ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
‘พินัยกรรม’ เรื่องสำคัญในการส่งต่อทรัพย์สิน
สวัสดีครับ วันนี้เรื่องที่จะมานำเสนอเป็นเรื่องที่สำคัญในการส่งต่อทรัพย์สิน และเป็นวิธีการสำคัญลำดับแรกๆ ในการลดปัญหาการขัดแย้งในครอบครัว เรื่องนั้นคือการทำ ‘พินัยกรรม (Will)’ หลายคนได้ยินเรื่องพินัยกรรมแต่ไม่แน่ใจว่าควรทำไหม บางคนคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับเราเพราะเรามีสมาชิกครอบครัวจำนวนน้อย หรือว่าไม่น่าจะต้องยุ่งยากไปทำพินัยกรรม บางคนก็คิดว่ามันมีแต่อยู่ในละคร และบ้านเราก็ไม่ได้มีศึกสายเลือดที่ต้องระมัดระวังขนาดนั้น
สำหรับการจัดการทรัพย์สินของครอบครัวแล้ว เราถือว่าพินัยกรรมสำคัญมากครับ ไม่ว่าครอบครัวขนาดใหญ่หรือเล็ก หรือครอบครัวจะรักใคร่กันอยู่แล้วหรือไม่ เพราะความจริงแล้วการแบ่งทรัพย์สินให้เหมาะสมในแต่ละครอบครัวเป็นเรื่องของแต่ละคน คือไม่น่าจะมาเลียนแบบกัน และการที่เจ้าของทรัพย์สินจะแบ่งอะไรให้ใครนั้น เจ้าของทรัพย์สิน (หรือเจ้ามรดก) ต้องเป็นคนตัดสินใจเอง หากเรายังมีชีวิตอยู่ เราจะให้อะไรแก่ลูกหลานหรือใคร เรายังคิดว่ายากจะตัดสินใจบางครั้ง และถ้าเราไม่อยู่แล้ว เราก็ควรทำเอกสารกำหนดว่าเราจะให้อะไรกับใคร มากกว่าปล่อยไปตามสิทธิ์ของทายาทตามกฎหมาย ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ เราสามารถกำหนดทายาทได้จากพินัยกรรม และถ้าเราทำถูกต้องตามหลักกฎหมายแล้ว ทายาทผู้ได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของเราก็จะได้รับจริงตามนั้น ไม่ต้องกังวลครับว่าแล้วทายาทอย่างคู่สมรสหรือลูกๆ จะได้หรือไม่ เพราะเราก็จะกำหนดชื่อของพวกเขาไว้แล้วตามพินัยกรรม เมื่อกำหนดแล้ว ก็ไม่มีทรัพย์มรดกไปสู่คนอื่นที่เราไม่ต้องการจะให้แล้วครับ
ต่อมาเมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิต ทรัพย์สินและหน้าที่การจัดการมรดกจะทำได้ง่ายและตรงไปตรงมาผ่านเอกสารทางกฎหมายที่มีความสำคัญ และกฎหมายก็กำหนดแบบว่าเอกสารพินัยกรรมต้องมีองค์ประกอบของเอกสารอะไรบ้าง เพราะจะได้อ่านและใช้บังคับได้จริง เพราะคนทำพินัยกรรมไม่ได้มานั่งอธิบายได้ ทำให้คนอ่านเอกสารพินัยกรรมจะต้องอ่านแล้วเข้าใจได้ชัดเจนพอ กฎหมายจึงมาช่วยกำหนดแบบและขั้นตอนรายละเอียดนั่นเอง อีกเรื่องคือพินัยกรรมยังกำหนดได้ว่าใครจะเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งตัวผู้จัดการมรดกตั้งคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ เพราะมีบทบาทสำคัญในการจัดการทรัพย์สินมรดก ดังนั้นหากเราไม่กำหนดตัวผู้จัดการมรดกไว้ก่อน ทายาทอาจจะมีคำถามหรือเกี่ยงกันเป็นหรือไม่เป็นผู้จัดการมรดก และเป็นข้อกังวลจนนำมาสู่การบาดหมางและก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งได้ในอนาคต
ต่อมาผมขออธิบายประเด็นกฎหมายบ้างครับ เพราะไม่ทราบไม่ได้ในเรื่องพินัยกรรม เรามีเรื่องสำคัญดังนี้
1. พินัยกรรมเสมือนเป็นคำสั่งของเจ้ามรดกที่เป็นเอกสารที่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย จึงต้องทำให้ดีและครบถ้วนตามแบบแห่งกฎหมาย เช่น หากขาดวันที่ ขาดพยานในบางประเภทพินัยกรรม เราจะถือว่าพินัยกรรมนั้นโมฆะหรือเสียเปล่าตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว
2. การจัดทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดเผยให้บุคคลภายนอกรับทราบ เรื่องนี้มีข้อสอบถามกันมากเหมือนกัน เพราะจะบอกหรือไม่บอกคนในครอบครัวก็แล้วแต่เจ้าของทรัพย์ผู้ทำพินัยกรรม บางบ้านเชื่อว่าบอกให้ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไว้ก็ดี เขาจะได้ทราบเลยและชัดเจนดีเพราะอย่างไรก็แบ่งเท่ากัน แต่บางบ้านไม่บอก กลัวว่าเดี๋ยวจะทำให้บางคนเสียใจและไม่รักกันก็ได้
