ธุรกิจไอดอลแบบญี่ปุ่น

ในช่วง 3-4 ปีมานี้เราจะได้ยินคำว่า “นวัตกรรม” กันบ่อย ซึ่งมักจะมีความหมายในเชิงของเทคโนโลยี แต่จากงานวิจัยของผู้เขียนเองชื่อ “ Revisiting The Notion of Innovation and Its Impact on Thailand’s Economic Policy: A Case Study of Japanese Manga ” นวัตกรรมสามารถมีความหมายได้กว้างกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะนวัตกรรมหมายถึงการคิดค้นสิ่งใหม่ที่สร้างคุณค่าในเชิงธุรกิจหรือในเชิงเศรษฐกิจได้


บทความทั้ง 5 บทความต่อไปนี้จึงจะพูดถึง “นวัตกรรมทางวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น” ที่คัดเลือกมาแล้วทั้งหมด 5 เรื่อง ซึ่งสร้างทั้งมูลค่าในเชิงธุรกิจ และมีคุณค่าในเชิงสังคมและวัฒนธรรมโดยในวันนี้จะพูดถึงเรื่อง ”ธุรกิจไอดอลแบบญี่ปุ่น”

cultural-innovation-01

แต่เดิมธุรกิจบันเทิงอย่างเช่น ละคร ภาพยนตร์ หรือเพลง ของญี่ปุ่นนั้น ศิลปินจะค่อนข้างถือตัวหรือไว้ตัวมาก เพราะตัวของศิลปินเองนั้นถือเป็นสินค้าของบริษัท ศิลปินจึงไม่มีสิทธิ์นำตัวเองไปถ่ายรูปเล่นกับใครตามใจชอบได้ เพราะถือว่าเป็นการใช้สินค้าของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต ศิลปินญี่ปุ่นจึงมีความเข้าถึงยากกว่าศิลปินไทยที่เดินเจอโดยบังเอิญก็สามารถทักทายพูดคุยหรือขออนุญาตเจ้าตัวถ่ายรูปอย่างให้เกียรติได้บ้างตามกาลเทศะ (คือไม่ใช่ไปแอบถ่าย แต่ขออนุญาตถ่ายและได้รับความยินยอมจากศิลปินแล้ว)


สินค้าหลักของธุรกิจบันเทิงจึงเป็นการขายเพลง ขายละคร ขายภาพยนตร์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วงการบันเทิงก็ถูก disrupted มากขึ้น จนในที่สุด ผู้บริโภคไม่ซื้อ CD เพื่อฟังเพลง หรือไม่ซื้อ DVD เพื่อชมละครหรือภาพยนตร์กันอีกต่อไป การเกิดธุรกิจไอดอลญี่ปุ่นแนวใหม่อย่าง AKB48 จึงจัดเป็นนวัตกรรมทางวัฒนธรรมในรูปแบบหนึ่งได้ โดย AKB48 มีการ disruption ในตัวเองในหลายประเด็น ข้อแรก ศิลปินญี่ปุ่นปกติจะเข้าถึงยาก มีโอกาสน้อยมากที่แฟนคลับจะได้พบตัวเป็น ๆ แต่ AKB48 สร้างวงแนวใหม่คือ "ไอดอลที่คุณสามารถเข้าถึงได้บ่อย ๆ" เช่น งานจับมือ งานขอลายเซ็น งานถ่ายภาพคู่ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของแฟนๆ

ประเด็นต่อมา การสร้างวงไอดอลแนวใหม่แบบ AKB48 มีการนำเอาแนวคิดของมังงะประเภทโชโจะมังงะ (少女漫画: การ์ตูนสำหรับวัยรุ่นผู้หญิง) มาใช้ในการพัฒนาวงมากพอสมควร  (Link บทความ "การสร้างสรรค์การ์ตูนและอนิเมชั่นของญี่ปุ่น") ถ้าเป็นมังงะประเภทโชเน็นมังงะ (少年漫画: การ์ตูนสำหรับวัยรุ่นผู้ชาย) จะต้องมีลักษณะเด่น 3 ข้อคือ แสดงให้เห็นมิตรภาพ (友情), ความวิริยะอุตสาหะของตัวละคร (努力), และชัยชนะที่ได้มาจากความวิริยะอุตสาหะนั้น (勝利) แต่มังงะประเภทโชโจะนั้นต่างจากของโชเน็นเล็กน้อย คือโชโจะมังงะจะต้องมีลักษณะเด่น 3 ข้อคือ เกี่ยวกับความรัก (恋愛), มีอุปสรรคหรือความขัดแย้ง (葛藤), การเติบโตของตัวละครหลังจากผ่านอุปสรรคหรือความขัดแย้งนั้น (成就)


ดังนั้น การทำวงแบบไอดอลจะไม่เน้นความสมบูรณ์แบบของตัวไอดอล แต่จะให้ความสำคัญกับความไม่สมบูรณ์แบบ เพราะต้องการให้แฟนคลับมีความรักในตัวน้อง ๆ และเอาใจช่วยในความไม่สมบูรณ์แบบนั้น เอาใจช่วยให้น้อง ๆ ฝ่าฟันอุปสรรคหรือความขัดแย้งใด ๆ ในชีวิต เพื่อการเติบโตของน้อง ๆ ในอนาคต ดังนั้นธุรกิจไอดอลจึงไม่เน้นคนหน้าตาสวยมากระดับเพอร์เฟค, ไม่เน้นขาย CD หรือขายเพลง, ไม่เน้นขาย DVD หรือขายละครและภาพยนตร์ แต่เน้นขาย "ประสบการณ์ดี ๆ" ที่แฟนคลับได้รับจากการเอาใจช่วยน้อง ๆ ไอดอลที่ไม่เพอร์เฟคนั่นเอง

ดังนั้น ธุรกิจไอดอลจึงต้องมีจำนวนสมาชิกหลายคน ซึ่งเป็นลักษณะของทั้งโชเน็นและโชโจะ ว่าจะต้องมีตัวละครเอกหลายตัวที่มีคาแร็คเตอร์ต่าง ๆ กันไปเพื่อให้แฟน ๆ ได้ชื่นชอบ ไอดอลเน้นความเป็นวัฒนธรรมกลุ่ม การทำงานเป็นทีม แม้จะมีคาแร็คเตอร์ต่างกัน มีความขัดแย้งกันในวงบ้าง แต่ต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะเป็นสมาชิกวงเดียวกัน


ธุรกิจไอดอลจึงเป็นนวัตกรรมทางวัฒนธรรมแนวใหม่ทีสร้างรายได้จำนวนมหาศาล เพราะไม่ยึดติดกับรูปแบบว่าต้องขายอะไรเป็นสินค้า แต่เอาความรู้สึกและประสบการณ์ของแฟน ๆ มาเป็นสินค้าแทน เป็นการพัฒนาสินค้าแนวใหม่ สามารถเป็นได้ทั้งเพลง, ละคร, ภาพยนตร์, อีเว้นท์ ฯลฯ ค้นพบตลาดใหม่ ๆ ซึ่งเดิมอิ่มตัวไปแล้ว และสามารถสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้นได้ใน Platform ของธุรกิจบันเทิงแบบเดิม นำไปสู่การสร้างวงไอดอลอีกมากมายทั้งในญี่ปุ่น และในไทย เช่นวง BNK48, Sweat16, Fever, SY51, Siam Dream เป็นต้น ต้องจับตามองกันต่อไปว่านวัตกรรมทางวัฒนธรรมของวงไอดอลแบบญี่ปุ่นจะมีวงจรชีวิตยืนยาวเพียงใดในประเทศไทย


บทความโดย : วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศ อาจารย์สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ ล่าม และวิทยากรหลายสถาบัน

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง