New Online Mindset ทักษะออนไลน์ในโลกหลังโควิด-19

เพราะโลกออนไลน์คือศูนย์รวมผู้บริโภค คนทำธุรกิจต่างมุ่งสู่สนามแห่งนี้เพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมาย ให้เปลี่ยนจากคนแปลกหน้ากลายมาเป็นลูกค้า  และเมื่อมีโควิดก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค  เกิด  New Normal  ทำให้ธุรกิจต้องเร่งสปีดปรับตัวให้ทัน  เพื่อไม่ให้เสียโอกาสและตกสนามแข่งขันไปในที่สุด  คุณมัณฑิตา จินดา (ทิป) Vice President of Digital Marketing บริษัท  Workpoint Entertainment , Founder & MD Digital Tips Academy และเจ้าของเพจ Digital Tips Academy  มาเล่าให้ฟังถึงโลกยุคหลังโควิด-19 มีทักษะอะไรบ้างที่ต้องละทิ้ง  เรียนเพิ่มเติม  และเรียนรู้ใหม่  เพื่อที่คนทำธุรกิจจะได้นำมาปรับใช้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้

tip4

อัพเดทแฟลตฟอร์มบนโลกดิจิตอล

เมื่อพูดถึงแฟลตฟอร์มที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลกอย่าง Facebook  คุณทิปได้อัพเดทความเคลื่อนไหวว่า  Facebook จะเปิดบริการ Facebook Shops  ซึ่งเป็นช่องทางขายสินค้าออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ง่ายต่อการค้าขายช่วยผู้ประกอบการให้ขายของผ่าน Facebook และ Instagram ได้สะดวกขึ้น  มีฟีเจอร์ช่วยการขายออนไลน์ เช่น  สามารถดู Data ลูกค้า , สร้าง Template ตกแต่งหน้าร้าน, เพิ่มโอกาสการมองเห็นผ่านหน้า Feed หรือ Story , มีฟีเจอร์สะสมแต้ม  โดย Facebook Shops  จะเปิดให้บริการที่สหรัฐอเมริกาก่อนเมืองไทย และเป็นบริการที่ให้ใช้ฟรี  ส่วนผู้ให้บริการ Instant Messaging  เจ้าหลักของไทยอย่าง LINE ก็มี My Shop เป็นเว็บ e-Commerce ให้ซื้อขายสินค้าจ่ายผ่าน  LINE Pay  และมี Smart Chat เป็น AI Respond  Message ช่วยตอบคำถามให้ลูกค้าแทนผู้ขาย

Content โดนใจคนไทยช่วงโควิด

จากการที่คุณทิปเป็นผู้บริหารที่ Workpoint Entertainment ได้เล่าว่า สถานการณ์โควิดรายการที่ได้รับความนิยม ได้แก่  รายการข่าวเพราะคนอยากรู้ตัวเลขคนติดเชื้อ  ส่วนรายการบันเทิงจะเป็นรายการครอบครัว เช่น รายการ Super Ten , Super Hundred สะท้อนความต้องการของคนที่อยู่กันเป็นครอบครัวในช่วงนี้  นอกจากนี้คุณทิปยังกล่าวถึงรายงานของ Google เกี่ยวกับพฤติกรรมคนไทยที่ชม YouTube ช่วง Social Distancing พบว่า  คนไทยดู Youtube  เพื่อเรียนออนไลน์ในเรื่องต่างๆ  มากเป็นอันดับ 1  ตามมาด้วย  การทำอาหาร  โดยมีการค้นหาสูตรอาหาร  ได้แก่  แพนเค้ก  อาหารลดน้ำหนัก  ไข่ตุ๋น และผัดกะเพรา ตามลำดับ  สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยสนใจที่จะพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ รวมถึงการหากิจกรรมทำในช่วงโควิดอีกด้วย

ทักษะที่ต้องมีหลังโควิด

จากคำกล่าวของ  Alvin Toffler ที่ว่า  “คนไม่มีการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่คนอ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้   แต่เป็นคนที่ไม่สามารถที่จะเรียนรู้  หรือลบสิ่งที่เรียนรู้เดิมออกไป  เพื่อมาเรียนรู้สิ่งใหม่”  เมื่อถามคุณทิปว่าหลังโควิดต้องเปลี่ยนวิธีคิด   ปรับทัศนคติ และพัฒนาทักษะอะไรบ้าง  คุณทิปมีมุมมอง ดังนี้
 

