ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ประกันสังคม บัตรทอง และประกันสุขภาพ เลือกอย่างไรให้ตรงใจวัยเกษียณ
ในการวางแผนเกษียณอายุ หนึ่งในเรื่องสำคัญที่เราทุกคนต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก คือ การวางแผนบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งนับว่าเป็นรายจ่ายที่มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อยามที่เรามีอายุมากขึ้น ระหว่างวัยทำงาน เรามักไม่ค่อยห่วงหรือเป็นกังวลกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากนัก เนื่องจากบริษัทที่เราทำงานอยู่มักมีสวัสดิการประกันกลุ่มที่ช่วยดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล นอกจากนี้เรายังสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามการส่งเงินเข้าประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามในวัยเกษียณอายุที่สุขภาพก็เริ่มเสื่อมถอย ทำให้มีแนวโน้มว่าค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงขึ้น แต่สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่เคยได้รับจากบริษัทที่ทำงานได้หมดไป ทำให้เรายิ่งต้องเตรียมวางแผนสำหรับเรื่องนี้ให้พร้อมมากขึ้น บทความนี้จะมาช่วยสรุปว่า เราจะมีสิทธิรับการรักษาพยาบาลอะไรบ้าง และควรจะเลือกอย่างไรให้ตอบโจทย์ความต้องการของเรา
สำหรับสิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสังคมนั้น แม้ว่าเราจะเกษียณอายุแล้ว แต่เราก็ยังมีทางเลือกที่จะยกเลิกหรือเก็บสิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสังคมได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. หากลาออก หรือสิ้นสุดสมาชิกภาพจากการเกษียณอายุตามประกันสังคมมาตรา 33 เราก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมอีกต่อไป ซึ่งรวมไปถึงสิทธิการรักษาพยาบาลด้วย หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาเกิน 15 ปี (180 เดือน) จะได้รับบำนาญชราภาพแทน อย่างไรก็ตามเราสามารถไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองได้
2. หากเลือกที่จะคงสถานภาพสมาชิกประกันสังคมไว้ ก็จะต้องส่งประกันสังคมมาตรา 39 ต่อภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ลาออกจากงาน โดยในกรณีนี้ ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบจำนวน 432 บาทต่อเดือน คิดเป็นเงินปีละ 5,184 บาท (9% บนฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณเงินสมทบที่ 4,800 บาท กำหนดโดยประกันสังคม) ทำให้ผู้ประกันตนจะยังคงสิทธิรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของประกันสังคม (ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต)
ดังนั้นผู้ที่เกษียณอายุส่วนใหญ่ มักจะมีคำถามว่า ควรจะลาออกจากสมาชิกภาพประกันสังคมตามมาตรา 33 เพื่อรับเงินบำนาญชราภาพ ส่วนการรักษาพยาบาลก็ไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามบัตรทอง หรือควรจะรักษาสิทธิประโยชน์ตามประกันสังคมด้วยการส่งประกันสังคมมาตรา 39 ต่อ อย่างไรก็ตาม หากเลือกต่อประกันสังคมมาตรา 39 จะได้รับเงินบำนาญชราภาพก็ต่อเมื่อลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน ทำให้เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือน ที่จะนำมาคำนวณเงินบำนาญจะเหลือเพียง 4,800 บาท ส่งผลให้เงินบำนาญที่เราจะได้รับลดลง (ในขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยในการคำนวณเงินบำนาญของประกันสังคมมาตรา 33 อยู่ที่ 15,000 บาท) เราจึงต้องพิจารณาถึงความต้องการของเราให้ถี่ถ้วนว่าต้องการได้รับบำนาญชราภาพ (จากประกันสังคมมาตรา 33) หรือต้องการสิทธิรักษาพยาบาล (จากประกันสังคมมาตรา 39) มากกว่ากัน
นอกจากนี้สิทธิรักษาพยาบาลตามประกันสังคม และสิทธิการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพื่อตอบคำถามดังกล่าวขอเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันระหว่าง 2 ทางเลือก ดังนี้
ตารางเปรียบเทียบสิทธิการรักษาพยาบาลระหว่างประกันสังคมและบัตรทอง (ที่มา
www.nhso.go.th
และ
www.sso.go.th
)
สิทธิประโยชน์ | ประกันสังคม | บัตรทอง |
1. การใช้บริการ | รพ.คู่สัญญาที่เลือกไว้ | รพ.ชุมชนที่ร่วมโครงการ และอยู่ในพื้นที่ที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น หากไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถส่งตัวไปยัง รพ.ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจงได้ |
2. การเจ็บป่วยเฉพาะโรค* |
เช่น ไม่คุ้มครองการปลูกถ่ายไขกระดูกหากเป็นมะเร็งชนิดที่ประกันสังคมกำหนดไว้มาก่อน
ไม่คุ้มครองการปลูกถ่ายไตหากเป็นโรคไตเรื้อรังมาก่อน |
คุ้มครองไม่ว่าจะเป็นมาก่อนหรือไม่ |
3. บริการด้านทันตกรรม | ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ไม่เกิน 900 บาท/ปี | ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีวงเงิน |
4. การรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง | ไม่คุ้มครอง | ให้บริการรักษาตัวแบบพักฟื้นหลังผู้ป่วยกลับบ้าน และการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังสิ้นสุดการรักษา |
5. ด้านยาและเวชภัณฑ์ | ใช้ได้ทั้งในและนอกบัญชีหลักแห่งชาติ | ใช้ยาที่มีอยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติ ส่วนยานอกบัญชีหลัก ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ รวมทั้งกรณีที่ผู้ป่วยยอมจ่ายเงินเอง |
6. ค่าห้องและค่าอาหาร | ค่าห้องและค่าอาหารสามัญไม่เกิน 700 บาท/วัน | ครอบคลุมค่าห้องและค่าอาหารสามัญ (รพ.รัฐบาล) |
*ศึกษารายละเอียดสิทธิการรักษาเพิ่มเติมได้ที่ www.nhso.go.th และ www.sso.go.th
จะเห็นว่า สิทธิการรักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสิทธิรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม ดังนั้น การลาออกจากประกันสังคมมาตรา 33 เพื่อรับเงินบำนาญ และเลือกใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากบัตรทอง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการส่งต่อประกันสังคมตามมาตรา 39 เนื่องจากได้รับเงินบำนาญชราภาพที่มากกว่า และยังคงสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามบัตรทอง ซึ่งเป็นทางเลือกในการแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในยามเกษียณได้
อย่างไรก็ตาม การหวังพึ่งสวัสดิการจากรัฐเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่การวางแผนเกษียณที่ดีนัก เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จะมีผู้สูงอายุจำนวนที่มากขึ้น และกว่าที่เราจะเกษียณอายุ ก็ไม่รู้ว่านโยบายการให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นอย่างไร เงินงบประมาณจะเพียงพอหรือไม่ จะยกเลิกไปเสียก่อนหรือเปล่า ดังนั้นหากเราไม่มีการวางแผนการเงินของเราในเรื่องนี้ ถึงตอนนั้นก็อาจสายเกินไป ดังนั้นเราจึงควรมีการสำรองเงินไว้เป็นค่ารักษาพยาบาลของตัวเองและครอบครัว ร่วมกับการซื้อประกันสุขภาพไว้เพิ่มเติมด้วย
ในการเลือกซื้อประกันสุขภาพ ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อควรพิจารณาต่างๆ ดังนี้
“เงื่อนไขประกันสุขภาพ” มียกเว้นไม่คุ้มครองโรคบางโรค เช่น การรักษาเกี่ยวข้องกับความสวยความงาม การศัลยกรรมใบหน้าเพื่อความสวยงาม การคลอดลูกและค่ารักษาอื่นๆ เพื่อการมีบุตร การรักษาที่ไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การฝังเข็ม การนวดกดจุด
จะเห็นว่าเงื่อนไขของการทำประกันสุขภาพไม่ว่าจะเป็นการไม่คุ้มครองโรคที่เราเป็นมาก่อนทำประกัน หรือ การมีระยะเวลารอคอยต่างๆ ทำให้เราต้องวางแผนการทำประกันสุขภาพให้ดีว่าควรทำตอนไหน หากจะทำตอนใกล้เกษียณ ก็ต้องหมั่นดูแลสุขภาพของเราให้ดี ให้แข็งแรง เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาในการทำประกันสุขภาพ และได้รับความคุ้มครองที่ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม หากไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน ก็น่าที่จะวางแผนทำประกันสุขภาพไว้แต่เนิ่นๆ ถือว่าเป็นการบริหารความเสี่ยง เพราะชีวิตมีความไม่แน่นอน และ
การซื้อประกันสุขภาพ
นั้น มีเงินอย่างเดียวอาจซื้อไม่ได้ ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย
บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร