ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ใครเป็นใครและทำอะไรในทีมงานออกแบบก่อสร้างบ้าน
จะสร้างบ้านสักหลังต้องเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ใครออกแบบ สถาปนิก หรือทั้งสถาปนิกและวิศวกร ทำไมบางคนจ้างสถาปนิก ทำไมบางคนจ้างวิศวกร บางคนต้องจ้างทั้งคู่ หรือบ้างก็จ้างนักออกแบบตกแต่งภายใน สถาปนิกออกแบบบ้าน วิศวกรก็ออกแบบบ้าน แล้วทั้งสองฝ่ายต่างมีบทบาทต่างกันอย่างไร หลายๆ คนอาจเคยได้ยินประเด็นที่คลุมเครือเหล่านี้ไม่มากก็น้อย มาดูกันว่าแต่ละวิชาชีพนั้นทำอะไรตรงไหนของบ้านกันบ้าง
การออกแบบและก่อสร้างบ้านหรืออาคารประเภทอื่นๆ เป็นการทำงานร่วมกันของหลายวิชาชีพ โดยจะต้องใช้มากหรือน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาด และรายละเอียดความต้องการของเจ้าของบ้านเป็นหลัก เนื่องจากเจ้าของบ้านแต่ละคนย่อมมีความคาดหวังกับบ้านของตนแตกต่างกันไป
วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบก่อสร้างบ้านนั้นมี 2 วิชาชีพหลัก คือ สถาปนิก และวิศวกร แต่ใน 2 วิชาชีพนี้มีการแตกสาขาแยกย่อยออกไปตามแต่ขอบข่ายความเชี่ยวชาญ และสาขาวิชาที่ได้ร่ำเรียนกันมา ทำงานในส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบขึ้นมาเป็นบ้านในฝันของเจ้าของบ้านตามรายละเอียดเนื้องานที่แตกต่างกันไป
1. สถาปนิก (architect)
คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบบ้านในด้านความสวยงาม เพื่อให้มีพื้นที่ และประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการของเจ้าของบ้าน คิดคำนึงถึงลมฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อมของบ้านนั้นๆ โดยประสานงานกับวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างบ้าน งานของสถาปนิกยังรวมไปถึง การขออนุญาตก่อสร้าง และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้คำแนะนำกับเจ้าของบ้านในขั้นตอนต่างๆ ของการสร้างบ้าน การตรวจสอบงานก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ออกแบบ ซึ่งขอบเขตของงาน (scope of work) จะแตกต่างกันไปตามแต่ตกลงกับเจ้าของบ้าน
2. นักออกแบบตกแต่งภายใน
บ้างก็เรียก interior architect, interior designer หรือ มัณฑนากร มีหน้าที่ออกแบบงานภายในของบ้าน เช่น การเลือกเฟอร์นิเจอร์ built-in ชุดครัว โคมไฟ สุขภัณฑ์ ให้คำแนะนำเรื่องของตกแต่งต่างๆ งานตกแต่งภายในถือเป็นงานที่มีความสำคัญไม่แพ้งานออกแบบตัวบ้าน เพราะงานตกแต่งภายในเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวกับเจ้าของบ้านที่สุดและเป็นงานที่มีมูลค่าสูง จึงมักจะมีการจ้างในงานสร้างบ้านที่มีงบประมาณสูงเท่านั้น
3. ภูมิสถาปนิก (Landscape architect) คือนักออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดสวน และมีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ สำหรับบ้านที่มีพื้นที่ภายนอกขนาดใหญ่ ที่ต้องการงานสวนรอบบ้านที่มีคุณภาพ ควรมีการใช้บริการภูมิสถาปนิกซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องภูมิสถาปัตยกรรมมาโดยตรง ซึ่งจะทำงานนี้ได้ดีกว่าสถาปนิกทั่วไป แต่ก็เช่นเดียวกับงานออกแบบตกแต่งภายใน บ้านเล็กๆ ทั่วไปก็อาจจะไม่มีการว่าจ้างภูมิสถาปนิก
4. วิศวกรโครงสร้าง (Structural engineer) คือวิศวกรที่ทำหน้าที่ออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรง และก่อสร้างได้จริง ตามที่สถาปนิกออกแบบ ยกตัวอย่างเช่น หากสถาปนิกออกแบบให้มีเสาบ้านขนาด 20 x 20 ซม วิศวกรโครงสร้างก็จะออกแบบการเสริมเหล็กภายในเสานั้นให้แข็งแรงเพียงพอ หรือหากทำการคิดคำนวณแล้วต้องใช้เสาที่มีขนาดใหญ่กว่า ก็ต้องทำการประสานงานกับสถาปนิกให้เปลี่ยนขนาดเสา ซึ่งก็จะส่งผลต่อขนาดพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านต่อไป วิศวกรรมโครงสร้างถือเป็นแขนงแยกย่อยของสาขาวิศวกรรมโยธา (civil engineer) ซึ่งวิศวกรรมโยธาครอบคลุมไปถึงวิศวกรที่ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร ควบคุมงานก่อสร้างประเภทอื่น เช่นสะพาน ถนน เขื่อน ในบางครั้งจึงมีการเรียกวิศวกรโครงสร้างว่าวิศวกรโยธา
5. วิศวกรไฟฟ้า (electrical engineer) มีหน้าที่ออกแบบระบบไฟฟ้าทั้งเรื่องกำลังไฟให้พอกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ระบบแสงสว่าง และระบบไฟฟ้าฉุกเฉิน ระบบล่อฟ้า ระบบโทรศัพท์ โทรทัศน์วงจรปิด ระบบควบคุมอัตโนมัติ ระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ ตามแต่ความต้องการของบ้านที่ออกแบบ