1. Unlearn  หรือละทิ้งทักษะเดิม   เพราะสูตรสำเร็จดั้งเดิม  ความรู้เดิม  ความเชี่ยวชาญเดิม  ใช้ไม่ได้แล้วในสถานการณ์ตอนนี้  โควิดได้สอนว่าไม่มีอะไรที่แน่นอน มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ อย่าง Business Plan เมื่อก่อนกว่าจะทำได้ต้องใช้เวลานานนับเดือน แต่พอเกิดโควิดเพียง 2 สัปดาห์ก็สามารถทำได้สำเร็จ ต้องมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วน บางทีก็ต้องเปลี่ยนธุรกิจใหม่ เช่น เรื่องราวของร้านตัดสูทที่ชื่อ  Suit Cube  มีพนักงานกว่า 100 คน เมื่อเกิดโควิดต้องปิดร้าน  เจ้าของหาทางแก้ว่าทำอย่างไรที่จะให้พนักงานอยู่ได้ มีเงินใช้ มีงานทำ  แล้วระดมสมองกัน  สุดท้ายมาสรุปที่ทำอาหาร  เจ้าของเลยจัดประกวดแข่งเมนูอาหารของใครชนะเลิศจะเอาไปขาย ได้แก่  หมูย่าง  ปลาร้าบอง   ปรากฏว่าขายได้เพราะลูกค้าก็คือลูกค้าเก่าที่เคยมาตัดสูทที่ร้านทำให้เห็นว่าในช่วงสถานการณ์นี้ต้องทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย  ไม่เชี่ยวชาญ แต่ทุกคนก็พร้อมที่จะเรียนรู้และเริ่มต้นใหม่ ถ้ายังยึดติดกับความชำนาญเดิมว่าต้องขายสูท  อาจจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงตอนนี้

2. Relearn  หรือทักษะที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีก  คุณทิปมองว่าสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมมีดังนี้

  • Digital Skill  เพราะต่อไป Social Media จะกลายเป็นสื่อหลัก (Main Stream) ดังนั้นการฝึกฝนทักษะออนไลน์ต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ  เช่น ในช่วงโควิดคนจะได้ทดลองใช้ประชุมออนไลน์   เรียนออนไลน์  สั่งเดลิเวอร์รี่ผ่านแอปหรือผ่านซอฟแวร์   โดย Digital Skill  ที่คุณทิปแนะนำให้เรียน  ได้แก่   Data  เพื่อทำความเข้าใจลูกค้า  และเรียนรู้  Platform ออนไลน์ต่างๆ  หรือใช้ Tools เป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงและเข้าใจลูกค้ามากขึ้น  ซึ่งคุณทิปได้ยกตัวอย่างร้าน  Find Food บน LINE Shop  ที่พลิกวิกฤตช่วงโควิด  รวบรวมกลุ่มเกษตรกรขายผลไม้ที่ส่งออกไม่ได้ เปลี่ยนจากขายออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ทำให้มีรายได้แปดแสนบาทจากเหตุการณ์นี้ และกลุ่มเกษตรก็สามารถอยู่รอดได้จากการเรียนรู้ในการใช้ Platform เพื่อหาลูกค้า

  • Soft Skill   ในอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำหรืองานอันตราย  เพราะผู้ประกอบการมองว่าถ้าเกิดวิกฤตในลักษณะนี้ขึ้นมาอีก  การใช้แรงงานจากคนจะมีความเสี่ยงมากกว่าหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้ตลอดเวลาไม่มีสะดุด  และอะไรที่หุ่นยนต์ทำแทนที่มนุษย์ไม่ได้  นั่นคือ  Soft Skill  เช่น   Empathy, Creativity , Innovative Thinking ดังนั้นควรที่จะพัฒนาในสิ่งนี้
     

3. Learn  หรือทักษะที่ต้องเรียนรู้ใหม่  การเรียนรู้ใหม่ก็ยังต้องประกอบด้วยทักษะที่เหมือนกับการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือ Relearn นั่นคือ

  • Digital Skill   โดยคุณทิปอยากให้มองว่า  Digital Skill  มีหลายแขนงให้ดูว่าธุรกิจตอนนี้อยู่ในขั้นไหน  ต้องใช้ความรู้อะไร  หรือหากธุรกิจไม่มี Digital Asset  ก็ต้องสร้างขึ้นมา  หรือการปรับทักษะที่มีอยู่เดิมให้มาอยู่บนโลกออนไลน์ให้ได้

  • Soft Skills   ได้แก่  Empathy ต้องทำความเข้าใจลูกค้าว่าคิดอะไร  รู้สึกอย่างไร โดยใช้ Tools เป็นตัวช่วยทำความเข้าใจลูกค้าได้ทันตามเหตุการณ์และนำเทรนด์นั้นมาปรับในการทำธุรกิจ  เช่น  Google Trends , Wisesight Trend , Pantip  เป็นต้น  และในเรื่อง Creativity, Innovative Thinking  ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้เช่นกัน

