ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
Generation Gap ปัญหาของหัวหน้ามือใหม่ จะคุมน้องคุมพี่ต้องมีวิธีการ
เรื่อง: สโรจ เลาหศิริ (สโรจขบคิดการตลาด)
Hi-Light:
ในตอนที่ก้าวออกมาจากองค์กรใหญ่ตอนอายุ 27 ออกมาทำบริษัทกับเพื่อนๆ นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมไม่มีเจ้านาย จากคนที่เคยเป็นแต่ลูกน้องทำงานอยู่กับออฟฟิศที่มีเจ้านายมาตลอด (ด้วยประสบการณ์ทำงาน 2 บริษัท ผมมีเจ้านายสายตรง 6 คน ส่วนเจ้านายใหญ่ๆ ไปเลยก็มีโอกาสแค่เคาะประตู ทำตัวลีบแล้วเดินเข้าไปขายงานเขาเท่านั้น) จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมมีโอกาสย้ายมาดูแล Rabbit’s Tale ครีเอทีฟเอเจนซีที่ตอนนั้นมีพนักงานประมาณ 30 คน เป็นครั้งแรกที่ผมได้เป็นหัวหน้าทีม โดยมีคนต้องดูแลอยู่ร่วมสิบชีวิตทั้งเด็กกว่าและแก่กว่า หลายคนอาจจะคิดว่าสบายแล้วสิ มีอำนาจ มีอิสระ
แต่เปล่าเลยครับ ถ้าให้พูดกันตรงๆ ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนถูก “กระโดดลงมหาสมุทรท่ามกลางพายุ” หรือการโดน “ไม้เรียวฟาด” มากกว่า เพราะมันคือของจริงที่วันนี้ไม่มีคนคอยคุ้มหัวเราแล้ว และเราต้องบริหารสิ่งแรกคือ ความแตกต่างระหว่างวัย และภาวะผู้นำต่อคนเหล่านั้น
ทำงานกับเจน X เริ่มต้นด้วยการให้เกียรติ
ในยุคที่เด็กรุ่นใหม่หลายคนมีโอกาสเห็นโลกมากขึ้น องค์กรก็สนับสนุนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่การก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วก็อาจกลายเป็นปัญหาของ New Generation Leader หรือผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหลายได้ โดยเฉพาะถ้าคุณยังรู้สึกครึ่งๆ กลางๆ วางตัวไม่ถูกระหว่างการเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็น Generation Y ที่อยู่ตรงกลางระหว่างทีมที่ผสมทั้งคนจาก Generation X และ Z ซึ่งมีบุคลิก นิสัย วิธีคิดและประสบการณ์ต่างกันไปคนละโลก ก็อาจทำให้เกิด Generation Gap หรือ ช่องว่างระหว่างวัย เป็นปัญหาหนักใจตามมาด้วย
อันดับแรกเลย ผมตัดสินใจไม่เรียกทุกคนว่า ‘ลูกน้อง’ เพราะไม่อยากให้พี่ที่อายุมากกว่ารู้สึกแปลกๆ แต่เรียกกันว่า ‘พี่ในทีม-น้องในทีม’ สถานการณ์หนึ่งที่ New Generation Leader หลายคนเจอก็คือ วันที่เราเข้ามา ทีมจะมีตั้งแต่เด็กจบใหม่ไปจนถึงพี่ที่เก๋าเกมและทำงานมานาน ใครจะรู้ วันหนึ่งคุณอาจจะต้องหลีดทีม E- commerce ที่เต็มไปด้วยพนักงานขายหรือเซลล์เก่าๆ ที่เก่งมาก แต่เขาต้องมาเรียนรู้บางเรื่องใหม่ หรือสักวันคุณอาจจะต้องเริ่มทำทีมตั้งแต่ศูนย์ การให้เกียรติจึงเป็นขั้นแรกที่สำคัญมากในการบริหาร Generation Gap
อย่าหวั่นไหวไปกับ Inverted Ego
นอกจากคำเรียก ปัญหาต่อมาคือความกังวล หัวหน้าที่เป็นคนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะเคยกังวลว่าเราด้อยกว่าทีมที่อยู่มาก่อน เขาทำงานและมีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง แต่เราเพิ่งย้ายมา แล้วเราจะเอาอะไรไปหลีดหรือคอมเมนต์เขา ความไม่มั่นใจนี้ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Inverted Ego อีโก้ชนิดหนึ่งที่ทำให้เรามัวแต่ฟังคนอื่นตลอดเวลา จนสูญเสียความเฉียบขาดและความเก่งของตัวเองไป
ถ้าคิดดีๆ หัวใจของคำว่า Leader ก็คือการ Lead (นำทาง) เพราะฉะนั้นคนที่เป็น Leader ต้องชี้ Direction (ทิศทาง) ต้อง Make tough decision (ตัดสินใจในเรื่องยาก) และต้องหลีดทีมไปในทางที่อยากให้เป็น ผมคิดว่าการจะไปถึงเส้นทางนั้น เราอาจไม่ใช่คนเก่งที่สุดที่จะบอกได้ว่าต้องทำยังไง แต่เราต้องยึดมั่นในเส้นนั้น และพาให้ทีมตามไปด้วยกัน
แต่การมี Inverted Ego คือภาวะที่เรายอมเปลี่ยนเส้นตลอดเวลา คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ ไม่รู้ว่าจะพาทีมไปไหน จนกระทั่งมันพัง ตอนนั้นเกิดทั้งความเครียด ทะเลาะกัน มีความสงสัยและกดดันกันตลอดเวลา ต่างคนต่างความเห็นไม่ตรงกัน จนสุดท้าย ผมเริ่มพบว่าสาเหตุง่ายๆ อาจเพราะแค่เราฟังคนนั้นคนนี้มากไป เกรงใจทุกคน กลัวว่าเคาะไปแล้วจะกระทบกับความรู้สึกของคนใดคนหนึ่ง โดยลืมไปว่างานมันต้องแบบนี้แหละ มันไม่มีทางที่จะเห็นตรงกัน 100% หรอก สิ่งที่เขาเรียกร้องจากเราจริงๆ คือการ Make a tough call หรือการเคาะข้อสรุป ฟันธงโดยที่ไม่กลัวว่าจะไปกระทบอะไรต่างหาก ตราบใดก็ตามที่เราแน่ใจว่าการตัดสินใจของเราตั้งอยู่บนโจทย์ อยู่บนเป้าหมายที่ถูกต้อง เราต้องมั่นใจใน Vision ของเราแล้วทำให้ทีมเห็นภาพความสำเร็จตรงกัน
ดีลกับเจน Y ต้องเป็นได้ทั้งโค้ชและที่พึ่ง
ตัดภาพกลับมาที่น้องๆ เจน Y นั้นจะแตกต่างกัน เด็กยุคมิลเลนเนียลเป็นเด็กที่เราต้องบริหารความขัดแย้งในตัวเขาดีๆ พวกเขาอยากมีผลงานของตัวเอง อยากเรียนรู้ พอไม่มีคนสอนก็บ่น แต่พอสอน ยังไม่ให้ทำเองก็บอกว่าบังคับ อยากมี Work-life Balance แต่ก็มาทำงานสาย บางคนมาขอลาออก บอกว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่มี Impact ไม่เกิด Value แต่เฮ้ย! คุณเพิ่งเข้ามา 6 เดือน คุณจะ Impact องค์กรเลยเหรอ กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอกับทีมเด็กเจน Y
สำหรับผม เด็กดื้อต่างจากเด็กนิสัยไม่ดี เราต้องแยกออกจากกัน เด็กดื้อคือเด็กที่มีความมั่นใจ เป็นเด็กที่เคยทำอะไรสำเร็จมาก่อนหรือไม่เคยล้มเหลว ฉันเข้ามาอยู่ในองค์กรปุ๊บ ฉันรู้มาแล้ว เป็นเด็กที่ยังอยู่ในโลกของตัวเอง เรียกง่ายๆ ว่า ยังไม่ได้เบิกเนตร การเปิดตาเปิดกะโหลกเขาทำได้โดยสวมวิญญาณ Coaching แนะนำและสอนเขาเวลาทำงาน บางครั้งต้องงัด Hard Skill โชว์ความเก๋าเกมและประสบการณ์ที่คุณมี เพื่อทำให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย! มุมนี้ ทำไมเขาคิดไม่ได้ เออ... มุมนี้มันไม่ใช่นะ หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้คนกลุ่มนี้เห็น เด็กดื้อจะชื่นชมหัวหน้าก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าได้เรียนรู้ ไม่มีวันสิ้นสุด
