ปิดช่องโหว่ ‘พินัยกรรมปลอม’ ก่อนเป็น ‘มรดกเลือด’

ทุกคนคงเคยดูละครหลังข่าวกันนะคะ คนชอบหาว่าละครไทยเนื้อหาเป็น Soap Opera ไม่แย่งแฟนกันก็แย่งมรดกกัน แต่จริงๆ แล้วที่ว่าน้ำเน่านั้นมีพื้นฐานมาจากเรื่องจริงเกือบทั้งนั้น เพราะชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร วันนี้เลยอยากมาชวนคุยเรื่องการส่งต่อมรดกโดยพินัยกรรม ว่าจะทำพินัยกรรมให้รัดกุมอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการมีคนมากล่าวหาว่าเป็น พินัยกรรมปลอม หรือเป็น พินัยกรรมที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จนทำให้หลายๆ ครั้ง มรดกที่ถูกส่งต่อมานั้นกลายเป็น ‘มรดกเลือด’


เล่ากันสักนิดว่าพินัยกรรมคืออะไร ทำได้อย่างไรบ้าง พินัยกรรมคือคำสั่งสุดท้ายที่เจ้ามรดกทำไว้ก่อนเสียชีวิต โดยกำหนดว่าเมื่อเสียชีวิตจะยกทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกของตนให้กับใครบ้าง ทรัพย์สินที่จะยกให้กับผู้อื่นได้นั้นต้องเป็นทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้ามรดกในขณะที่เจ้ามรดกเสียชีวิต กฎหมายได้กำหนดแบบของพินัยกรรมไว้ 5 แบบ แต่แบบที่สะดวกและนิยมทำกันมี 2 แบบคือ พินัยกรรมแบบธรรมดา และพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ วันนี้เราจะไม่เล่าซ้ำว่าพินัยกรรมตามแบบต้องทำอย่างไร แต่เราจะมาคุยว่าทำอย่างไรจะปิดความเสี่ยงที่จะทำให้พินัยกรรมไม่มีผลทางกฎหมาย


เคสพินัยกรรมยอดฮิตที่เป็นคดีความในศาลเรื่องแย่งชิงมรดก ส่วนใหญ่ตัวละครเจ้ามรดก (เจ้าของทรัพย์สินผู้ทำพินัยกรรม) มักมีทายาทลูกหลานเยอะ โดยทายาทเหล่านั้นเกิดจากพ่อหรือแม่คนละคนกัน เช่น เจ้ามรดกมีภรรยา 3 คน อาจจะจดทะเบียนกับคนหนึ่ง นอกนั้นแค่อยู่กินกัน ภรรยาแต่ละคนมีลูก 2-3 คน ต่อมาลูกแต่ละคนมีหลานออกไปอีกคนละสาย สายละหลายๆ คน ความขัดแย้งจะเกิดจากลูกหลานแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า หรืออีกกรณีที่ยอดฮิตคือเจ้ามรดกไม่มีลูกหลานสายตรง ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้คนใกล้ชิดที่ไม่ใช่ญาติ แต่อาจเป็นคนที่ดูแลกันมา เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมมักทำกับผู้ใกล้ชิดและทนายความ พอเสียชีวิต มีการเปิดพินัยกรรมเหมือนในละคร ลูกหลานฝั่งที่ได้รับมรดกน้อย (กว่าที่คิด) หรือไม่ได้รับเลยจะตกใจอุทานยกมือทาบอกว่า ไม่จริง พ่อไม่มีทางทำพินัยกรรมแบบนั้นแน่ๆ พ่อไม่ยกหุ้นบริษัททั้งหมดให้เธอหรอก พ่อต้องยกให้ฝั่งฉัน พินัยกรรมนี้ต้องปลอมหรือทำขึ้นมาโดยหลอกลวงพ่อให้ทำ และเรื่องนี้ก็จะนำมาสู่การฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาล ต่อสู้กันนานๆ ตั้งแต่ชั้นต้น อุทธรณ์ ถึงฎีกาที่กินเวลานานหลายปี ทีนี้เราจะมาดูกันในเรื่องที่พบเป็นประจำว่า จุดไหนเป็นจุดที่ควรให้ความสำคัญตอนทำพินัยกรรม

  1. สติสัมปชัญญะของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่ทำพินัยกรรม กฎหมายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะการทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนาของเจ้ามรดกว่าต้องการยกทรัพย์สินของตนให้ใคร ฉะนั้นเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมจึงต้องมีสติ รู้ตัวว่าตนเองกำลังทำอะไร ทำเอกสารยกทรัพย์สินให้ใคร ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีสติแล้ว หรือตื่นแต่ไม่รู้เรื่องใดๆ จำสิ่งต่างๆ ไม่ได้หรือป่วยเป็นโรคบางโรค เช่น โรคความจำเสื่อมถาวร จึงไม่อาจอยู่ในสภาพที่ทำพินัยกรรมได้ การทำพินัยกรรมโดยเจ้ามรดกที่เป็นผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่มีโรคประจำตัวต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางระบบประสาท จึงควรอย่างยิ่งที่จะมีแพทย์ประจำตัวที่ให้การดูแลมาชั่วระยะเวลาหนึ่งมาเป็นพยานในขณะทำพินัยกรรม ถ้าจะให้รัดกุมยิ่งขึ้นอาจขอให้แพทย์ประจำตัวลงนามเป็นพยานในพินัยกรรม และควรบันทึกวิดีโอระหว่างการทำพินัยกรรมเพื่อเป็นหลักฐานประกอบด้วย การมีสติสัมปชัญญะนี้ หมายถึงความระลึกได้และความรู้ตัว ความรู้สึกด้วยความรอบคอบ พูดจารู้เรื่อง บังคับร่างกายได้แม้อาจไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์


  2. การไม่ถูกหลอกลวง หรือสำคัญผิด หรือถูกชักจูงในขณะที่ทำพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมจากเจตนาที่แท้จริงของตนเอง ไม่ได้ถูกใครหลอกให้ทำ หรือถูกชักจูง หรือถูกสั่งให้ทำ เช่น กรณีลูกบอกบทให้พ่อเขียนพินัยกรรมตามที่ตนบอก แบบนี้เป็นการทำพินัยกรรมที่อาจถูกโต้แย้งว่าเป็นการสั่งให้ทำและไม่ได้ทำขึ้นจากเจตนาที่แท้จริงของผู้ทำพินัยกรรม


พินัยกรรมที่ได้ทําขึ้นเพราะสําคัญผิด หรือถูกข่มขู่ ตัวผู้ทําพินัยกรรมเองสามารถยกเลิกได้ภายใน 1 ปี นับแต่การข่มขู่จบลง หรือเมื่อเจ้าตัวได้รู้ถึงการสําคัญผิด หากเกินกำหนดจะถือว่าผู้ทําพินัยกรรมต้องการให้พินัยกรรมนั้นมีผลทางกฎหมาย แต่หากผู้ทําพินัยกรรมไม่ได้ทําการเพิกถอนด้วยตนเอง ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ทายาท หรือผู้จัดการมรดก สามารถร้องขอให้เพิกถอนได้ แต่ต้องทำภายใน 3 เดือนนับแต่ผู้มีส่วนได้เสียรู้ถึงเหตุแห่งการขอเพิกถอนและรู้ถึงผลกระทบได้เสียของตน หากผู้มีส่วนได้เสียได้รู้ถึงเหตุและผลกระทบก่อนที่ผู้ทําพินัยกรรมถึงแก่ความตายต้องทําการขอเพิกถอนภายใน 3 เดือนนับแต่ผู้ทําพินัยกรรมถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่ผู้ทําพินัยกรรมถึงแก่ความตาย

fake-testament-01

สรุปแนวทางการทำพินัยกรรมให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุดที่จะโดนปัดตกในทางกฎหมาย

  • ก่อนทำพินัยกรรมควรมีทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้ช่วยให้คำแนะนำว่าควรทำตามแบบใด เจ้ามรดกอาจชั่งใจว่าจะเรียกเหล่าทายาทมาเป็นสักขีพยานระหว่างการทำหรือไม่ ตรงนี้แต่ละบ้านต้องพิจารณาเองว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ของครอบครัวหรือไม่ ถ้าไม่น่าจะเหมาะ ควรมีทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายเป็นพยานตลอดการทำพินัยกรรมและลงนามเป็นพยาน จะให้ดีพยานทั้งสองคนในพินัยกรรมควรเป็นคนไม่มีส่วนได้เสียใดๆ ในกองมรดก และไม่ได้เป็นคนสนิทของทายาท หรือเป็นผู้ที่ทายาทคนใดที่ได้รับมรดกตามพินัยกรรมแนะนำมา


  • ควรถ่ายวิดีโอตลอดการทำพินัยกรรม (กรณีที่เจ้ามรดกอยู่ในภาวะเจ็บป่วยหรือเป็นผู้สูงอายุ)

  • เลือกวัน เวลา และสถานที่ทำพินัยกรรมที่เหมาะสม จากการศึกษาเคสที่ผ่านมา มีหลายเคสที่พินัยกรรมถูกโต้แย้งเพราะทำในสถานที่แปลกๆ ที่ไม่ใช่วิสัยที่ปกติเจ้ามรดกจะเดินทางไป หรือบางเคสถูกโต้แย้งเพราะทำในวันที่มีธุระไปทำหลายอย่างในวันนั้น เช่น คดีหนึ่งมีผู้โต้แย้งว่าวันที่ลงวันที่ในพินัยกรรมเป็นวันที่พ่อมีนัดพบหมอประจำตัวที่โรงพยาบาลซึ่งกินเวลาเกือบทั้งวัน พ่อไม่น่าจะมีเวลาเดินทางไปทำพินัยกรรมที่สำนักงานทนายความตามที่ปรากฏในพินัยกรรม ถ้าเลือกได้ควรทำเวลากลางวัน การทำที่สำนักงานทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ถ้าเดินทางไม่สะดวกก็สามารถทำที่บ้านหรือโรงพยาบาลก็ได้


  • เมื่อทำเสร็จเรียบร้อย ควรตรวจสอบว่าถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด เช่น วันที่ สถานที่ทำ เขียนให้ชัดเจน พยานลงนามครบถ้วน การพิมพ์ การเขียนถูกต้อง หลีกเลี่ยงการขีดฆ่าลบต่อเติม และฝากไว้กับพยานที่ไว้ใจฉบับหนึ่ง อีกฉบับอาจเก็บไว้เองโดยบอกคนใกล้ชิดว่าเก็บที่ไหน สถานที่เก็บควรปลอดภัย เช่น ตู้เซฟที่บ้าน การเก็บพินัยกรรมที่ตู้เซฟของธนาคารก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่อาจมีปัญหายุ่งยากในการเปิดตู้ เพราะเมื่อเสียชีวิต ตู้เซฟที่เปิดในชื่อของผู้เสียชีวิตต้องใช้ผู้จัดการมรดกมาเป็นผู้ดำเนินการแทน โดยกระบวนการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกอาจกินเวลา 1-3 เดือน (กรณีไม่มีข้อพิพาท)


ผลของพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อพินัยกรรมมีความบกพร่องต่างๆ ตามที่กล่าวมา จะส่งผลให้คำสั่งตามพินัยกรรมนั้นไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่เป็นไปตามเจตนาของเจ้ามรดกที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม โดยทรัพย์มรดกทั้งหมดก็จะตกไปแก่ทายาทโดยธรรมเสมือนว่าไม่มีการทำพินัยกรรมเลย


หากผู้ทำพินัยกรรมต้องการให้มรดกสามารถส่งต่อไปยังลูกหลานได้อย่างราบรื่น ไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ ‘มรดกเลือด’ ก็สามารถปรึกษาทนายได้ค่ะ หรือหากเป็นนักลงทุนที่มีสินทรัพย์อยู่กับธนาคารตามที่ธนาคารกำหนด ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับ Estate Planning และ Family Office ของธนาคารได้เช่นกัน เพราะการส่งต่อมรดกอย่างราบรื่นนั้นถือเป็น Wealth Preservation ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) เลยทีเดียวค่ะ


อ้างอิง:

  • ไพโรจน์ กัมพูสิริ, การทำพินัยกรรม
  • เนื้อหาการบรรยายกฎหมายลักษณะมรดก รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ฐานข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกา www.deka.supremecourt.or.th


บทความโดย คุณกมลชนก รามโกมุท ผู้อำนวยการ Estate Planning and Family Office SCB


ที่มา : The Standard Wealth