แนะนำหนังสือเล่มโปรด

การอ่านถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่เร็วที่สุดจากประสบการณ์ของคนที่ผ่านมาแล้ว  คุณทิปในฐานะที่เป็นคนรักการอ่านจึงอยากแนะหนังสือเล่มโปรดของตัวเองให้ได้ลองหาอ่านกัน  เล่มแรกชื่อ  The Hard Thing About Hard Things เขียนโดย  Ben Horowitz  ซีอีโอและนักลงทุนระดับตำนานของ "ซิลิคอนวัลเลย์" ที่เคยผ่านมรสุมในธุรกิจสตาร์ทอัพยุคฟองสบู่แตก คุณทิปเล่าว่าตามปกติหนังสือจะเขียนแต่มุมมองที่สวยงามข้อคิดดีๆ แต่สำหรับเล่มนี้ตรงกันข้าม อย่างเช่น  เรื่องยากไม่ใช่การตั้งเป้าหมายให้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการปลดคนออกเมื่อคุณไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น  หรือ  เรื่องยากไม่ใช่การเฟ้นหาคนเก่ง แต่เป็นการรับมือเมื่อคนเก่งเริ่มเรียกร้องในสิ่งที่คุณให้ไม่ได้   เล่มที่ 2  ยกเครื่องความคิด Rework  เขียนโดย Jason Fried,David Heinemeier Hansson  แปลโดย อาสยา ฐกัดกุล  คุณทิปบอกว่าเล่มนี้บอกว่า Mindset การทำธุรกิจจะคิดถึงแก่นธุรกิจที่สำคัญ  รื้อทุกวิธีคิดในการทำงาน ช่วยปลุกความคิด  เล่มที่  3  สร้างคนให้ติด Hooked   เขียนโดย  Nir Eyal,Ryan Hoover  แปลโดย  วิโรจน์ ภัทรทีปกร หนังสือจะพูดถึงปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาใช้สินค้าและบริการซ้ำอีก   เล่มที่  4  My Life as a Coach  เขียนโดย  ซิคเว่ เบรคเก้  เป็นหนังสือที่สะท้อนให้เห็นวิธีคิดแบบภาวะผู้นำ  คุณทิปบอกว่าเรียนรู้ได้ตลอดจากการอ่านเล่มนี้

แนะวิธีรับมือ  New Normal  สไตล์ผู้ประกอบการ SMEs

คุณทิปได้เปรียบเทียบการทำธุรกิจกับการขับรถแข่งว่า  “เวลาขับรถแข่งแล้วต้องเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ตาของเราต้องมองที่ถนน ไม่ใช่มองที่กำแพง แปลว่าต้องโฟกัสที่การแก้ปัญหา ไม่ใช่โฟกัสในสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขได้” นั่นหมายความว่าทำธุรกิจแล้วเมื่อเจอปัญหา เจออุปสรรค  อะไรที่แก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องไปแก้  ทำเฉพาะที่แก้ไขได้ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด  นอกจากนี้คุณทิปยังกล่าวถึงเรื่องการเห็นคนอื่นขายของดีแล้วขายตามว่า  “อะไรที่ฮิตแล้วนั่นแปลว่าเราช้าไปแล้ว  ให้เรากลับมาคิดว่าอะไรที่จะเป็นกระแสต่อไป  อะไรที่จะฮิตต่ออย่างนี้ธุรกิจเราถึงจะรอด”   รวมถึงเมื่อถามว่าทำการตลาดออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร  คุณทิปตอบว่า “สำเร็จหรือไม่สำเร็จ  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทักษะเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ Mindset ที่มุ่งมั่น  ไม่ยอมแพ้  จึงจะประสบความสำเร็จได้”


การทำการตลาดออนไลน์ให้สำเร็จในยุคนี้นอกจากจะต้องหมั่นฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ  ยังต้อง Unlearn ด้วยการละทิ้งสูตรสำเร็จเดิมความเชี่ยวชาญเดิมออกไป  Relearn เรียนรู้เพิ่มเติมให้อัพเดทอยู่เสมอ  และสุดท้ายต้อง Learn  เรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้ง Digital Skill และ  Solf Skill  ก็จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงฝ่าวิกฤตโควิดนี้ได้สำเร็จ


ที่มา : SCBTV New Online Mindset เปลี่ยน Mindset ในการทำการตลาดออนไลน์ยุคใหม่ ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 20 พฤษภาคม 2563