วิธีปลดหนี้นอกระบบ

อโรคยา ปรมา ลาภา’ การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐฉันใด การไม่มีหนี้ก็เป็นลาภอันประเสริฐฉันนั้น


‘หนี้’ คำเล็กๆ สั้นๆ แต่ออกฤทธิ์เขย่าขวัญขั้นรุนแรง จนกลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของโรคนอนไม่หลับ ตลอดจนเป็นสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายในปัจจุบัน ซึ่งทำให้สำนวน ‘การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ’ ออกจะเชยไปแล้วสำหรับคนยุคนี้ หลายคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ท่าจะจริงมากกว่า


อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่หลวมตัวสร้างหนี้ไปแล้ว และอยากสะสาง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ยังมึนๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

ขั้นตอนการปลดหนี้

 1. รวบรวมหนี้

ต้องรู้ก่อนว่าเรามีหนี้อะไรบ้าง ยอดเท่าไหร่ ด้วยการทำลิสต์รายการหนี้สินที่มีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนี้ในระบบ นอกระบบ หนี้มาก หนี้น้อย ต้องรวบรวมออกมาให้หมด


2. จัดระเบียบหนี้

โดยหนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

        2.1  หนี้ดี คือ หนี้ที่ทำให้เรามีความมั่งคั่งมากยิ่งขึ้น มีรายได้มากยิ่งขึ้น เช่น หนี้จากการทำธุรกิจ หนี้จากการกู้ซื้อบ้าน ซึ่งทำให้เรามีรายได้จากการทำธุรกิจมากขึ้น มีสินทรัพย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน แต่การเป็นหนี้ที่ดีนั้น จะต้องไม่กระทบต่อเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายประจำวัน หรือที่เรียกว่า “สภาพคล่อง” และจะต้องพิจารณาว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้ได้จนหมด โดยไม่กระทบต่อเงินในกระเป๋าที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน

        2.2 หนี้เลว (ต้องตั้งชื่อให้ฟังดูแย่ไว้ก่อน เพื่อเป็นการเตือนสติว่าไม่ควรก่อหนี้กลุ่มนี้ขึ้นมา หรือถ้าก่อมาแล้วก็ต้องรีบกำจัดให้เร็วที่สุด) เกิดจากพฤติกรรมการใช้ หมายถึง หนี้เพื่อการอุปโภคและบริโภค เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ใช้แล้วหมดไป เช่น เอาไปซื้อเสื้อผ้า โทรศัพท์ ทีวี หนี้พวกนี้มักเป็นหนี้จากสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต หรือเป็นหนี้นอกระบบ

การแยกหนี้ออกเป็น 2 กลุ่มแบบนี้ จะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า เราต้องจัดการกับหนี้กลุ่มไหนก่อน โดยเราไม่ควรมีหนี้รวมทั้งหมดเกินกว่า 45% ของรายได้ และไม่ควรมีหนี้เลวเกินกว่า 15% ของรายได้


3.ลำดับการชำระหนี้

นำหนี้ในข้อ 2 มาจัดลำดับอีกครั้ง โดยให้ความสำคัญกับหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อนหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยปกติ โดยถ้ามีเงินที่ต้องชำระหนี้ในจำนวนจำกัด ควรเลือกชำระหนี้ดอกเบี้ยปกติด้วยจำนวนเงินขั้นต่ำ แล้วนำเงินที่เหลือทั้งหมดไปชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า เพื่อเป็นการตัดภาระออกไปให้ได้มากที่สุด และในระยะยาวถ้าสามารถทำได้ให้กู้เงินจากแหล่งเงินที่มีดอกเบี้ยต่ำ

 

4.ไม่เพิ่มหนี้

ในระหว่างทยอยกำจัดหนี้เก่า ท่องให้ขึ้นใจว่า จะไม่ก่อหนี้ใหม่ และจะยิ่งดีกว่านั้น ถ้าสามารถงดรายจ่ายฟุ่มเฟือยทั้งหมด แล้วนำเงินที่เคยใช้ในส่วนนี้ไปจ่ายชำระหนี้ ก็จะทำให้หนี้หมดเร็วขึ้น ถ้าจะให้ดีที่สุด คุณต้องหาความฝันและเป้าหมายในชีวิตให้เจอ เพราะถ้าคุณมีฝัน และมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนมากพอ คุณจะรู้ได้ทันทีว่าการปลดหนี้ และการเก็บเงินให้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถอีกต่อไป


5.อย่าผิดนัดการชำระหนี้

การชำระหนี้ล่าช้าเกินเวลาที่กำหนดไว้ อาจทำให้เราโดนค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงหนี้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึง และทำให้มูลหนี้เพิ่มขึ้นโดยเราไม่รู้ตัวก็เป็นได้

วิธีปลดหนี้นอกระบบ

โดยมากเมื่อเราจัดลำดับการใช้หนี้ โดยให้ความสำคัญกับหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อน หนี้นอกระบบจะเป็นหนี้ลำดับต้นๆ ที่เราต้องรีบจัดการ เพราะหนี้นอกระบบจะเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก และน่าจะสูงที่สุด ดังนั้นหากหลวมตัวเป็นหนี้นอกระบบไปแล้ว วิธีการปลดหนี้นอกระบบ มีดังนี้

1.    คุยกับเจ้าหนี้ เมื่อรู้สึกว่าเริ่มจะชำระหนี้ที่มีอยู่ไม่ไหวแล้ว ซึ่งอาจจะขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปก่อน โดยขอให้คงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม หรือขอลดดอกเบี้ยบางส่วนลงมา พร้อมรับปากจะไม่ผิดนัดและจ่ายเงินที่เหลือตามเวลาที่กำหนด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การคุยกับเจ้าหนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่เรามีกับเจ้าหนี้และประวัติการชำระหนี้ของเราด้วย
 

2.    หาเงินก้อนมาโปะ โดยลำดับแรก ให้ลองดูว่าจะขายของมีค่าที่มีอยู่อะไรได้บ้าง เช่น เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้าแบรนด์เนม นาฬิกา จากนั้นลองขอคำปรึกษาจากธนาคาร โดยในปัจจุบันธนาคารหลายแห่งมีแนวทางช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบออกมาอยู่เรื่อยๆ ให้เข้าไปสอบถามธนาคารดูว่าจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง โดยแนวทางที่มักเลือกใช้กัน เช่น 

  • ขอกู้สินเชื่อส่วนบุคคล สามารถทำได้กรณีที่เรายังมีเครดิตที่ดีกับสถาบันการเงินอยู่บ้าง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลจะสูงพอสมควร แต่ก็ยังถือว่าถูกกว่าดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบ และการเป็นหนี้ในระบบยังไงก็ดีกว่าเป็นหนี้นอกระบบแน่นอน 
  • ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แม้ว่าข้อดีของสินเชื่อส่วนบุคคล คือ ได้เงินง่าย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ถ้าคุณยังพอมีบ้าน หรือที่ดิน อาจจะลองใช้วิธีกู้เงินแบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ช่วยให้ภาระต่างๆ เบาลงได้เยอะทีเดียว 
     

3.    เมื่อได้เงินก้อนมา ให้รีบนำไปปลดหนี้ทันที เพื่อช่วยลดภาระหนี้สิน และภาระดอกเบี้ยให้เบาลง หากมีหนี้นอกระบบหลายก้อน ให้เลือกชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน ที่เหลือค่อยทยอยโปะหนี้ก้อนอื่นๆ ที่ดอกเบี้ยลดหลั่นกันไป ควรเลือกปิดหนี้ทีละก้อน อย่ากระจายเงินใส่หลายๆ ก้อน เพราะจะไม่ช่วยให้ภาระดอกเบี้ยที่เราต้องแบกในแต่ละเดือนลดลง  จึงเป็นที่มาว่าคุณควรเจรจากับเจ้าหนี้ควบคู่ไปด้วย
 

4.    เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย และไม่ก่อหนี้เพิ่ม การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน จะเป็นวิธีที่ทำให้คุณสามารถค่อยๆ ปลดหนี้ได้ในระยะยาว และยังช่วยให้ไม่กลับมาเป็นหนี้อีกครั้ง โดยเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการสำรวจการใช้เงินของตัวเองในแต่วันผ่านการทำบันทึกรายรับ - รายจ่าย ซึ่งจะทำให้คุณรู้ว่าหมดเงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นหรือฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และนำเงินส่วนนี้ไปใช้หนี้แทน


กล่าวโดยสรุป หากมีความตั้งใจจริง มีวินัย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายต่างๆ ได้ การปลดหนี้นอกระบบก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม ที่สำคัญเมื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้แล้ว ก็ควรมีระเบียบวินัยทางการเงิน และไม่ก่อหนี้เพิ่มอีกจะดีที่สุด

               

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร