น้องมีบุญพาเยือนเมืองปทุม สร้างบุญสุขใจ

“ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม” เมื่ออ่านคำขวัญประจำจังหวัดแล้ว เพื่อนๆ ทายกันถูกไหมว่า วันนี้น้องมีบุญจะพาไปเที่ยววัด ทำบุญสุขใจที่จังหวัดใด ใบ้ให้ว่าอยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ นี่เอง

น้องมีบุญจะพาไปเยือนเมืองดอกบัว หรือ “ปทุมธานี” จังหวัดที่ยังมีทุ่งนาข้าวให้เห็น เป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญมาอย่างช้านาน มีพระตำหนักมากมาย มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน และยังเป็นเมืองเศรษฐกิจจากความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรม ถึงแม้ที่นี่จะมีความเจริญมากขึ้นเพียงใด แต่จังหวัดปทุมธานีก็ยังมีวัดวาอารามเก่าแก่ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง สำหรับวัดที่น้องมีบุญจะพาไปแนะนำมีดังนี้

pathum-thani-temple-01

วัดโบสถ์

วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า “วัดสร้อยนางหงส์” ปัจจุบันเรียกว่า วัดโบสถ์ หรือ ที่ชาวบ้านรู้จักและนิยมเรียกกัน ก็คือ วัดโบสถ์หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2370 ตัววัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

วัดเก่าแก่แห่งนี้ เป็นที่ตั้ง และประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ เช่น ใบเสมาหินชนวน ศิลปะตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น รูปพระธรรม และธรรมาสน์ยอดโดมในสมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่าง หลวงพ่อเหลือ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดปทุมธานี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยศิลาทราย ตามแบบศิลปะสมัยอยุธยา โดยสาเหตุที่ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อเหลือนั้น เป็นเพราะในปี พ.ศ.2507 มีโจรลักลอบเข้ามาตัดเศียรพระพุทธรูปในโบสถ์ไปจนเกือบหมด มีเพียงหลวงพ่อเหลือเท่านั้นที่มิได้ถูกตัด สร้างความศรัทธาให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ จึงได้รอดพ้นจากพวกโจรมาได้

ภายในบริเวณวัด เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ปางเทศนาธรรมองค์ใหญ่ มีความสูงถึง 28 เมตร สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล และยังมีรูปปั้นหลวงพ่อพุทธโสธรองค์ใหญ่ ที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของวัดที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเกิดเป็นวังมัจฉา มีปลาน้อยใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมากราบไหว้สักการะองค์พระเสร็จแล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะทำบุญให้ทานกับฝูงปลาในบริเวณนี้ก่อนกลับบ้านด้วย

ที่ตั้ง 15 หมู่ที่ 1 ซอยบางกระบือ ซอย 6 ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 12160

https://goo.gl/maps/wH1evktvYqszEDd27

วัดศาลเจ้า

วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2330 แห่งนี้ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองเชียงราก โดยอยู่ในบริเวณปากคลองศาลเจ้า จึงมีนามวัดว่า วัดศาลเจ้า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2333 ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา กล่าวไว้ว่า ในสมัยหนึ่ง มีพระเจ้าน้อยมหาพรหม เป็นเจ้าเมืองทางฝ่ายเหนือ มีความรู้เกี่ยวกับเคล็ดวิชาด้านไสยศาสตร์ สามารถเรียกจระเข้ขึ้นมาจากน้ำ และทำให้เชื่องได้