6. วิศวกรเครื่องกล (mechanical engineer) มีหน้าที่ออกแบบระบบปรับอากาศ ระบายอากาศ ระบบดับเพลิง ลิฟท์ บันไดเลื่อน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสมัยใหม่มากมายที่สามารถนำมาใช้ในบ้าน วิศวกรเครื่องกลมีหน้าที่ออกแบบจัดระบบกลไกต่างๆภายในบ้านให้เข้ากันได้กับอุปกรณ์นั้นๆ หรือแม้กระทั่งให้คำปรึกษากับเจ้าของบ้านในการเลือกอุปกรณ์เหล่านี้จากผู้ขายรายต่างๆ
7. วิศวกรสุขาภิบาล หรือวิศวกรสิ่งแวดล้อม (environmental engineer) มีหน้าที่ออกแบบระบบประปา ระบบการระบายน้ำเสีย และของเสีย การระบายน้ำฝน ระบบรดน้ำต้นไม้ ระบบดับเพลิง และระบบที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตามสำหรับงานออกแบบบ้าน ขอบเขตงานของ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรเครื่องกล และวิศวกรสุขาภิบาล อาจจะมีการทับซ้อนหรือทำทดแทนกันได้ โดยเฉพาะหากเป็นบ้านขนาดเล็ก
โดยทั่วไปแล้วการว่าจ้างงานออกแบบบ้านมักจะเป็นการว่าจ้างกับสถาปนิก โดยสถาปนิกซึ่งเป็นผู้นำทีมของงานออกแบบบ้านจะเป็นผู้จัดหาวิศวกรสาขาต่างๆ มาช่วยทำงาน ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงต้องตกลงกันในสัญญาว่าจ้างให้ชัดเจน ว่ารวมและไม่รวมอะไรบ้าง นอกจากขอบเขตงานทางวิศวกรรมแล้ว ขอบเขตงานด้านอื่นของสถาปนิกก็ต้องตกลงให้ชัดเจนเช่นกัน ว่าจะรวมการขออนุญาตก่อสร้างหรือไม่ และจะมีการเข้ามาควบคุมงานก่อสร้างในรูปแบบใด จะต้องมีการจ้างนักออกแบบตกแต่งภายในหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่องบประมาณโดยรวมของบ้านโดยตรง
เมื่อรู้ว่าแต่ละวิชาชีพทำหน้าที่อะไรในการออกแบบบ้านแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านควรรู้ก็คือ ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างบ้าน ซึ่งแต่ละภาคส่วนล้วนต้องประกอบด้วยบุคคลากรสาขาต่างๆ จากวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม โดยมีจำนวนมากน้อยตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละบ้าน
1.
ผู้ออกแบบ
คือทีมงานที่ทำงานออกแบบตั้งแต่เริ่มต้น รวบรวมสิ่งต่างๆ ที่เจ้าของบ้านต้องการ นำเสนอรูปแบบบ้านต่างๆ ให้เจ้าของบ้านเลือก และทำการเขียนแบบออกมาเป็นแบบก่อสร้าง ที่สามารถนำไปให้ผู้รับเหมาเสนอราคาก่อสร้าง และในระหว่างการก่อสร้าง ก็ยังมีหน้าที่ตรวจสอบงานก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ออกแบบในขั้นตอนต่างๆ เป็นไปตามแต่ที่ตกลงกับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง
2.
ผู้รับเหมา
มีหน้าที่ทำการก่อสร้างตามแบบให้สำเร็จลุล่วง โดยขอบเขตความรับผิดชอบเป็นไปตามแต่ตกลงกับเจ้าของบ้าน ซึ่งผู้รับเหมาส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทั้งด้านสถาปัตย์หรือวิศวกรรมอย่างลึกซึ้ง จึงจำเป็นต้องมีสถาปนิกเป็นผู้ควบคุมงานในภาพรวมเป็นหลัก และมีวิศวกรช่วยคำนวณงานโครงสร้างต่างๆ นอกเสียจากว่าเจอผู้รับเหมาที่จบด้านสถาปัตย์โดยตรงก็ถือว่าเจ้าของบ้านโขคดี
3.
ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
(construction manager) เป็นทีมงานที่อยู่ควบคุมงานที่สถานที่ก่อสร้างเป็นหลัก ทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ ถูกต้องตามหลักการก่อสร้าง และมาตรฐานความปลอดภัย การควบคุมงานก่อสร้างเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะงานก่อสร้างมีหลายสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องในตอนสุดท้ายได้ เช่น การเสริมเหล็กในโครงสร้างคอนกรีตให้ครบถ้วน(re-check reinforcing steel placement before concrete pouring) หรือการบ่มคอนกรีต(curing concrete)ให้ได้ตามระยะเวลาที่ถูกต้อง นอกจากนี้แล้ว ผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาจจะทำหน้าที่ตรวจสอบการเบิกเงินจากผู้รับเหมาให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามความคืบหน้าด้วย แล้วแต่ตกลงกับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง
จะเห็นได้ว่ากว่าจะสร้างบ้านในฝันให้ออกมาสวยงาม แข็งแรงมั่นคงทั้งส่วนที่ตาเห็นและโครงสร้างภายในต่างๆ ที่มองไม่เห็น มีความจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางมาทำงานร่วมกัน เพราะบ้านเป็นทรัพย์สินที่เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในชีวิต การคัดเลือกบุคลากรทั้งสถาปนิกและวิศวกรที่มีคุณภาพ เข้าใจความต้องการของเจ้าของบ้านและสื่อสารกันได้อย่างราบรื่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม