เจาะลึกรูปแบบธุรกิจญี่ปุ่น (4) – ธุรกิจ SME

ญี่ปุ่นยังคงเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก แม้ว่าปัจจุบันบทบาทของจีนและเกาหลีจะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและในระดับนานาชาติ แต่ธุรกิจของญี่ปุ่นก็ยังคงมีเสน่ห์น่าเรียนรู้อยู่เสมอ บทความนี้จะนำเสนอรูปแบบธุรกิจของญี่ปุ่นที่น่าสนใจทั้งหมด 4 ธุรกิจคือ ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา, ธุรกิจกีฬา, ธุรกิจ Trading, และธุรกิจ SME แบบญี่ปุ่น


ธุรกิจ SME ของญี่ปุ่น


ธุรกิจ SME ของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “ชูโช-คิเงียว (中小企業)” ครอบคลุม 99.7% ของกิจการทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น และมีอัตราจ้างงานถึง 68.8% ของอัตราจ้างงานทั้งประเทศญี่ปุ่น 1 การที่ SME เป็นเสมือนเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงประเทศญี่ปุ่นอยู่นี้จัดเป็นลักษณะเฉพาะของ SME แบบญี่ปุ่นก็ว่าได้ (หากใครเคยดูซีรีย์ญี่ปุ่นอย่างเรื่อง ฮันซะวะ นะโอะกิ จะเห็นว่ามีบทสนทนาทำนองว่า SME คอยค้ำจุนประเทศญี่ปุ่นอยู่ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงในโลกธุรกิจจริง ๆ ของญี่ปุ่น) นอกจากนี้ ยังมี SME หลายแห่งที่ประกอบธุรกิจใน ลักษณะของ Trading อีกด้วย


SME เหล่านี้ดำเนินธุรกิจในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกับองค์กรใหญ่ๆ คือไม่ได้เป็นคู่แข่งทางตรง แต่เป็นลักษณะของการแบ่งหน้าที่และสนับสนุนกันและกันในจุดที่ตัวเองถนัด เช่น องค์กรใหญ่มีเงินทุนมหาศาล แต่เวลารับงานจากลูกค้าเจ้าใหญ่ ก็จะมีการแจกจ่ายงานไปยังธุรกิจ SME ที่ทำสัญญากันไว้ โดย SME จะมีลักษณะของการเป็นผู้รับเหมา, หรือเป็น Sub-Contractor หรือ Outsource ที่ไปดำเนินการในรายละเอียด เพราะ SME จะมีข้อมูลระดับลึกและคุ้นเคยกับท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นมากกว่า รวมทั้งมีการบริหารกระจายสินค้า หรือ โลจิสติกส์ของสินค้าได้ดีกว่าองค์กรใหญ่


นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SME ญี่ปุ่นเองหลายแห่งที่เป็นโรงงานก็ยังมีการพัฒนา know-how หรือฝีมือในการผลิตต่างๆ จนล้ำลึกระดับที่องค์กรใหญ่ไม่สามารถทำได้ และนานาชาติให้การยอมรับ เช่น น็อตที่ผลิตโดยบริษัท SDC Tanaka ที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์การ NASA ให้ใช้อะไหล่ของบริษัทเหล่านี้ในอวกาศได้

japanese-business-sme-01

อย่างที่เคยเขียนไปก่อนหน้านี้ ว่าองค์กรญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงมี นโยบาย “จ้างงานตลอดชีพ (終身雇用 - ชูชินโคะโย) องค์กร SME ของญี่ปุ่นยิ่งมีลักษณะเด่นดังกล่าวชัดมาก คือเจ้าของบริษัทมักบริษัทเป็นระบบเครือญาติ ลักษณะคล้ายกับระบบกงสีของประเทศไทย และมีการจ้างงานพนักงานเป็นระยะเวลายาวนานมากคือมักจะจ้างตลอดชีวิตหรือเกือบตลอดชีวิต การพัฒนาพนักงานจะเป็นไปอย่างเข้มข้นคือ หลังจากจ้างเข้ามาแล้วก็มีการฝึกงานจริง พนักงานได้อยู่หน้าสถานที่ทำงานจริงตลอดเวลา ได้รับการสั่งสอนอบรมจริง ๆ จากพนักงานรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์และทักษะสูงกว่า เพื่อนร่วมงานมีความเป็นครอบครัวขยาย (Extended Family) มากกว่าเป็นเพื่อนร่วมงาน (Colleagues) โดย SME ที่เป็นโรงงานหรือมีลักษณะของการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิกส์จะมีลักษณะนี้ชัดเจนมาก และทำให้พัฒนา Know-How ของบริษัทนั้น ๆ ต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ จากการกลั่นกรองประสบการณ์ทำงานจริงและระบบการถ่ายทอดฝีมืออันเข้มข้นดังกล่าว


อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบันที่ญี่ปุ่นรับแนวคิดตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ SME จำนวนมาก (ประมาณ 60% ของ SME ทั้งหมด) ประสบปัญหาใหญ่คือ ขาดผู้สืบทอดกิจการ และ ขาดพนักงาน เพราะพนักงานวัยรุ่นนิยมไปสมัครงานในองค์กรใหญ่ ๆ หรือองค์กรต่างชาติที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า เนื่องจากความมั่นคง ภาพลักษณ์ของบริษัท รายได้ที่สูงกว่า และไม่ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเท่ากับ SME หากหมด Passion ก็สามารถเปลี่ยนงานได้โดยไม่ต้องเกรงใจอะไรหลายอย่างตามขนบญี่ปุ่นเดิม

สำหรับเมืองไทยจึงจัดเป็นโอกาสดีที่จะพิจารณาธุรกิจ SME ของญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ประการแรกคือ ตลาดค้าปลีกของญี่ปุ่นมีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐฯ แต่ญี่ปุ่นยังคงพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารจากต่างประเทศในสัดส่วนถึง 30% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด ในขณะที่ SME ญี่ปุ่นค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปจากประเทศญี่ปุ่นหลายหมื่นแห่งเนื่องจากไร้ผู้สืบทอดและไร้พนักงาน จึงเป็นโอกาสอันดีของ SME ฝั่งไทยที่อาจจะสามารถเข้าไปตีตลาดญี่ปุ่นได้ อีกประการคือ SMEs ญี่ปุ่นขาดผู้สืบทอดกิจการและขาดแคลนพนักงาน มี SME ญี่ปุ่นจำนวนมากพร้อมที่จะถ่ายทอด Know-How กับพันธมิตรฝั่งไทย หากเข้าถึงผู้ประกอบการ SME ญี่ปุ่นที่มีความรู้ความสามารถ และมีทัศนคติเปิดกว้างพร้อมจะ “เป็นครอบครัวขยายกับพันธมิตรต่างชาติ” ก็จะเป็นโอกาสดีสำหรับเจ้าของ SME ฝั่งไทยจำนวนมากด้วย


เรื่องโดย : ดร. วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรข้ามชาติ, อาจารย์และวิทยากรหลายสถาบัน


อ้างอิง : 1 https://www.nikkei.com/article/DGXKZO59317670Z10C20A5EA2000

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง