ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
คำมั่นโฆษณาว่าจะให้รางวัลกับผลทางกฎหมาย
เทศกาลปีใหม่ปี 2021 ที่เพิ่งจะผ่านไปนี้ คงเป็นปีใหม่ที่ไม่เหมือนปีไหน ๆ เราทุกคนคงได้ฉลองกับสมาชิกในครอบครัวที่เรารักและเพื่อนสนิทไม่กี่คนเท่านั้น เพราะเราต้องรักษาระยะห่างเพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เราคงได้รับทราบข่าวเหตุการณ์ที่มีคำประกาศจากผับแห่งหนึ่ง สมมติว่าชื่อ “ผับวัดใจ” ว่าจะให้เงินเป็นจำนวน 100,000 บาท หากมาฉลองปีใหม่ที่ผับแล้วกลับไปติดเชื้อ COVID-19 และจำนวน 1,000,000 บาท หากติดเชื้อแล้วเสียชีวิต สมมติว่ามีลูกค้ามาฉลองปีใหม่ที่ผับวัดใจของเราแล้วติดเชื้อขึ้นมาจริง ๆ เจ้าของผับจะต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวตามที่ประกาศไว้หรือไม่ จะอ้างได้หรือไม่ว่า ที่พูดไปนั้นเป็นการพูดเล่น ไม่ได้หมายความตามนั้นจริง ๆ หรอก
คำประกาศว่า ถ้ามาฉลองปีใหม่ที่ผับวัดใจ แล้วติดเชื้อหรือเสียชีวิต จะได้เงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ในทางกฎหมาย เรียกถ้อยคำแบบนี้ว่า “คำมั่น” ซึ่งหมายถึง การแสดงเจตนาที่บุคคลหนึ่งให้ไว้กับอีกบุคคลหนึ่งว่าจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับกรณีคำประกาศของผับวัดใจนี้ กฎหมายเรียกว่า “คำมั่นโฆษณาว่าจะให้รางวัล” คือเป็นการแสดงเจตนาให้คำมั่นโดยการโฆษณา มิได้มุ่งไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ตามมาตรา 362 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลออกโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใด ท่านว่าจำต้องให้รางวัลแก่บุคคลใด ๆ ผู้ได้กระทำการอันนั้น แม้ถึงมิใช่ว่าผู้นั้นจะได้กระทำเพราะเห็นแก่รางวัล”
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นคำมั่นโฆษณาจะให้รางวัลเช่นเดียวกัน ก็คือ นายบุญหนักลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่า หากใครสามารถรักษา ด.ช. บุญล้อม ลูกชายของตน ให้หายจากอาการป่วยที่เป็นมาตั้งแต่เกิดได้ จะให้รางวัล 1,000,000 บาท
ไม่ว่าจะเป็นคำมั่นแบบไหน รวมถึงคำมั่นโฆษณาว่าจะให้รางวัลในกรณีนี้ กฎหมายถือว่าเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อผู้ให้คำมั่นได้แสดงเจตนาให้คำมั่นโดยผ่านการคิดและตัดสินใจแล้ว และยังกระทำด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกใครบังคับหรือถูกใครหลอก ทั้งยังต้องการก่อให้เกิดผลผูกพันตามกฎหมาย คำมั่นนั่นย่อมมีผลตามกฎหมายแล้ว ดังนั้น เจ้าของผับผู้ให้คำมั่นจึงต้องรับผิดชอบในคำมั่นที่ตนได้ประกาศออกไป หากว่ามีลูกค้าที่มาเที่ยวผับแล้วติดเชื้อ COVID-19 จากผับมาแสดงตนขอรับเงิน 100,000 บาท เจ้าของผับก็จะต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้ลูกค้าตามคำมั่นที่ตนได้ประกาศไว้
และในทำนองเดียวกัน หากลูกค้าเกิดเสียชีวิตเพราะติดเชื้อ COVID-19 ทายาทตามกฎหมายหรือทายาทตามพินัยกรรมของลูกค้า ก็มีสิทธิได้รับเงินตามคำมั่นดังกล่าวจากเจ้าของผับเช่นกัน
คำพูดที่ผู้ใหญ่มักใช้สอนเราอยู่บ่อย ๆ ว่า “พูดแล้วอย่าคืนคำ” ก็ยังคงใช้ได้กับเหตุการณ์นี้ จะพูดให้คำมั่นสัญญาอะไรกับใคร ต้องคิดตรึกตรองให้แน่ใจเสียก่อนว่าเรารักษาคำมั่นนั้นได้หรือไม่
บทความโดย : กรรภิรมย์ โกมลารชุน