3 25 30 สูตรซื้อบ้าน แบบไม่ฝืน

หนึ่งในสินทรัพย์ที่เป็นสุดยอดปรารถนาของคนส่วนใหญ่ คือ ที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่กว่าจะได้ที่อยู่อาศัยไม่ใช่เรื่องง่ายนักหากไม่ใส่ใจในการวางแผนซื้อ แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปที่จะครอบครอง


ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเห็นโครงการบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม โฆษณาและจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม จนผู้ที่ต้องการซื้อไม่รู้ว่าจะเลือกจับจองโครงการไหนดี


หลายคนทนโปรโมชั่นดี ๆ ไม่ได้ จึงตัดสินใจโดยไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมทางด้านการเงิน ถ้าหากมีความพร้อมก็รอดตัวไป แต่หากไม่พร้อมก็ต้องหาเงินมาผ่อนอีกหลายปีหรืออาจถึงขั้นต้องประกาศขาย


เนื่องจากที่อยู่อาศัยมีราคาสูง ทำให้ส่วนใหญ่จึงมักซื้อโดยอาศัยสินเชื่อจากสถาบันการเงินซึ่งเป็นภาระผูกพันในการผ่อนชำระในระยะยาว บางคนต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตกว่าจะได้ที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง บางคนมีโอกาสครอบครองที่อยู่อาศัยแต่กลับกลายเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาทางการเงิน ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวที่จะตามมา จึงควรซื้อเมื่อพร้อมเป็นดีที่สุด


สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ควรเริ่มจากการสำรวจสถานะการเงินของตัวเองว่าพร้อมแค่ไหน ด้วยสูตร “3 - 25 – 30”

อย่าซื้อเกิน 3 เท่า

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการประเมินความสามารถทางการเงินก่อนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย คือ ราคาที่อยู่อาศัยที่จะซื้อ โดยหลัก ๆ แล้วไม่ควรซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูงเกิน 3 เท่าของรายได้ที่หามาได้ในแต่ละปี เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ตกปีละ 360,000 บาท ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยไม่ควรซื้อเกิน 1,080,000 บาท


ควรมีเงินสด 25%

ทุกวันนี้ สังเกตเห็นว่าไม่ต้องมีเงินก็สามารถครอบครองที่อยู่อาศัยได้ไม่ว่าจะเป็นบ้าน บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม เพราะสถาบันการเงินให้กู้ซื้อได้เต็ม 100%


อย่างไรก็ตาม หากกู้เงินซื้อเต็ม 100% สิ่งที่ตามมาคือ ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนยาวมากขึ้น หมายความว่า จะมีภาระดอกเบี้ยในระยะยาวตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อลดภาระเงินต้นและดอกเบี้ย ควรมีเงินออมสักก้อนอย่างน้อย ๆ ประมาณ 25% ของราคาที่ตั้งใจว่าจะซื้อ


เช่น ถ้าต้องการซื้อที่อยู่อาศัย 1,080,000 บาท ควรมีเงินสดติดมืออย่างน้อย 270,000 บาท โดยเงินก้อนนี้จะนำไปเป็นเงินดาวน์ หมายความว่ากู้เงินแค่ 810,000 บาท ก็ประหยัดดอกเบี้ยได้ หรือแบ่งไปจ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตกแต่ง ซื้อข้าวของ หรือเป็นเงินเผื่อฉุกเฉิน เป็นต้น


ไม่ควรผ่อนเกิน 30% ของเงินเดือน

เพื่อให้สถานะการเงินในอนาคตมีความคล่องตัว เงินที่แบ่งไปผ่อนชำระไม่ควรเกิน 30% ของเงินเดือน เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ไม่ควรผ่อนเกิน 9,000 บาทต่อเดือน


จากหลักเบื้องต้น สรุปว่าถ้ามีรายได้รวมต่อปี 360,000 บาท หรือ 30,000 บาทต่อเดือน ควรมองหาที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1,080,000 บาท และควรมีเงินออมก่อนซื้อประมาณ 270,000 บาท ที่สำคัญไม่ควรผ่อนชำระค่างวดเกิน 9,000 บาทต่อเดือน


ตัวอย่าง เงินเดือนและราคาบ้านที่ควรซื้อ

เงินเดือน

ราคาบ้านที่ควรซื้อ

เงินสดที่ควรมี 25%

อัตราผ่อนบ้านที่เหมาะสม

ไม่ควรเกิน  30% ของเงินเดือน

20,000

720,000

180,000

6,000

30,000

1,080,000

270,000

9,000

40,000

1,440,000

360,000

12,000

50,000

1,800,000

450,000

15,000

60,000

2,160,000

540,000

18,000

70,000

2,520,000

630,000

21,000

80,000

2,880,000

720,000

24,000

90,000

3,240,000

810,000

27,000

100,000

3,600,000

900,000

30,000

นอกจากเงื่อนไขทั้ง 3 ข้างต้นแล้วยังต้องมีวินัยด้านการเงิน รู้จักซื้อที่อยู่อาศัยแบบสร้างรังแต่พอตัว สามารถรับผิดชอบทางการเงินเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น การวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยต้องดูว่ามี “เงินออม” หรือไม่ จากนั้นดู “รายได้” พอที่จะขอกู้และ “ผ่อนชำระ” อย่างสบาย ๆ โดยไม่มีแรงกดดัน