ตื่นเพื่อโต! คาถาธุรกิจยุค 4.0 สร้างพันธมิตร พิชิตจุดอ่อน

ในยุคดิสรัปชั่นที่คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังถาโถมหนักหน่วง ทุกภาคส่วนล้วนได้รับผลกระทบอย่างไม่มีข้อยกเว้น สนามการค้าและสมรภูมิทางธุรกิจที่คุ้นเคยกำลังเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวล้ำ จนถึงวันที่ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่เป็นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ นับเป็นทั้ง “โอกาส” และ “ความท้าทาย” ซึ่งเต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยง แต่ก็จำเป็นต้องเร่งเดินหน้าพัฒนาการเรียนรู้ในยุคที่โลกหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

business-partnership

ตื่นเพื่อโต! ก้าวพ้นคอมฟอร์ตโซนก่อนสาย


“คุณมิหมี-อรนุช เลิศสุวรรณกิจ” CEO & co-founder แห่ง Techsauce แพลตฟอร์มด้าน Tech Startup ซึ่งรวบรวมข่าวสารและความรู้เรื่องการทำธุรกิจ Digital SME และ Startup มองว่า สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจยุคนี้คือ “Sense of Urgency” ซึ่งเราต้องถามตัวเองตลอดเวลาเหมือนที่คนชอบถามหา S-Curve หรือการเติบโตทางธุรกิจ การมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ ไปจนถึงการตั้งคำถามล่วงหน้าว่าธุรกิจเราจะตายเมื่อไร ใครคือคู่แข่งโดยตรง คู่แข่งโดยอ้อม กรณีเลวร้ายสุดจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป


ในแต่ละส่วนของธุรกิจ เราต้องคอยหมั่นตรวจสภาพไม่ให้อยู่ในคอมฟอร์ตโซนมากเกินไป ยกตัวอย่างคู่แข่งของธนาคาร ต่อไปอาจไม่ใช่แค่ธนาคาร แต่เป็นองค์กรด้านเทคโนโลยีที่มีฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่เข้ามาแข่งในธุรกิจนี้ต่อไปในอนาคต


“คู่แข่งทางธุรกิจในอนาคตจะเบลอไปหมด ทุกคนต้องตื่นตัวให้มาก​ บางธุรกิจอย่าง Grab กำลังจะเข้ามาปล่อยสินเชื่อ ให้คำปรึกษาจากแพทย์ทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Telemedicine) ต่อไปนี้จะเห็นความร่วมมือที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น เช่น ธนาคารที่อยากจะทำเรื่องการปล่อยสินเชื่อในยุคดิจิทัล แต่ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ก็ต้องไปพึ่งบริษัทที่มีข้อมูลที่มากเพียงพอจะสืบค้นหาประวัติการทำธุรกรรมในออนไลน์ได้ ดังนั้นเราจึงเริ่มเห็นธนาคารไปจับมือกับพันธมิตรบริษัทขายของออนไลน์ เพราะหากทำเองทุกอย่างคงไม่ทัน”

รับมือคู่แข่งทุกสารทิศ ผนึกพันธมิตรต่อยอดบิ๊กดาต้า


ยุคนี้คู่แข่งจะมาจากทุกทิศทาง โดยเฉพาะ Tech Giant ซึ่งมีข้อมูลมหาศาลจากฐานผู้ใช้งาน ทั้ง Grab, LINE และอื่นๆ เราจึงเห็นการจับมือร่วมกันระหว่าง Line กับพันธมิตรธนาคาร หรือกลุ่มเซ็นทรัลกับ Grab สะท้อนชัดว่าองค์กรต่างๆ ยังอยากได้ข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ หรือการจับมือกันระหว่าง LNE MAN- Wongnai-Lalamove เชื่อมโยงการสั่งอาหาร การรีวิวร้านอาหาร และการขนส่งอาหาร ผสานจุดแข็งของแต่ละเจ้ามาร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจในภาพรวม ถือเป็นรูปแบบที่มีแนวโน้มเกิดมากขึ้น ส่งผลให้เวลานี้แต่ละองค์กรต้องเริ่มหา “New S-Curve” ของตัวเอง ผู้บริหารเองก็อาจต้องลดงานด้านบริหารและดำเนินการออกไป เพื่อให้มีเวลาค้นหา ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งในองค์กรก็อาจมีคำถามทำนองว่า...สิ่งที่ค้นพบนั้นจะนำไปสู่การสร้างรายได้ คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ การพิจารณาประเด็นเหล่านี้ต้องไม่ให้ทีมการเงินเข้ามากำกับมากเกินไป จนทำให้ไม่สามารถค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ขณะที่ทีมบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) ในยุคเดิมอาจจะเน้นแค่รับสมัครและอบรมคน แต่ HR ยุคใหม่ต้องเข้าใจว่าคุณค่าธุรกิจเป็นอย่างไร ปรับเปลี่ยนไปในตลาดอย่างไร และจะมองหาตำแหน่งงานใหม่อย่างไร


