การตั้งผู้จัดการมรดก

มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้ตาย เช่น ที่ดิน เงินฝากธนาคาร หุ้น กองทุน ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินที่มีผู้อื่นยืมไป หนี้ ภาระติดพันต่างๆ ทั้งการจำนองหรือค้ำประกัน เป็นต้น   ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนควรจะต้องรู้ไว้คือ หลังจากที่ผู้ตาย หรือที่กฎหมายเรียกว่า “เจ้ามรดก” ได้ถึงแก่กรรมแล้วนั้น ถึงแม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมก็ตาม แต่ก็อาจมีปัญหาในการแบ่งมรดก ไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินได้ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หรือลูกหนี้ของเจ้ามรดกไม่ยอมชำระหนี้ กฎหมายจึงให้ตั้งผู้ที่จะมาจัดการมรดกของเจ้ามรดกซึ่งเรียกว่า “ผู้จัดการมรดก” และถึงแม้เจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมโดยจะตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมไว้หรือไม่นั้น ทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมก็มีความจำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกเช่นกัน


แต่ก่อนที่จะไปรู้จักกับผู้จัดการมรดก ยังมีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องทำความรู้จักเสียก่อน ซึ่งก็คือทายาทของเจ้ามรดกนั่นเอง ทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก มีด้วยกัน 6 ลำดับ ดังนี้

  1. ผู้สืบสันดาน คือ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม

  2. บิดามารดา ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก

  3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

  4. พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน

  5. ปู่ ย่า ตา ยาย

  6. ลุง ป้า น้า อา

นอกจากทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับดังกล่าวแล้ว คู่สมรสซึ่งจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน โดยกรณีคู่สมรส จะมีการแบ่งที่แตกต่างกับทายาทโดยธรรมประเภทญาติเพราะมีสิทธิได้รับมรดก 2 ส่วนคือ ครึ่งหนึ่งของสินสมรส และสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ตามกฎหมายลักษณะมรดก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


การรับมรดกของทายาทโดยธรรมนั้นทั้ง 6 ลำดับนั้น ไม่ได้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันหมดทุกคน เพราะหากทายาทลำดับ 1 และ 2 รวมถึงคู่สมรส ยังมีชีวิตอยู่ ก็เฉพาะแต่ทายาทลำดับนั้นเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก   ทายาทในลำดับ 3 ถึง 6 ไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเลย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้วางหลักการแบ่งมรดกของทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับ ดังนี้

  1. ถ้ามีทายาทในชั้นผู้สืบสันดาน คู่สมรสมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเหมือนเป็นทายาทชั้นบุตร กล่าวคือ เมื่อแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งแล้ว คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกเท่ากับทายาทในชั้นผู้สืบสันดานด้วย

  2. ถ้ามีทายาทในชั้นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือถ้าไม่มีบุตรแต่บิดามารดาของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิ์ได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งแล้ว คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกครึ่งหนึ่งของกองมรดก   ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันหรือบิดามารดาของเจ้ามรดก แล้วแต่กรณี มีสิทธิได้รับมรดกเพียงครึ่งหนึ่งของกองมรดกเท่านั้น

  3. ถ้ามีทายาทคือ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือลุง ป้า น้า อา หรือมีปู่ ย่า ตา ยายแล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิ์ได้มรดก 2 ใน 3 ส่วน ของกองมรดก

  4. ถ้าผู้ตายไม่มีทายาทเลย คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

นอกจากนี้ ถ้าทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันนั้นมีหลายคน ทายาทเหล่านั้นย่อมได้ส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกคนละเท่าๆ กัน

ยกตัวอย่างเช่น หากเจ้ามรดกซึ่งไม่ได้ทำพินัยกรรมมีคู่สมรส และบุตร 1 คน อีกทั้งบิดาและมารดาของเจ้ามรดกก็ยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์ของเจ้ามรดกจะถูกแบ่งในส่วนที่เป็นสินสมรสครึ่งหนึ่งให้คู่สมรสก่อน   หลังจากนั้น ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจะถูกแบ่งให้กับคู่สมรส บุตร บิดาและมารดา ในส่วนเท่า ๆ กัน   หรือหากเจ้ามรดกมีคู่สมรส แต่ไม่มีบุตร และบิดามารดาของเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก่อนเจ้ามรดก แต่เจ้ามรดกมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 3 คน   ดังนั้น เมื่อสินสมรสถูกแบ่งให้กับคู่สมรสแล้ว คู่สมรสจะได้รับมรดกอีกครึ่งนึงของทรัพย์มรดกทั้งหมด ส่วนพี่น้องทั้ง 3 คน ของเจ้ามรดกจะได้ทรัพย์มรดกอีกครึ่งนึง โดยทั้ง 3 คน จะได้รับมรดกในสัดส่วนที่เท่ากันทั้ง 3 คน


กลับมาที่ผู้จัดการมรดกตามชื่อเรื่องของเรา ผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก เป็นใครก็ได้ แต่ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลคือ ทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก หรือผู้ที่ได้รับมรดกตามพินัยกรรม หรืออาจเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของเจ้ามรดก หรือสามีภริยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีทรัพย์สินร่วมกัน เป็นต้น


คุณสมบัติของผู้จะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทโดยธรรมแล้ว ยังต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ และต้องไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้ล้มละลาย


การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกถือเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลในขณะถึงแก่ความตาย  แต่หากเจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตอำนาจศาล ซึ่งศาลที่มีอำนาจในการออกคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ต้องเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและต้องเป็นศาลจังหวัดเท่านั้น   กรณีที่ภูมิลำเนาของเจ้ามรดกอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผู้ที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งตลิ่งชัน แล้วแต่ว่าเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ของศาลใด  หากเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต้องกระทำต่อศาลจังหวัดในท้องที่ที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาก่อนถึงแก่ความตาย  นอกจากนี้ ผู้ร้องต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล จำนวน 200 บาท


เมื่อยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ศาลจะประกาศทางหนังสือพิมพ์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยให้เวลาพอสมควรก่อนถึงวันนัดไต่สวนคำร้อง เพื่อให้ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกคนอื่นได้ทราบถึงการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในครั้งนี้ หากมีผู้ใดต้องการคัดค้านก็สามารถยื่นคำคัดค้านต่อศาลได้ก่อนวันนัดไต่สวนคำร้องหรือในวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้อง และเมื่อถึงวันนัดไต่สวนคำร้อง หากเอกสารครบถ้วนและไม่มีเหตุขัดข้อง รวมถึงไม่มีผู้ใดมาคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดก ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ผู้ร้องได้ร้องขอในวันดังกล่าวเลย


เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป และมีหน้าที่รวบรวมมรดก เพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้ของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและรายการแสดงบัญชีการจัดการ โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่กองมรดก นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท เพิกเฉยไม่แบ่งมรดก หรือยักยอกทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกก็ได้


บทความโดย   วิทวัส  ออรัตนชัย