จ้างแรงงานต่างด้าวอย่างไรให้ “ถูกทุกข้อ”

รู้หรือไม่ว่าเมื่อประเทศไทยเริ่มโน้มเอียงสู่การเป็น Grey Society หรือสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น คนวัยทำงานยิ่งขาดแคลน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลายด้านที่ยังเอนหลังพิงแรงงานมหาศาล ทำให้ “แรงงานต่างด้าว” เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการค้ำยันเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้มีพี่น้องจากเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาสู่ตลาดแรงงานไทยกว่า 2.5 ล้านคน ทว่านอกจากการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ให้ถูกขั้นตอนกฎหมายแล้ว ยังมีข้อควรรับรู้และทำตาม เพื่อการเป็นนายจ้างที่ดี สร้างความสุข พัฒนาฝีมือและอยู่กับเราไปได้ยาวๆ


ขั้นตอนแรก : ขอโควต้าแรงงานต่างด้าว


การนำเข้าแรงงานต่างด้าว อย่าละเลยในการปฏิบัติตามช่องทางที่ถูกต้อง สำหรับการนำเข้าแรงงานใหม่ในปัจจุบัน ไม่ว่านายจ้างจะดำเนินการเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการแทน ต้องอยู่ภายใต้ระบบของบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศต้นทาง ซึ่งหากดำเนินตามขั้นตอนแล้ว รับรองว่าค่าใช้ไม่ได้สูงอย่างที่คิด


นายจ้างสามารถไปสู่ขอ “โควต้า” แรงงานที่สำนักงานาจัดหางานประจำจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครในพื้นที่ 1-10 ตามแต่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ยื่นหลักฐานของฝั่งนายจ้าง อาทิ หนังสือรับรองการจดทะเบียน เอกสารประกอบธุรกิจ พร้อมแบบ นจ.1 แจ้งความต้องการจ้างคนต่างด้าว ซึ่งจะมีระบุความต้องการ อาทิ ประเภทของกิจการ จำนวน สัญชาติ อัตราค่าจ้าง และระยะเวลาการจ้างงานจากนั้น “ยื่นคำร้องขอนำเข้า” ที่สำนักงานจัดหางาน ด้วยการยื่นแบบ นจ.2 คำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ หนังสือแต่งตั้ง สัญญาจ้างงาน เอกสารนายจ้าง โดยคำร้องจะถูกส่งไปยังประเทศต้นทางของแรงงานประเทศที่ต้องการ เมื่อประเทศต้นทางรับคำร้องแล้วจะรับสมัคร คัดเลือก และ “ยื่นบัญชีรายชื่อ” กลับมาให้นายจ้างไทยได้ส่องชื่อเสียงเรียงนามของว่าที่ลูกจ้างกันให้ดีๆ จึงเข้าสู่การทำสัญญา


ขั้นตอนที่ 2 : นายจ้างยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ออก e-Work Permit


เล็งและเลือกกันจนถูกอกถูกใจแล้ว ต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของนายจ้างในการ “ขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว” ยื่นเรื่องสำนักงานจัดหางาน พร้อมบัญชีรายชื่อ และแบบตท.2 คำขอรับใบอนุญาตทำงาน โดยชำระค่าคำขอและค่าธรรมเนียม 1,900 บาท และวางเงินหลักประกัน 1,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน แต่หากจ้างงาน 100 คนขึ้นไป ชำระรวมเบ็ดเสร็จไปเลยที่ 1 แสนบาท และเมื่อนายจ้างกับลูกจ้างหากันจนเจอแล้ว แต่จะมาพบปะกันทันทีเลย ยังทำไม่ได้ทันที จนกว่ากรมการจัดหางานจะดำเนินการอนุญาตนำเข้า แจ้งการอนุญาตให้นายจ้างทราบ และแจ้งสถานสถานเอกอัครราชฑูตไทยในประเทศต้นทาง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยเตรียมค่าธรรมเนียมตรวจลงตราวีซ่าไว้ 500 บาท ระหว่างนี้ ว่าลูกจ้างต่างชาติจะถูกส่งไปอบรมก่อนทำงาน ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง เมื่อขั้นตอนเรียบร้อยจึงจะได้รับ E-Work Permit