3. พินัยกรรมเป็นคำสั่งครั้งสุดท้าย ซึ่งแสดงเจตนากำหนดการเผื่อเสียชีวิตในเรื่องการจัดการทรัพย์สินหรือกิจการต่างๆ ของผู้ทำพินัยกรรม ว่าจะทำอย่างไรเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิต เรื่องนี้จะเห็นว่าวันที่ในพินัยกรรมนั้นจึงสำคัญมากครับ เพราะทำให้เรารู้ว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมนี้ขัดแย้งกันเองไหมหากพินัยกรรมมีหลายฉบับ บางคนอาจตัดสินใจทำใหม่ทุกครั้งทั้งฉบับเพื่อลดปัญหา
4. ระบุทรัพย์สินที่ต้องการส่งต่อให้ทายาทได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน, คอนโดมิเนียม, ที่ดิน หรือสังหาริมทรัพย์ เช่น เงินฝากในธนาคาร, ทองคำ, กองทุนประเภทต่างๆ, เครื่องประดับ เพชรพลอย รวมถึงหุ้นในและนอกตลาดหลักทรัพย์ หรืออาจระบุเป็นสิทธิ์ก็ได้ เช่น ลิขสิทธิ์ที่ตนเองเป็นเจ้าของ เป็นต้น
5. มรดกที่ระบุในพินัยกรรมยังคงอยู่ในขอบข่ายที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก (ในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท) เรื่องภาษีการรับมรดกนี้ประเทศไทยเริ่มใช้บังคับสำหรับการเสียชีวิตของเจ้ามรดกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ทำให้การเขียนพินัยกรรมเป็นเรื่องวางแผนมรดก และอาจช่วยวางแผนภาษีมรดกด้วย
6. ทายาทตามพินัยกรรมอาจเป็นบุคคลใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกในครอบครัว เช่น ถ้าจะยกทรัพย์สินให้กับวัดหรือมูลนิธิ ก็สามารถทำได้
7. ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะอายุ 15 ปี ก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังอาจเป็นเด็กอยู่ในมุมมองผู้ใหญ่ แต่กฎหมายกลับให้ทำพินัยกรรมได้ เพราะเรื่องนี้สำคัญและเด็กยังต้องทำเองได้เลย ดังนั้นถ้าใครคิดว่าพินัยกรรมไม่สำคัญเพราะฉันอายุยังน้อยนั้นอาจเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้องก็ได้
8. ผู้ทำพินัยกรรมจะยกทรัพย์สินให้ได้เฉพาะทรัพย์สินของตนเองแท้ๆ เท่านั้น เช่น เรื่องของทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาที่เป็นสินสมรส ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของสามีและภรรยาในสัดส่วนเท่าๆ กัน ทำให้สามีหรือภรรยาจะยกทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสในส่วนที่ไม่ใช่ของตนแท้ๆ ให้บุคคลอื่นไม่ได้ ดังนั้น ก่อนสามีหรือภรรยาจะยกทรัพย์สินให้บุคคลใด ต้องทราบด้วยว่าทรัพย์สินที่จะยกให้นั้นเป็นทรัพย์สินในส่วนของใคร
ในฉบับนี้ผมขอยกตัวอย่างแบบพินัยกรรมซึ่งเป็นแบบธรรมดาให้เห็นกันซักตัวอย่างหนึ่งครับ
ภาพที่ 1: ขั้นตอนการทำพินัยกรรมแบบธรรมดา
ภาพที่ 2: ตัวอย่างของแบบพินัยกรรมแบบธรรมดา
สำหรับเนื้อหาฉบับนี้ เราสรุปกันว่าพินัยกรรมมีขั้นตอนการเขียน และมีความสำคัญมากที่ต้องทำ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง เดี๋ยวครั้งหน้าเราจะหาทางสรุปเทคนิคการเขียนครับว่าเขากำหนดอะไรได้บ้างในพินัยกรรม เช่น กำหนดให้ลูกหลานไม่ขายที่ดินแบบมีกำหนดเวลาก็ทำได้ กำหนดให้ห้ามมีข้อพิพาทกันในเรื่องทรัพย์สิน เป็นต้น
บทความโดย : ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning And Family Office ธนาคารไทยพาณิิชย์
ที่มา : The Standard Wealth