แต่ถ้ายังไม่พอ สิ่งที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ได้ดีที่สุดคือ “ปล่อยให้เจ็บบ้าง” ปล่อยไปให้โดนเสร็จแล้วในฐานะ Leader เราต้องมีบ่าให้เขาหลบข้างหลัง เป็นที่พึ่งพาได้ในวันที่เกิดปัญหา วันที่เขากลับมาค่อยๆ ถามว่าเราเรียนรู้อะไรบ้าง แค่นี้พอแล้ว ไม่ต้องดุด่าเลย ถ้าเด็กที่มี Passion เขาจะรู้ด้วยตัวเองว่า เขาต้องแก้อะไร ยังไง มันคือการ Feedback ที่ทำให้เขาเติบโตขึ้น
แต่สำหรับเด็กที่ไม่ฟังใครเลย เป็นเด็กนิสัยไม่ดีโดยส่วนตัว คงต้องเอาไม้เรียวหวด บอกเขาด้วย Feedback ด้วยระบบ และความเป็นมืออาชีพ และต้องทำให้เขารู้ว่าไม้เรียวของคุณ หมายถึง คุณเอาจริงนะ
ตัวผมเอง ตอนเด็กๆ ก็เลือดร้อน ใจร้อน เป็นเด็กดื้อและมั่นใจในตัวเอง การโดนจับมาเป็นเจ้านายเสียเอง คือ การถูกฟาดด้วยไม้เรียวชิ้นใหญ่ที่สุด ทำให้มีสติ นิ่งขึ้น เมื่อก่อนเหนื่อยกับงานถึงขั้นร้องไห้ ไม่เข้าใจโลก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะเรามีสิ่งที่ต้องมองมากขึ้น มองกลับไปก็เข้าใจเจ้านายมากขึ้น
อย่ากลัวที่จะถูกเกลียด (บ้าง) และหันหน้าคุยกัน
มนุษย์ทุกคนกลัวคนเกลียด ผมเองก็เช่นกัน ยิ่งทำงานช่วงแรกๆ ยิ่งสนุกสนานเลยครับ มันกระอักกระอ่วนทุกครั้งที่ต้องหันไปพูดกับทีมว่า “ขอโทษนะพี่ แต่ผมต้องไปทางนี้ว่ะ” และคำที่ใช้บ่อยมากเลยคือ “ขออนุญาตเคาะ Direction” ยิ่งทำงานไปสักพักหนึ่ง เราจะเจอคนที่เป็นเพื่อนและสนิทกับเราน้อยลงไปเรื่อยๆ มันยากจะหลีกเลี่ยง จนนึกถึงคำที่ใครสักคน พูดไว้ว่า “ถ้าอยากทำให้ทุกคนมีความสุข อย่ามาเป็นผู้นำเลย ไปขายไอศกรีมเถอะ”
แต่ขณะเดียวกันก็มีคำที่ผมชอบมากเหมือนกัน นั่นคือ “ปัญหาในโลกนี้แก้ได้ด้วยการคุยกัน” ปัญหาในองค์กรทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งการที่เด็กเดินมาลาออก มาบอกวันสุดท้ายทั้งๆ ที่ไม่เคยเปิดทางเลือกอะไรให้เราได้คุยเลย รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ในที่ทำงาน มักเกิดจากเรารู้สึกแต่ไม่ได้สื่อสารกัน ถ้าตัดสิ่งที่ไม่ถูกใจออกไปก่อน คนทุกคนสามารถคุยกันได้แต่เราไม่เคยคุยหรือเปล่า หรือเคยคุยแล้วแต่ไม่เคยบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการออกไปหรือเปล่า แน่นอนต้องอาศัยวาทะศิลป์ด้วย แต่ละ Generation ต้องอาศัยการคุยคนละแบบ คุยกับผู้ใหญ่ อาจเริ่มจากการแจ้งปัญหาและถามให้เขาได้ออกความเห็น ให้อำนาจเขาในการแก้ปัญหาซึ่งเขาน่าจะชอบกว่าการโดนชี้นิ้วสั่ง แต่กับเด็กรุ่นใหม่ มันย้อนกลับเรื่องการสอนและให้โอกาสนั่นเอง
สุดท้ายแล้ว ผมยังเชื่อว่าช่องว่างของ Generation Gap จะหดเล็กลงได้ แค่เราต้องเข้าใจและจัดการมันอย่างถูกที่ ถูกทาง รวมทั้งถูกคน บนเส้นทางที่เราในฐานะ Leader ต้องนำทางไป ขอให้ New Generation Leader ทุกท่านโชคดีครับ