foreign-labour-01

ขั้นตอนที่ 3 : เข้าระบบประกันสุขภาพ


แค่นั้นยังไม่พอ แรงงานต้องผ่านการตรวจสุขภาพและเข้าระบบการประกันสุขภาพด้วย โดยนายจ้างต้องนำส่งใบรับรองแพทย์ที่สำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับ E-Work Permit ค่าธรรมเนียมตรวจสุขภาพ 500 บาท นอกจากนั้น นับตั้งแต่แรงงานของเราเข้ามาในประเทศแล้ว ต้องแจ้งที่พักอาศัยใน 24 ชั่วโมง เป็นการยืนยันอีกด้วย


สิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของแรงงานต่างด้าว


เมื่อได้รับการจัดสรร เปิดประตูรั้วรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาแล้ว ต้องอย่าลืมว่าต้องจัดสรร “สิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย” ตามที่พวกเขาพึงได้รับ และดูแลลูกจ้างโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อสัญชาติ

  • ค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดให้เทียบเท่ากับคนไทย โดยใช้เกณฑ์ของแต่ละจังหวัดอ้างอิงได้เลย แต่หากได้แรงงานที่มีคุณภาพมาอยู่ในความดูแลแล้ว ควรจัดสรรค่าตอบแทนให้สมน้ำสมเนื้อ นอกจากลูกจ้างจะมีความสุขในการทำงาน ส่งผลให้กิจการไม่สะดุดล้มแล้ว ยังหลีกเลี่ยงการต้องคอยผลัดเปลี่ยนแรงงานกลุ่มใหม่ๆ เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีก

  • ระบบประกันสังคม : อย่าลืมว่าลูกจ้างต่างด้าวเองก็มีสิทธิในการเข้าระบบประกันสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้นายจ้างเองย่อมได้รับประโยชน์ด้วย เพราะเท่ากับมีกฎหมายช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์อีกต่อ

    แม้นายจ้างต้องจ่ายสมทบเพิ่มเข้าระบบประกันสังคมทุกเดือน แต่เราได้เห็นอานิสงส์ของการหมั่นหยอดเงินสมทบอย่างแจ่มแจ้งกันไปแล้วในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โรคภัย เมื่อประเทศตกอยู่ในภาวะ “ล็อกดาวน์” เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด 19 ประกันสังคมจะจ่ายชดเชย 75% ทันทีให้แก่กิจการที่ต้องปิดดำเนินการตามคำสั่งโดยปริยาย

           

สุดท้ายต้องอย่าลืมว่า แม้จะข้ามแดนมาจากต่างถิ่น แต่แรงงานต่างด้าวก็เป็นมนุษย์ที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี และค่าตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อนำส่งกลับไปเลี้ยงคนในครอบครัวที่รออยู่ การจ่ายค่าจ้างให้ครบจำนวนและตรงเวลา เป็นสิ่งที่ควรทำและมีกฎหมายคุ้มครองพวกเขาต่อสิทธิข้อนี้ชัดเจน และมีบทลงโทษแน่ชัดสำหรับนายจ้างที่ฝ่าฝืน รวมถึง “การดูแลจิตใจ” เอื้อเฟื้อจัดสรรสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ถูกสุขอนามัย ดูแลแบบเข้าถึง “ใจเขาใจเรา” ย่อมทำให้นายจ้างอยู่ร่วมกับลูกจ้างอย่างสบายใจไร้กังวลทั้งสองฝ่ายแน่นอน


ที่มา
https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/7759f3fdda21a4c8f418c846118625c5.pdf
https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/nakhonsithammarat_th/9d1aa580730b1105a50d1b7505400f2d.pdf
https://www.matichon.co.th/columnists/news_2481326
https://www.matichon.co.th/politics/news_2496786
https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/d841d094bae6bed7107b7052004f3725.pdf
https://www.facebook.com/permalink.php?id=453586038381944&story_fbid=461412564265958
https://www.youtube.com/watch?v=MtnVS8yLGtY