อำนาจปกครองบุตร

ปัญหาเรื่องครอบครัวที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย คือเรื่องที่บิดาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อขออำนาจปกครองบุตรร่วมกับมารดา เนื่องจากมารดาไม่ยอมให้บิดาเจอบุตรมาเป็นเวลานานหลายเดือน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ที่มีอำนาจปกครองบุตรตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น เราจะมาดูกันว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดถึงผู้ที่มีอำนาจปกครองบุตรไว้อย่างไรบ้าง


มาตรา 1566 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดาและมารดา ซึ่งบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งสามารถใช้อำนาจปกครองได้โดยลำพัง แต่จะสละอำนาจปกครองบุตรให้บุคคลอื่นไม่ได้


สิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งจะทำให้บิดาได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกับมารดา ตามมาตรา 1566 ได้นั้น บุตรคนดังกล่าวต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาเสียก่อน ซึ่งสามารถทำได้โดยวิธีการดังนี้

  1. บิดารับรองบุตร
  2. บิดาและมารดาต้องทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบิดาและมารดาจะสมรสก่อนหรือภายหลังจากที่บุตรได้เกิดมาแล้วก็ได้
  3. ศาลพิพากษาว่าบุตรเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าบิดาหรือมารดาจะเป็นผู้ที่มีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ตามมาตรา 1584/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฝ่ายที่เป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรต้องยินยอมให้อีกฝ่ายติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ เช่น ยินยอมให้มาพบบุตรหรือพาบุตรออกไปเที่ยวในวันหยุด เป็นต้น หากฝ่ายที่เป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรไม่ยอมให้ฝ่ายที่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรติดต่อหรือพบบุตร ฝ่ายที่ไม่มีอำนาจปกครองบุตรสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อขออำนาจปกครองบุตรร่วมกับ ฝ่ายที่เป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร หรือขอให้ถอนอำนาจปกครองบุตรจากฝ่ายที่เป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรก็ได้


เมื่อบิดาและมารดาได้หย่าขาดจากกันแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งนอกจากเรื่องผู้มีอำนาจปกครองบุตร คือค่าอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งมาตรา 1598/38 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดให้ฝ่ายที่ควรได้รับสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้หากไม่เคยได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือหากได้รับการอุปการะเลี้ยงดูแล้วแต่ไม่เพียงพอแก่อัตภาพของตน โดยอาจเรียกเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรก็ได้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ที่เป็นฝ่ายต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู ฐานะของผู้ที่เป็นฝ่ายรับค่าอุปการะเลี้ยงดู และพฤติการณ์ต่าง ๆ ของแต่ละครอบครัว

ดังนั้น ค่าอุปการะเลี้ยงดู หมายถึง เงินหรือทรัพย์สินซึ่งระหว่างสามีภรรยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตร ชำระให้แก่กันเป็นค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่ เช่น ที่พักอาศัย ค่าอาหาร ค่าเครื่องนุ่งห่ม ค่าการศึกษา และค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ถือเป็นหน้าที่ของบิดามารดาในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรตามสมควรในระหว่างที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์ แม้บิดามารดาจะหย่าขาดจากกันแล้ว ก็ยังคงมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต่อไป


ค่าอุปการะเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวจะมากหรือน้อยต้องพิจารณาจากฐานะความเป็นอยู่และหน้าที่การงานของ ผู้ที่เป็นฝ่ายต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู และยังต้องพิจารณาฐานะความเป็นอยู่ และหน้าที่การงานของ ผู้ที่เป็นฝ่ายรับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสำคัญ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู คือความจำเป็นในการใช้จ่ายว่าเหมาะสมแก่บุตรเพียงใด

 

บทความโดย : วิทวัส ออรัตนชัย