ครั้งหนึ่งพระเจ้าน้อยมหาพรหมได้รวบรวมไพร่พลจำนวนหนึ่งล่องแพลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าพบพระภิกษุรูปใดมีวิชาแก่กล้าเหนือกว่าพระองค์แล้ว จะนำเอาแพที่ใช้นี้สร้างเป็นวัดถวาย จนเมื่อล่องมาถึงปากแม่น้ำอ้อม (เชียงราก) ที่นั่นมีวัดมะขามน้อยตั้งอยู่ และใกล้ๆ วัดมะขามแห่งนี้ มีพระอาจารย์รุ เป็นพระเชื้อสายรามัญ ตั้งกุฏิเป็นเอกเทศต่างหาก ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวิชาไสยศาสตร์ เมื่อพระเจ้าน้อยมหาพรหมได้ทราบถึงชื่อเสียง จึงมาขอลองวิชา โดยในครั้งแรกพระองค์ได้ถากหน้าแข้งมาทำฟืนหุงข้าว แต่ที่ไหนได้ กลับไปถากเอาเสากุฏิของพระอาจารย์จนเกือบหมด ท่านจึงเสกใบมะขามให้เป็นตัวต่อ ไปต่อยพวกบ่าวไพร่ของพระเจ้าน้อยมหาพรหม พอได้เห็นวิชาของพระอาจารย์รุเป็นที่แน่ชัดแล้ว จึงได้เสด็จขึ้นจากแพเพื่อไปนมัสการพระอาจารย์รุ ในขณะที่จะก้าวผ่านธรณีประตูกุฏิ ก็เกิดเหตุการณ์ที่พระองค์ไม่คาดคิดมาก่อน คือจะก้าวไปข้างหน้า หรือจะถอยหลังก็ไม่ได้ จึงต้องยืนคร่อมประตูอยู่เช่นนั้น จนเมื่อพระอาจารย์รุอนุญาตให้เข้าไปได้ พระเจ้าน้อยมหาพรหมจึงได้ก้าวออกจากมาจากธรณีประตู และกราบนมัสการ พร้อมบอกจุดประสงค์ว่า ต้องการสร้างวัด โดยจะมอบแพของพระองค์ และสร้างศาลาการเปรียญให้อีก 1 หลัง เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ตั้งชื่อว่าวัดศาลเจ้า ภายหลัง พระเจ้าน้อยมหาพรหมยังคงเสด็จมาที่วัดแห่งนี้เสมอ และได้ทำการสร้างอุโบสถให้อีก 1 หลัง มีพระพุทธรูปหน้าตัก 1 วา 1 องค์ ประดิษฐานไว้ที่หน้าอุโบสถ ต่อมาจึงได้ย้ายพระพุทธรูปไปประดิษฐานบนศาลาการเปรียญจนถึงปัจจุบัน

ที่วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุอีกมากมาย เช่น เจดีย์แบบรามัญ รวมถึงพระอุโบสถที่พระเจ้าน้อยมหาพรหมสร้างถวายไว้ ซึ่งได้รับการบูรณะใหม่เพื่อให้มีความสวยสดงดงามเสมอ ภายในบริเวณวัดยังมีศาลของเซียนแปะโรงสี ชาวจีนผู้เรืองเวทย์ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือมาก และนิยมมาขอพรเรื่องการเงินการงาน ธุรกิจการค้าให้เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย

ที่ตั้ง 2/1 บ้านคลองเชียงราก หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000

https://goo.gl/maps/wbHbU79B75mbtzMH7

วัดบางหลวง

วัดบางหลวง หรือเดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดสิงห์” นั้น สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือราวปี พ.ศ.2230 โดยที่มาของชื่อบางหลวงนั้น เกิดจากเมื่อครั้งขุดลอกคลองลัดเตร็ดใหญ่ ในปี พ.ศ.2151 ได้มีการค้นพบพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 2 ศอกเศษ ชาวบ้านได้นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานซ่อนไว้ภายในวัดเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่หลวงมาพบเห็น จึงเรียกกันว่า “บังหลวง” และต่อมาก็ออกเสียงเพี้ยนไปจนกลายเป็น “บางหลวง” แทน  โดยพระพุทธรูปองค์นี้คือ "หลวงพ่อเพชร" เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ตันทั้งองค์  มีความพิเศษคือ พระหัตถ์ซ้ายบิดไปมาได้ ซึ่งมีอยู่เพียงองค์เดียวในโลก

วัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ พระอุโบสถทรงไทยโบราณที่ไม่มีเสา ใช้การก่อสร้างแบบโบราณ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ และพระเจ้าสิบชาติ ซึ่งเป็นภาพเขียนศิลปะตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร นอกจากนี้ยังมีเจดีย์มอญสององค์ คือ เจดีย์มุเตา และเจดีย์ชเวดากอง ใบเสมาหินทราย และพระปทุมธรรมราช พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชรหล่อด้วยโลหะผสม หน้าตักกว้าง 3 คืบ เป็นพระประจำจังหวัดปทุมธานี ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

หากได้ไปเยือนที่วัดแห่งนี้แล้ว อย่าลืมเดินไปชมสะพานโค้งสีขาวที่ทอดตัวยาวออกไป โดยไม่มีเสากลางสะพาน ซึ่งเป็นการสร้างตามแบบตะวันตก สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยเช่นกัน

ที่ตั้ง 53 ตำบล บางหลวง อำเภอเมือง ปทุมธานี 12000

https://goo.gl/maps/hrZr9E3FsCZenYyR6

วัดน้ำวน

อีกหนึ่งวัดรามัญเก่าแก่แห่งเมืองปทุม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2214 โดยชาวมอญในสมัยสุโขทัย ที่มีนามว่า สมิงรามัญ รามสิทธิ์ ซึ่งประกอบอาชีพ ล่องแพ บุรุษผู้นี้นำซุงไม้สักมาขาย แต่เจอน้ำวนทำให้แพที่ล่องมาแตก แต่ก็ยังรอดชีวิตมาได้ เขาจึงนำไม้มาสร้างเป็นวัดขึ้น แล้วตั้งชื่อว่า วัดน้ำวนรามสิทธิ์ ต่อมาได้มีการบูรณะ และตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดน้ำวน” ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2244

วัดน้ำวน ยังเป็นวัดที่มีชื่อเสียงด้านการรักษาประสานกระดูกที่หัก ด้วยวิถีแบบมอญ และการประคบสมุนไพร โดยเจ้าของ

ความรู้นี้ คือพระอาจารย์รำภา ซึ่งได้มรณภาพไปแล้ว แต่ก็ได้ส่งต่อความรู้นั้นให้แก่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันสืบมา

ในวัดแห่งนี้ มีเจดีย์ทรงรามัญ และมีปูชนียวัตถุอย่าง พระประธานประจำอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างเมื่อปี พ.ศ.2518  สำหรับพระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางสมาธิ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2500

บริเวณหน้าวัดยังเป็นแหล่งอาศัยของปลาน้ำจืดน้อยใหญ่จำนวนมาก หลังจากไหว้พระแล้ว ก่อนกลับอย่าลืมให้ทานด้วยการโปรยอาหารให้ฝูงปลาเหล่านี้ด้วย

ที่ตั้ง 1 หมู่ที่ 6 ตำบลบางเดื่อ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000

https://goo.gl/maps/AhRb18ZUF5B2tgLJ6

วัดเทพสรธรรมาราม

เดิมทีนั้นวัดแห่งนี้เป็นสถานปฏิบัติธรรม ชื่อว่า บาย ตึ๊ก เจีย ซึ่งมีที่มาจากภาษาเขมร เป็นพรที่หลวงปู่สรวงมักกล่าวบ่อยๆ โดยคำว่า บาย แปลว่า ข้าว, ติ๊ก แปลว่า น้ำ และเจีย แปลว่า ดี เมื่อรวมกันแล้ว จึงหมายถึง การอวยพรให้มีข้าว น้ำ ดี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ให้อยู่ดีมีความสุข อุดมสมบูรณ์ นั่นเอง

วัดแห่งนี้ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2555 และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2563 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาพระสิวลี  พระอุปคุตต์ พระเศรษฐีนวโกฎิ องค์พ่อจตุคามรามเทพ  พระพรหม พระโพธิสัตว์กวนอิม หลวงปู่ทวด สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ฤาษีตาไฟ และรูปเหมือนของหลวงปู่สรวงองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวปทุมธานียิ่งนัก

ที่ตั้ง 21/2 หมู่ 3 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000

https://goo.gl/maps/A7WxFR4K5DysFyur7

น้องมีบุญ พาท่องเที่ยวสุขใจ ไหว้พระ ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ขอชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถานสร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY กันต่อ มีขั้นตอนดังนี้

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เงินก็ส่งไปเข้าบัญชีวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้วที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจสายบุญยุคดิจิทัล