ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
8 โรคระบาดร้ายแรงครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ในรอบ 300 ปี
เราจะก้าวผ่านวิกฤติโควิดไปด้วยกัน เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มนุษยชาติต้องเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนหลักแสนหลักล้านคนทั่วโลก มนุษยชาติได้เคยข้ามผ่านความเจ็บปวด การสูญเสียมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ด้วยความเข้มแข็งและสติปัญญาก็สามารถก้าวผ่านและกลับมายืนได้แข็งแรงอีกทุกครั้ง Pandemic ซึ่งวงการแพทย์ให้ความหมายว่า เป็นการเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่ลุกลามเกินกว่าที่คาดไว้ว่าอาจจะจำกัดวงอยู่ในภูมิภาคเดียว เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้หวัดใหญ่ หรือเอชไอวี ซึ่งล้วนเป็นโรคที่สังหารประชากรโลกมากมายในประวัติศาสตร์ บทความนี้เราจะมาย้อนรอยกลับไปเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมาว่ามนุษย์ต้องผ่านการท้าทายจากโรคระบาดหนักอะไรมาบ้างแล้ว เพื่อจะได้เป็นกำลังใจให้พวกเราที่ต้องเผชิญกับ COVID-19 ในวินาทีนี้ว่า ครั้งนี้เราก็จะก้าวผ่านและเอาชนะโรคร้ายไปได้เช่นที่ผ่านมา
1. กาฬโรค โรคระบาดในปี พ.ศ. 2263 (1720)
กาฬโรค (Plague) เป็นโรคระบาดรุนแรงที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ในปี 2263 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของยุโรป มีคนเสียชีวิตทั้งหมด 100,000 คน ในเมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจริงๆ กาฬโรคได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อนแล้วตั้งแต่ช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก การแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้มีหมัดหนูเป็นตัวแพร่เชื้อ โดยหมัดหนูติดกับตัวหนูที่อยู่ใต้ท้องเรือสำเภาซึ่งเดินทางไปติดต่อค้าขายในดินแดนต่างๆ ผู้ป่วยกาฬโรคจะมีอาการตามชื่อที่ถูกเรียกกันว่า “ความตายสีดำ” หรือ “Black Death” กล่าวคือ ตามร่างกายของผู้ป่วยจะมีสีดำคล้ำอันเนื่องมาจากเซลล์ผิวหนังที่ตายไป ส่วนอาการของผู้รับเชื้อกาฬโรคจะมีแผลขนาดเท่าไข่ไก่หรือผลส้มตรงต่อมน้ำเหลืองต่างๆ จากนั้นจะมีไข้สูง ปวดตามแขนและขา เมื่ออาการหนักจะเจ็บปวดทุกข์ทรมาน กระทั่งเสียชีวิต
2. อหิวาตกโรค โรคระบาดในปี พ.ศ. 2363 (1820)
อหิวาตกโรค (Cholera) หรือที่เรียกว่า “โรคห่า” บ้างก็เรียกโรคป่วง บ้างเรียกโรคลงราก ได้ระบาดไปยังประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2363 ที่มีการระบาดจากอินเดีย เข้ามาไทย ผ่านทางปีนัง ทำให้มีคนตายจำนวนมาก ถนนหนทางเกลื่อนกลาดเต็มไปด้วยซากศพ ประชาชนอพยพหนีออกจากเมืองด้วยความกลัว การระบาดครั้งนี้มีคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงประมาณสามหมื่นคน ทั่วโลกประมาณหนึ่งแสนคน มีความรุนแรงและลุกลามจนคร่าชีวิตผู้คนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคระบาดขึ้นที่กรุงเทพฯเป็นช่วงเวลาราวหนึ่งเดือน หนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตกว่าห้าพันคน จนกระทั่ง พ.ศ.2416 ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 อหิวาตกโรคได้กลับมาระบาดอีกครั้ง และเวลาเพียงเดือนเศษหนังสือพิมพ์ ข่าวภาษาอังกฤษได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกมากถึง 6,660 คน ว่ากันว่าสถานการณ์นี้ นอกจากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่วิชาการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่ดีนัก และความรู้ด้านสุขอนามัยยังไม่แพร่หลาย อีกประการหนึ่งที่เป็นต้นทางของ “อหิวาตกโรค” ก็คือ กฎเกณฑ์ในการสัญจรข้ามประเทศที่ยังหละหลวม จนใครต่อใครสามารถผ่านเข้าออกได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทำให้มีชาวต่างประเทศพาโรคติดต่อเข้ามาโดยไม่รู้ตัว
3. ไข้หวัดใหญ่สเปน โรคระบาดในปี พ.ศ. 2461 (1920)
ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ซึ่งระบาดรุนแรงทั่วโลกระหว่างปี 2461-2463 ถือเป็นการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไข้หวัดใหญ่สเปน เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะทำให้มีผู้ติดเชื้อราว 1 ใน 3 ของประชากรโลกในยุคนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปราว 20-50 ล้านคน ในจำนวนผู้ป่วย 500 ล้านคนที่ติดเชื้อในปี 2461 มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 10-20% และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ล้านคนเฉพาะในช่วง 25 สัปดาห์แรก สิ่งที่ทำให้ไข้หวัดใหญ่สเปนแตกต่างจากไข้หวัดใหญ่อื่น ๆ คือกลุ่มผู้เสียชีวิต โดยปกติไข้หวัดใหญ่มักคร่าชีวิตกลุ่มเด็กและคนสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่อ่อนแออยู่แล้วมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ไข้หวัดใหญ่สเปนเริ่มจากการคร่าชีวิตผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง ขณะที่กลุ่มเด็กและคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนกว่า กลับเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มอื่น
4. ไข้หวัดใหญ่เอเชีย โรคระบาดในปี พ.ศ. 2499-2501 (1956-1958)
ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu) เป็นการระบาดรุนแรงครั้งใหญ่ของเชื้อไข้หวัดกลุ่มเอ (เอช2 เอ็น2) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากจีนเมื่อปี 2499 และมาหยุดระบาดเมื่อปี 2501 ในระยะเวลา 2 ปีนี้เอง ไข้หวัดใหญ่เอเชียลุกลามจากกลุ่มชาวจีนในมณฑลกุ้ยโจว ไปยังสิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐ ตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่นี้ของแต่ละแหล่งแตกต่างกันออกไป บางแหล่งคาดว่าสูงถึง 4 ล้านคน แต่ WHO ยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ราว 2 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้เกือบ 70,000 คนอยู่ในสหรัฐอเมริกา
5. ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง โรคระบาดในปี พ.ศ. 2511 (1968)
โรคไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu) ซึ่งเกิดจากเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ เอช3 เอ็น2 ถูกพบครั้งแรกในเกาะฮ่องกงเมื่อเดือน ก.ค. 2511 ก่อนลุกลามไปยังเวียดนามและสิงคโปร์ใน 3 เดือน และขยายวงไปยังอินเดีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ และสหรัฐ เชื้อไข้หวัดนี้ซึ่งกลายพันธุ์จากโรคไข้หวัดใหญ่เอเชียที่ระบาดก่อนหน้าราว 10 ปี เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์น้อยกว่า เมื่อเทียบกับไข้หวัดสเปนและไข้หวัดเอเชีย และแม้จะมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำเพียง 5% แต่ก็ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตไปกว่า 1 ล้านคน สำหรับในฮ่องกง จุดเริ่มต้นการระบาด มีผู้ป่วยมากถึง 500,000 คน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรฮ่องกงในเวลานั้น
6. เอชไอวี/เอดส์ โรคระบาดในปี พ.ศ. 2519 (1976)
โรค HIV หรือ AIDS ถูกพบครั้งแรกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อปี 2519 โรคเอชไอวี/เอดส์ ได้วิวัฒนาการตัวเองอย่างมากจนระบาดไปทั่วโลก และคร่าชีวิตผู้ป่วยกว่า 36 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2524 ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสเอชไอวี 31-35 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่ประมาณ 21 ล้านคนอยู่ในแถบซาฮาราของแอฟริกา หลังเกิดการตื่นตัวต่อโรคเอดส์มากขึ้น วงการแพทย์ทั่วโลกก็พัฒนาวิธีการในการควบคุมไวรัสเอชไอวี และทำให้หลายคนที่ติดเชื้อนี้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติขึ้น ระหว่างปี 2548-2555 จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์/เอชไอวีทั่วโลก ลดลงจาก 2.2 ล้านคน มาอยู่ที่ 1.6 ล้านคนต่อปี
7. ไข้หวัดใหญ่ 2009 โรคระบาดในปี พ.ศ. 2552 (2009)
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) 2009 เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่กลุ่ม เอ (เอช1 เอ็น1) ที่มีรายงานพบเชื้อในคนครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2552 เริ่มแพร่ระบาดในเม็กซิโก และสหรัฐ ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก เชื้อสายพันธุ์นี้มีองค์ประกอบพันธุกรรมที่เป็นผลรวมจากไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ ไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และไข้หวัดหมูที่พบในทวีปเอเชีย และยุโรป ทำให้ WHO ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เนื่องจากหวั่นวิตกว่า เชื้อเอช1 เอ็น1 อาจจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายยิ่งขึ้น เนื่องด้วยโรคดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว จึงจัดเป็นโรคติดเชื้อที่สำคัญในช่วงเวลานั้น สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) คาดการณ์ว่า โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 คร่าชีวิตประชากรโลกรวมกว่า 280,000 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตที่ WHO ยืนยันอยู่ที่ไม่ถึง 20,000 คนทั่วโลก
8. COVID -19 โรคระบาดในปี พ.ศ. 2563 (2020)
ไวรัสโคโรน่าหรือ COVID-19 เริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2563 จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 1,217,717 คน และมีผู้เสียชีวิต 65,831 คน ซึ่งทำให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ไม่สูงนักคืออยู่ที่ประมาณ 5% อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดได้ และตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลน่าจะทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้นเพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดโรคระบาดใหญ่ระดับโลกและเราก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง รวมทั้งปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก็สูงขึ้นกว่าสมัยก่อนมากมาย รวมทั้ง COVID จริงๆ แล้วมีความรุนแรงน้อยกว่าบางโรคระบาดที่ผ่านมาในอดีตคือมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ หลายๆ ประเทศก็มีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อป้องกันและหยุดการแพร่ระบาดของโรคอย่างจริงจัง ดังนั้นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อสังคม รักษาสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีอย่างสม่ำเสมอเพื่อเราจะได้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งไม่แน่นอน เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเราจะเจ็บป่วยขึ้นมาเมื่อไหร่ การมีประกันสุขภาพไว้ด้วยจะยิ่งช่วยให้เราอุ่นใจมากขึ้นในทุกสถานการณ์
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870449
https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_2069826
https://www.facebook.com/boraannaanma/posts/2481305778790234/