detail/8PQmG8mbOWkP