SSF RMF เลือกให้ดี เลือกที่ใช่


หากพูดถึงสินทรัพย์ที่มนุษย์เงินเดือนใช้เป็นแหล่งเงินออมหรือลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกันได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย ก็คือ กองทุนรวม SSF และ RMF แต่ถึงแม้หลายคนจะคุ้นเคยและลงทุนในกองทุนดังกล่าว แต่อาจเกิดความผิดพลาดจนต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อนไปแล้ว และต้องเสียค่าปรับตามที่กรมสรรพากรกำหนด


การผิดเงื่อนไขการลงทุน

การผิดเงื่อนไขของ SSF ในกรณีต่าง ๆ เช่น

-ซื้อเกินสิทธิลดหย่อนทางภาษี

-ขายคืนก่อนครบกำหนด (ลงทุนมากกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ)

การผิดเงื่อนไขของ RMF ในกรณีต่าง ๆ เช่น

-ซื้อเกินสิทธิลดหย่อนทางภาษี

-ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกัน

-ขายคืนก่อนอายุครบ 55 ปี แต่ลงทุนมากกว่า 5 ปี

-ขายคืนก่อนอายุครบ 55 ปี และลงทุนน้อยกว่า 5 ปี

-ขายคืนเมื่อครบอายุ 55 ปี แต่ลงทุนน้อยกว่า 5 ปี

ที่มา : SSF & RMF แฝดคู่ใหม่ใช้ลดหย่อนภาษี, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ก่อนตัดสินใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียด เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการออมเพื่อการเกษียณจะมี 5 ประเภท ได้แก่ SSF, RMF, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (หรือ กบข. และกองทุนสงเคราะห์ครูฯ) โดยวงเงินการออมเพื่อการเกษียณเป็นวงเดียวกัน ซึ่งรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท


ดังนั้น ควรคำนวณล่วงหน้า เริ่มจากประเมินเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (หรือ กบข. และกองทุนสงเคราะห์ครูฯ) เพราะเงินก้อนนี้จะถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือน จากนั้นคำนวณว่ายังเหลือสิทธิในการซื้อ SSF, RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญเท่าไหร่


จากนั้นพิจารณาเงื่อนไขการซื้อและการขาย โดยการซื้อ SSF ลงทุนสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีนั้น และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ขณะที่การซื้อ RMF ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี โดยเว้นได้ไม่เกิน 1 ปี


สำหรับการขาย SSF เมื่อซื้อแล้วต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับแบบวันชนวัน ตั้งแต่วันที่ซื้อ โดยใช้หลักนับแยกเป็นกองที่ซื้อ “เข้าก่อน ออกก่อน” เช่น กองทุน SSF ที่ซื้อวันที่ 1 เมษายน 2565 จะขายได้วันที่ 2 เมษายน 2575 กองทุน SSF ที่ซื้อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 จะขายได้วันที่ 2 พฤษภาคม 2575 เป็นต้น


ขณะที่การขาย RMF เนื่องจากเงื่อนไขการถือครองมีสองส่วน คือ 5 ปี และ 55 ปีบริบูรณ์ กรณี 5 ปี จะนับจาก RMF ที่ซื้อครั้งแรก ไม่ได้นับแยกเป็นรายกองเหมือน SSF โดยนับแบบวันชนวัน  (ไม่ใช่ปีปฏิทิน) ส่วนกรณีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ต้องนับให้ครบวันเกิด ซึ่งมีความเข้าใจผิดด้วยการนับเป็นปีปฏิทินว่าปีนี้ถือว่าอายุครบ 55 ปีแล้วสามารถขายก่อนวันเกิด ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไข คำแนะนำ คือ ควรขายให้พ้นวันเกิดไปแล้ว (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)


นอกจากนี้ กรณีที่ซื้อ RMF ไม่ได้ต่อเนื่องทุกปี เช่น ซื้อปีเว้นปี อาจเข้าใจว่าสามารถขายได้เพราะเข้าใจว่าครบ 5 ปี ความจริง คือ การนับ 5 ปี ไม่ใช่เพียงจำนวนปีที่ถือครองแต่ต้องนับเฉพาะปีที่ลงทุนเท่านั้น หากปีไหนไม่ลงทุนก็ไม่นับ ซึ่งอาจเข้าใจว่าใช้สิทธิซื้อแล้วหยุดปีเว้นปีและเมื่อครบ 5 ปีก็ขายได้ ซึ่งกรณีนี้จะนับปีลงทุนท่านั้น

นับการถือครอง กรณีลงทุนไม่ต่อเนื่องทุกปี

นับการถือครอง กรณีลงทุนต่อเนื่องทุกปี

ปี

ปี

2565

ซื้อ

2565

ซื้อ

2566

ไม่ซื้อ

2566

ซื้อ

2567

ซื้อ

2567

ซื้อ

2568

ไม่ซื้อ

2568

ซื้อ

2569

ซื้อ

2569

ซื้อ

2570

ไม่ซื้อ

ถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปี

2571

ซื้อ

2572

ไม่ซื้อ

2573

ซื้อ

ถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปี


สำหรับวิธีการลงทุน RMF และ SSF ทำได้ 2 วิธี ได้แก่

1.ลงทุนเป็นเงินก้อน (Lump Sum) ด้วยการจับจังหวะลงทุนตามที่ตัวเองประเมินว่าเหมาะสม ข้อดีคือหากเข้าถูกจังหวะก็จะมีต้นทุนต่ำ ข้อเสียคือ หากเข้าผิดจังหวะอาจทำให้มีต้นทุนสูง ดังนั้น จึงเหมาะกับผู้ที่มีความชำนาญในการลงทุนและมีเงินลงทุนจำนวนสูง


2.ทยอยลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (DCA)
เป็นวิธีการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินเท่า ๆ กัน ในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ทุกวันที่ 1 ของแต่ละเดือน เดือนละ 1,000 บาท เป็นต้น เหมาะกับผู้ที่มีเงินลงทุนไม่มาก ไม่มีเวลาติดตามข้อมูลข่าวสาร


ก่อนตัดสินใจลงทุน SSF และ  RMF ควรสำรวจตัวเองก่อนว่าพร้อมลงทุนหรือไม่ เพราะทั้งสองกองทุนนี้เป็นการลงทุนระยะยาว เมื่อลงทุนไปแล้วต้องถือหน่วยลงทุนนานหลายปี ที่สำคัญไม่ควรมีเป้าหมายลงทุนเพื่อประหยัดภาษีเท่านั้น เพราะกองทุนดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวช่วยในเรื่องของการเก็บออมเงินระยะยาวเป็นหลัก