อิสระในการแสดงความคิดเห็น ขอบเขตควรอยู่ตรงไหน รู้จักความผิดฐานหมิ่นประมาท และโทษทางกฎหมาย

ในยุคปัจจุบัน เราคงกล่าวได้ว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่กำลังอินเทรนด์และมาแรงมากๆ ผู้คนต่างพูดถึงเรื่องนี้อย่างมากมาย และบางครั้งหลายคนสงสัยว่าเมื่อมีสิทธิเสรีภาพมากๆ ในการแสดงออกทางความคิดเห็นแล้ว เราก็ควรต้องรู้ด้วยว่าเรามีสิทธินั้นแค่ไหนอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนตอนนี้เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความหรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในสื่อออนไลน์ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นหรือการพูดถึงคนอื่นทำได้แค่ไหนอย่างไรที่จะไม่ทำให้คนโพสต์เดือดร้อน


วันนี้อยากขออนุญาตยกตัวอย่างที่ทุกคนน่าจะเห็นภาพตามได้ชัดๆ ถึงกรณีข่าวดังในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับนักแสดงสาวแนวหน้าของวงการที่ลุกขึ้นมาฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่โพสต์และแสดงความเห็นในแง่ไม่ดีต่อเธอในสื่อโซเชียลต่างๆ ทั้งในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมส่วนตัว หรือในเพจรวมข่าวคนดังต่างๆ โดยเธอได้บอกว่าข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อตัวเธอ และทำให้เธอได้รับความเดือดร้อนในหลายแง่มุม คนที่โพสต์แบบนั้นอาจจะโดนฟ้องข้อหาอะไรบ้าง และมีโทษตามกฎหมายอย่างไร


อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ว่าอะไรที่พูดไปแล้วมีทางทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เรียกได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องดูว่าเรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือคนที่ฟังจะเชื่อในสิ่งที่ผู้พูดว่ากล่าวหรือไม่ แต่จะเป็นความผิดตามกฎหมายอะไรจะต้องมาดูกันในรายละเอียด


กรณีแรกคือการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษเสียค่าปรับและโทษจำคุก ได้แก่ ความผิดอันมาจากการใช้ข้อความอะไรก็ตามที่ ‘กล่าวถึงผู้อื่นและทำให้ผู้นั้นเดือดร้อน เสียชื่อเสียง’ (อาจเป็นข้อความที่เป็นความจริงหรือไม่จริงก็ได้) หรือ ‘เป็นข้อความที่เป็นเท็จ’ (พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือกุเรื่องขึ้นมา) ข้อความเหล่านั้นเป็นข้อความที่เราไม่สามารถยกขึ้นมาพูดเพื่อว่ากล่าวผู้อื่นได้ เพราะมันจะเข้าข่ายการกระทำผิดที่เป็นการหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ที่ระบุไว้ว่า


“ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”


กรณีที่สอง การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามกฎหมายอาญา ได้แก่ การหมิ่นประมาทที่ทำโดยเอกสาร ภาพวาด ที่มีการกระจายข้อมูลทางสื่อต่างๆ หรือด้วยการป่าวประกาศ ตัวอย่างเช่น การเอาข้อความที่กล่าวว่านั้นไปแสดงอยู่ในข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือไปโพสต์ข้อความว่าร้ายนั้นในสื่อโซเชียลต่างๆ กรณีนี้จะถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่จะมีโทษหนักขึ้น เพราะมีการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ และมีขอบเขตความเสียหายที่สูงขึ้น โดยโทษจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

freedom-of-expression-legal-02

นอกจากความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาข้างต้น การโพสต์ข้อความว่าร้ายผู้อื่นในสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเขียนคอมเมนต์ การเขียนข้อความใดๆ เพื่อว่าร้ายผู้อื่นในเฟซบุ๊ก หรือคอมเมนต์ใต้ภาพอินสตาแกรมส่วนตัวของบุคคลใดๆ ก็ตาม เช่น กรณีของนางเอกสาว อาจถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีสองกรณีคือเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้และความผิดอันยอมความได้ โดยความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์จะถือเป็นความผิดที่มีโทษสูงและแรงกว่า เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่มีผลกระทบในวงกว้าง


ทั้งนี้ จะผิดกฎหมายอะไรบ้าง กฎหมายข้อไหน และรับโทษตามกฎหมายอย่างไร เป็นกรณีที่ผู้เสียหายต้องฟ้องคดีต่อศาล และศาลจะตัดสินความผิดโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายถูกกระทำและพยานหลักฐานว่าเข้าความผิดกรณีใด โดยหากฟ้องเป็นคดีอาญาก็จะมีโทษปรับและจำคุก ส่วนถ้าผู้เสียหายต้องการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่ถูกกล่าวหาในทางร้ายก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าค่าเสียหายที่ได้รับควรเป็นเท่าไร ซึ่งพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ค่าเสียหายจากการหมิ่นประมาทผู้มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง นักธุรกิจรายใหญ่ นักการเมือง หรือผู้มีชื่อเสียงทางสังคม ก็จะมีจำนวนสูงกว่าค่าเสียหายที่บุคคลธรรมดาเรียกได้ เนื่องจากบุคคลที่มีชื่อเสียงจะได้รับผลกระทบจากการหมิ่นประมาทที่มากกว่า เพราะมีความคาดหวังจากสังคมที่สูงกว่า เป็นต้น


หรือในกรณีพูดอ้อมๆ พูดตัวย่อ พอนึกคันไม้คันมือหมั่นไส้ใครก็ไปเขียนข้อความใดๆ ที่เข้าข่ายความผิดดังกล่าว เช่น “นายทหารหญิงยศร้อยเอกอักษรย่อ ‘ก’ ประจำกรม ‘อ’ ไปยกเครื่องหน้ามาใหม่หมดเลย สวยขึ้นผิดหูผิดตา ไม่แน่ใจว่าหมดเงินไปกี่แสน” อันนี้ล่ะที่เรียกว่าทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงหรืออาจถูกดูหมิ่น เข้าข่ายความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท และถ้าการเขียนข้อความดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ในสื่อโซเชียลจะถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ด้วย โดยจะต้องดูบริบทของข้อความและข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่กล่าวถึงสามารถระบุตัวตนผู้เสียหายได้หรือไม่ ถ้าสามารถระบุได้ กรณีนี้ก็มีความเสี่ยงที่ผู้กระทำหรือนักเลงคีย์บอร์ดจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากผู้เสียหายได้


ทั้งนี้ ในกรณีที่เราเป็นผู้เสียหาย ต้องพึงระวังไว้นิดหนึ่งว่าอายุความการฟ้องร้องคดีอาญาหมิ่นประมาทค่อนข้างน้อย คือต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 3 เดือนนับแต่รู้ว่ามีการหมิ่นประมาทนั้นเกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยเมื่อเรารู้ตัวว่ามีใครมาหมิ่นประมาท เราควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์ความผิดของผู้กระทำ


พออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนคงพอจะได้ไอเดียว่าเราควรจะระวังตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถพูดถึงบุคคลอื่นได้ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม โดยไม่เสี่ยงต่อการโดนฟ้องร้อง และเหล่าผู้ที่ชอบแสดงความคิดเห็นต่างๆ คงจะได้ข้อคิดว่าไม่ควรพิมพ์หรือทำอะไรที่อาจทำให้วุ่นวายไปต่อสู้คดี ซึ่งจะทำให้ทั้งเสียทรัพย์ เสียใจ และเสียเวลาหากถูกฟ้องร้องดำเนินคดี


บทส่งท้ายเปรียบเทียบความผิดตามกฎหมายแพ่งและอาญาเรื่องการหมิ่นประมาทตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่เรียกว่า ‘หมิ่นประมาททางแพ่ง’ กำหนดอยู่ในหมวดละเมิด คือการทำให้ผู้อื่นเสียหาย และผลของมันคือผู้กระทำต้องชดใช้ ‘ค่าเสียหาย’ ตรงนี้มีความแตกต่างกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาทที่ได้เล่าไปตอนต้นพอสมควร โดยการหมิ่นประมาททางแพ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือทำการละเมิดต่อชื่อเสียงของบุคคลอื่น


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ระบุว่า “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

ตัวอย่างคดีหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2557


การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนอาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัล แต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328


สรุปใจความสำคัญ
 

  • อะไรที่พูดไปแล้วมีทางทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เรียกได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องดูว่าเรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือคนที่ฟังจะเชื่อในสิ่งที่ผู้พูดว่ากล่าวหรือไม่ แต่จะเป็นความผิดตามกฎหมายอะไรจะต้องมาดูกันในรายละเอียด 
  • กรณีแรกคือการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษเสียค่าปรับและโทษจำคุก ได้แก่ ความผิดอันมาจากการใช้ข้อความอะไรก็ตามที่ ‘กล่าวถึงผู้อื่นและทำให้ผู้นั้นเดือดร้อน เสียชื่อเสียง’ (อาจเป็นข้อความที่เป็นความจริงหรือไม่จริงก็ได้) หรือ ‘เป็นข้อความที่เป็นเท็จ’ (พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือกุเรื่องขึ้นมา) 
  • กรณีที่สองคือการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามกฎหมายอาญา ได้แก่ การหมิ่นประมาทที่ทำโดยเอกสาร ภาพวาด ที่มีการกระจายข้อมูลทางสื่อต่างๆ หรือด้วยการป่าวประกาศ ตัวอย่างเช่น การเอาข้อความที่กล่าวว่านั้นไปแสดงอยู่ในข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือไปโพสต์ข้อความว่าร้ายนั้นในสื่อโซเชียลต่างๆ กรณีนี้จะถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่จะมีโทษหนักขึ้น เพราะมีการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ และมีขอบเขตความเสียหายที่สูงขึ้น 


บทความโดย : ดร.สาธิต ผ่องธัญญา  ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์


ขอบคุณข้อมูล : The Standard Wealth