5 ทักษะที่จำเป็นของผู้นำรุ่นใหม่ในการทำงานในโลกที่จะเต็มไปด้วย AI

เรื่อง: สโรจ เลาหศิริ (สโรจขบคิดการตลาด)

Hi-Lights:

  • AI คือ การรวบรวมข้อมูลจำนวนมากในอดีต นำมาวิเคราะห์ด้วย Algorithm และหลักสถิติ และทำนายผลที่จะเกิดขึ้น หรือทำงานด้วยการทำนายผลลัพธ์ดังกล่าว โดยปัญญาประดิษฐ์ยังมีการเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่ตนได้เคยทำนายไว้ และนำมาปรับปรุงจนกลายเป็นรูปแบบการทำงานที่ผิดพลาดน้อยที่สุด ต้นทุนถูกที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุด
  • ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งหนึ่งที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ หรือหากทำได้ก็คงได้ไม่เท่าความมหัศจรรย์ของความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพราะหุ่นยนต์นั้นทำตามแบบแผน จำเป็นต้องมีชุดข้อมูล มีการเรียนรู้ ยังมีการทำงานแบบเป็นแพทเทิร์นโดยอาศัยการลดข้อผิดพลาดแต่การสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ นั้นยังคงต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงอยู่


ยุคดิจิทัล ยุค 4.0 ยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือใครต่อใครเรียกว่ายุคที่มีแนวโน้มที่หุ่นยนต์จะมาทำงานแทนที่มนุษย์ คำกล่าวที่ว่า โลกของเราประกอบไปด้วยแรงงานขั้นพื้นฐาน และผู้ครอบครองเทคโนโลยีเท่านั้น คืออนาคตของการทำธุรกิจ ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเกิดมาจากคลื่นของเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ของโลกเรา ที่ดำเนินไปรวดเร็วแบบก้าวกระโดด หลายกิจการมีข่าวปิดตัวลง มีข่าวการเลิกจ้างงานจำนวนมากด้วยเหตุผลทางด้านการปรับตัวของธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจที่ประกอบไปด้วยแรงงานที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องล้มหายตายจากไป บางกิจการก็เลิกจ้างพนักงานบางส่วนด้วยสาเหตุที่ว่า ทักษะไม่ตรงกับความต้องการของธุรกิจที่ปรับตัวไปเป็นดิจิทัลแล้ว ทำให้เกิดความหวาดหวั่นต่อเราทุกคนว่า ถ้าเช่นนั้นอนาคตเราต้องปรับตัวอย่างไร?

ai-tool

AI ตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงความต้องการทักษะของแรงงาน

AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่มีผลกระทบมากๆ ต่อการทำธุรกิจในยุคใหม่ เราคงเคยได้ยินข่าวบนหน้า Newsfeed หรือ บรรดากูรูออกมาฟันธงว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์ และแรงงาน แต่จะมาแทนที่ได้อย่างไร เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่า AI นั้นพื้นฐานการทำงานคือ การรวบรวมข้อมูลจำนวนมากในอดีต นำมาวิเคราะห์ด้วย Algorithm  และหลักสถิติ และทำนายผลที่จะเกิดขึ้น หรือ ทำงานด้วยการทำนายผลลัพธ์ดังกล่าว โดยปัญญาประดิษฐ์ยังมีการเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่ตนได้เคยทำนายไว้ และนำมาปรับปรุงจนกลายเป็นรูปแบบการทำงานที่ผิดพลาดน้อยที่สุด ต้นทุนถูกที่สุด และ มีประสิทธิภาพที่สุด ยกตัวอย่างเช่น AI ที่มาทำงานแทนที่นักวิเคราะห์ตลาดหุ้น เจ้า AI จะเรียนรู้จากราคาหุ้นในอดีตที่ผ่านมา คำนวณด้วยโมเดลและทฤษฎีแนวโน้มต่างๆ ที่นักวิเคราะห์เคยทำเอาไว้ และทำการแนะนำหุ้นที่จะขึ้นให้แก่นักลงทุน จากนั้นมันจะเก็บเอาผลลัพธ์การการแนะนำนั้นว่าแม่นยำไหม โดยดูจากราคาหลังการแนะนำของหุ้นตัวดังกล่าวว่าแนวโน้มเป็นไปตามทำนายหรือไม่ ก่อนเก็บสถิติเหล่านี้มาพัฒนาโมเดล หรือ ทฤษฎีให้แม่นยำต่อไป ครับ จากเหตุการณ์สมมติดังกล่าว นักวิเคราะห์กว่าจะคำนวณและแนะนำได้ คงต้องใช้เวลามากกว่า และโอกาสผิดพลาดก็ย่อมมากกว่าแน่นอน และนั่นทำให้งานใดๆ ที่สามารถถอดออกมาเป็นแพทเทิร์น มีการใช้โมเดลคำนวณที่เป็นลำดับขั้นตอนและเก็บผลเป็นแบบสถิติได้ ก็จะถูกแทนที่ด้วย AI เนี่ยแหล่ะครับ