อย่างไรก็ตาม การพัฒนาหา New S-Curve นั้น จำเป็นต้องดูจังหวะเวลาควบคู่ไปกับระบบนิเวศ (Ecosystem) ว่าพร้อมหรือยัง ก่อนหน้านี้ช่วงที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน เคยมีคนคิดเครื่องรูดบัตรเครดิตที่เชื่อมกับโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องพึ่งสายโทรศัพท์บ้านซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ แต่ด้วยจังหวะเวลานั้นคนยังไม่พร้อมเท่าไรนัก เพราะไม่เชื่อมั่นในแง่ความปลอดภัย และระบบอินเทอร์เน็ตที่ยังเป็น GPRS ไม่ใช่ 3G ก็ยังล่มบ่อย ธุรกิจนั้นจึงไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งมาถึงยุคปัจจุบันที่มีความพร้อมทั้งเวลาและอีโคซิสเต็ม ผลิตภัณฑ์นี้ก็ได้รับนิยม ขายได้จำนวนมาก

ทดลองสิ่งใหม่ สานเป้าหมายภาพใหญ่


อีกปัจจัยสำคัญที่แต่ละองค์กรต้องให้ความสำคัญคือเรื่อง “Experiment” ให้คุณค่ากับประสบการณ์การทดลองเรียนรู้ คนที่เป็นหัวหน้าจะต้องไม่เป็นเพียงบอสคอยสั่งงานลูกน้องและอยู่แต่ในห้องทำงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้นำที่กระโดดลงสนามไปคุมทีมด้วยตัวเอง ทำหน้าที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เรียนผิดเรียนถูกไปกับลูกน้อง และเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองสิ่งใหม่ อาจมีกรอบข้อจำกัดเพื่อควบคุมความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับองค์กร


เพราะการทำงานเราต้องมองเป้าหมายเป็นภาพใหญ่


แต่การเริ่มลงมือทำ เราต้องเริ่มจากสิ่งที่เล็กก่อน!


และสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้มาจากการทดลองเรียนรู้ พร้อมแบ่งปันถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนอื่นเรียนรู้ร่วมกัน ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จหรือล้มเหลว ไอเดียที่คิดมานั้นจะใช้ได้หรือไม่ได้ แต่อยู่ที่แต่ละขั้นตอนของการคิด โดยมีหน่วยวัดให้คะแนนเป็นส่วนๆ เช่น ไอเดีย การกลั่นกรอง การดำเนินงาน ไปจนถึงการทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เสร็จแล้วนำมาคำนวณเป็นสัดส่วนคะแนนเพื่อชี้วัดการเรียนรู้ ไม่ใช่การนับคะแนนแบบ “ได้” หรือ “ไม่ได้” ซึ่งจะระบุผลแค่ “หนึ่ง” หรือ “ศูนย์” เท่านั้น


“การทดลองเรียนรู้เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด สิ่งสำคัญคือเมื่อล้มแล้ว ต้องลุกขึ้นให้ได้!”

ที่มา : คอร์สอบรม IBE – Innovation Based Enterprise Course ในหัวข้อ Creating an Innovative Culture/Innovation Leadership ที่ FYI Center วันที่ 22 ต.ค. 2562

#SCBNIA #SCBIBE #SCBSME

#SCBWITHPURPOSE