 

แต่ข่าวดี หุ่นยนต์ยังแย่งงานมนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์ในเร็วๆ นี้แน่

ถึงแม้สิ่งที่กล่าวไปจะดูน่ากลัวว่าเราจะถูกเลิกจ้างและหุ่นยนต์จะมาแย่งงานเราแค่ไหน บอกได้เลยว่ามีโอกาสแต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้แน่นอน ด้วยข้อจำกัดทางด้านข้อมูลและการเรียนรู้ที่ยังต้องอาศัยมนุษย์ในการทำงานร่วมกัน อีกทั้งนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลในแต่ละประเทศก็ต้องออกมาควบคุมการทำงานเพื่อรักษาเสถียรภาพ และแรงงานของประเทศตนเอง และยังมีอีกหลายงานที่หุ่นยนต์ยังทำแทนที่ไม่ได้ เช่น งานที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ริเริ่ม ศิลปะแขนงใหม่ งานต้องอาศัย Human Touch เช่นคุณครู การดูแลผู้สูงอายุ นักเจรจาติดต่อ

 

โลกในอีกสิบปีข้างหน้ายังคนเป็นโลกที่มนุษย์ต้องใช้งานหุ่นยนต์ให้เป็น

เร็วๆ นี้คงยังไม่ใช่โลกที่ไปที่ไหนก็เจอหุ่นยนต์ทำงานแทนเราในอีกสิบปีข้างหน้า เนื่องด้วยข้อจำกัดสำคัญคงเป็นเรื่องของการทำงานกับข้อมูล และหลายๆ องค์กรที่ต้องอาศัยเวลาปรับตัวและเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งบางองค์กรที่ไม่สามารถจัดหาเทคโนโลยีและบุคลากรที่ใช้ในการสร้างระบบการทำงานโดยเฉพาะ ดังนั้น ที่เรายังต้องอาศัยมนุษย์ที่อ่านข้อมูล ใช้ข้อมูล และคิดหาวิธีการจัดการกับข้อมูลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โปรแกรมจัดการจาก 3rd party หรือ โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่ง AI ยังต้องการการทำงานกับมนุษย์เพื่อพัฒนา และยังมีอีกหลายงานที่ต้องการมนุษย์สั่งการอยู่อย่างมีกลยุทธ์

ทักษะที่ต้องปรับตัวสำหรับธุรกิจยุคใหม่และการทำงานร่วมกับทีมลูกผสมระหว่างมนุษย์ กับ AI คืออะไร

  1. การคิดวิเคราะห์ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ (ANALYSIS & INNOVATIVE)
    ข้อนี้จะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับทักษะงานประเภทท่องจำ และการอาศัยความแม่นยำในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยเรียนรู้มาตลอดตั้งแต่เด็กๆ เหตุผลที่ส่วนนี้สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการทำงานกับหุ่นยนต์จำเป็นต้องใช้คนที่มีความคิดเชิงวิเคราะห์ ที่จะสามารถตั้งสมมติฐาน การหาสาเหตุที่แท้จริง การเชื่อมโยงทางด้านปัจจัยต่างๆ อันเป็นเหมือนกับการวิเคราะห์หา Algorithm เพื่อนำไปใช้ในการประมวลผล หรือสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่จะมาตอบโจทย์ ซึ่งการวิเคราะห์ใช้ควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม ที่จะสามารถนำเอาข้อมูลที่ได้ ไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ โมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ เลยทีเดียว ซึ่งสิ่งนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทักษะทางด้าน Design Thinking 

  2. การคิดโดยใช้วิจารณญาณ เหตุผลและตรรกะ (CRITICAL THINKING & REASONING)
    สำคัญเป็นอย่างมากในยุคที่ข้อมูลถูกสร้างขึ้นมาเป็นปริมาณมหาศาล รวมไปถึงยุคที่ผู้บริโภคสามารถสื่อสารได้โดยตรงกับแบรนด์หรือผู้บริโภคคนอื่นมากขึ้น ทักษะในข้อนี้จะเป็นทักษะที่ทำให้เราสามารถเข้าใจบริบทของข้อมูล สามารถวิเคราะห์หาส่วนที่สำคัญและจำเป็นที่สุดของข้อมูล เพื่อนำมาใช้ตัดสินใจโดยใช้ตรรกะ นอกจากนี้นี่ยังรวมไปถึงการรู้เท่าทันเสียง และสื่อบนโลกโซเชียล ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลปลอม ข้อมูลที่มีความเอนเอียง รวมไปถึงข้อมูลที่ Algorithm ของโซเชียลมีเดีย หรือ เสิร์ชเอนจิ้น ต่างๆ นำมาให้เราดูตามความชอบของเรา อันจะทำให้เราได้รับข้อมูล ชุดความคิดที่ผิดๆ ได้ ดังนั้น วิจารณญาณ และการใช้ตรรกะจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงาน

  3. ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดค้นสิ่งใหม่ (CREATIVITY & INITIATIVE)
    แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ หรือหากทำได้ก็คงได้ไม่เท่าความมหัศจรรย์ของความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพราะหุ่นยนต์นั้นทำตามแบบแผน จำเป็นต้องมีชุดข้อมูล มีการเรียนรู้ ยังมีการทำงานแบบเป็นแพทเทิร์นโดยอาศัยการลดข้อผิดพลาดแต่การสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ นั้นยังคงต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงอยู่ ทักษะที่จำเป็นในการทำงานเหล่านี้ คือการคิดงานแบบที่ต้องใช้ความคิดริเริ่ม การตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ การใช้ความคิดนอกกรอบ การทำงานดีไซน์ หรือ ออกแบบงานใหม่ๆ เหล่านี้คือสิ่งจำเป็นและความคิดสร้างสรรค์ฝึกกันได้ทุกคนครับ

  4. การเรียนรู้ และการปรับตัว (ADAPTIVE & ACTIVE LEARNING)
    เพราะโลกนั้นหมุนเร็ว ทักษะใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงแนวคิดวิธีการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ทุกวัน การเรียนรู้และการปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด การเรียนรู้รูปแบบใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ ต่อไประบบการศึกษาที่ใช้แบบเรียนอาจล้าหลัง เคยมีคำกล่าวว่าเด็กไทยเก่งสุดวันที่เรียนจบ เพราะหลังจากจบมาทำงานแล้วก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสหาความรู้ใหม่ๆ เลย ดังนั้นการรู้จักวางแผนการเรียน การแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ และนิสัยน้ำไม่เต็มแก้ว จึงเป็นทักษะสำคัญมาก ในโลกอนาคตที่เปลี่ยนเร็ว

  5. ภาวะผู้นำ การสร้างอิทธิพลโน้มน้าว และ การสื่อสาร (LEADERSHIP & SOCIAL INFLUENCE & COMMUNICATION)
    ทักษะที่จำเป็นมากๆ ที่ผู้นำหลายคนจำเป็นต้องมี คือ ภาวะผู้นำ ที่สามารถถ่ายทอด และสื่อสารให้กับทีมหรือแม้กระทั่งลูกค้าได้อย่างชัดเจน และทรงอิทธิพล เมื่อเราทำงานอยู่บนความเปลี่ยนแปลง ความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น การสื่อสารอย่างชัดเจนและสร้างความเข้าใจด้วยการโน้มน้าวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการนำทีมงานผ่านความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนไว การสร้างขวัญและกำลังใจให้ทีมเคลื่อนต่อไปข้างหน้า รวมไปถึงบริหารความเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้หุ่นยนต์เองยังไงก็ไม่สามารถทำได้ครับ


นอกเหนือจากห้าข้อนี้แล้ว อีกข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องคลุมทุกทักษะคือ EQ ที่จำเป็นมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัวทีเดียว หากเรารู้ตัวแล้วว่ายังขาดข้อไหนบ้าง อย่าลืมเสริมทักษะเหล่านี้ เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และก้าวเข้าสู่ยุคคนกับหุ่นยนต์ทำงานด้วยกันอย่างดีครับ