ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
เปรียบเทียบกองทุน SSF vs RMF ลงทุนกองไหนคุ้มกว่ากัน ตามช่วงอายุ
การออมเพื่อการเกษียณอายุของคนไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และโครงสร้างของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ การออมที่เพียงพอและการหาผลตอบแทนที่เหมาะสมจากการออมผ่านการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นที่มาของการปรับเกณฑ์การลงทุนใน RMF และออกกองทุนรวมเพื่อการออมหรือ SSF มาเพื่อเป็นทางเลือกในการออมและลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุนั่นเอง
เปรียบเทียบระหว่างกองทุน SSF และ RMF
เงื่อนไขการลงทุน |
กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund, SSF) |
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund, RMF) |
วงเงินที่ได้รับสิทธิลดหย่อน |
30% ของเงินได้พึงประเมิน ลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาท |
30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาท |
เงื่อนไขวงเงินลดหย่อน |
นับรวม RMF, SSF, PVD, กบข. ประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาท |
|
ระยะเวลาถือครอง |
10 ปีนับจากวันที่ซื้อ |
5 ปีนับจากวันซื้อครั้งแรก อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ณ วันขาย |
ปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี |
ต้องซื้อระหว่างปี 2563 - 2567 |
ลงทุนได้เรื่อยๆ ยังไม่มีข้อกำหนดในการสิ้นสุดการลงทุน |
หลักทรัพย์ที่ลงทุน |
ลงทุนได้ทุกหลักทรัพย์ |
ลงทุนได้ทุกหลักทรัพย์ |
จำนวนซื้อขั้นต่ำ |
ไม่มี/ ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี |
ไม่มี/ ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (เดิมซื้อขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท) |
ระหว่าง “กองทุน SSF” กับ “กองทุน RMF” จะเลือกกองทุนไหนดี?
ถึงตรงนี้หลายคนคงมีคำถามในใจว่าควรจะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทไหนดีระหว่างกองทุน SSF และกองทุน RMF เพราะทั้ง 2 กองทุนใช้วงเงินการลดหย่อนภาษีเดียวกัน นั่นคือ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท (และต้องรวมการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันชีวิตแบบบำนาญ) เราจึงต้องมาพิจารณาทางเลือกในการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเราให้มากที่สุด
1.
พิจารณาความต้องการในการลงทุน
ก่อนว่าจุดประสงค์ในการลงทุนของคุณคืออะไร ถ้าคุณต้องการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ RMF ก็จะตอบโจทย์ แต่ถ้าเน้นที่การออมระยะยาว ประมาณ 10 ปี SSF ก็จะตอบโจทย์มากกว่า
2.
พิจารณาอายุประกอบกับระยะเวลาในการลงทุน
เช่น หากคุณอายุไม่เกิน 45 ปี การเลือกลงทุนในกองทุน SSF จะใช้ระยะเวลาในการลงทุนสั้นกว่า เพราะกำหนดเอาไว้ที่ 10 ปี เช่น หากคุณเริ่มซื้อกองทุนตอนอายุ 35 ปี คุณจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 45 ปี จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่หากคุณเลือกลงทุนในกองทุน RMF คุณจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 55 ปี ซึ่งจะเห็นว่าจะใช้ระยะเวลาในการลงทุนนานกว่า
ในทางกลับกันหากคุณอายุ 50 ปี การเลือกลงทุนในกองทุน RMF จะใช้ระยะเวลาในการลงทุนสั้นกว่า เพราะคุณจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เท่ากับใช้เวลาลงทุนเพียง 5 ปี แต่ถ้าเลือกลงทุนในกองทุน SSF ต้องใช้ระยะเวลาลงทุน 10 ปี ทำให้จะสามารถขายคืนได้ก็เมื่ออายุ 60 ปี
3. พิจารณาความเสี่ยงและนโยบายการลงทุนของกองทุน
เพราะในแต่ละกองทุนจะมีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน และสินทรัพย์แต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงที่มากน้อยแตกต่างกันตามไปด้วย ถ้าคุณมีความสามารถในการรับความเสี่ยงที่ต่ำ อาจเลือกกองทุนที่กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทที่เสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร ในสัดส่วนที่สูง แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงก็อาจพิจารณากองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงขึ้นได้ เช่น หุ้น ทองคำ เป็นต้น สิ่งที่สำคัญ คือ การหมั่นทบทวนพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยน อายุเปลี่ยน สถานการณ์ทางการเงินเปลี่ยน ความสามารถในการรับความเสี่ยงของคุณอาจเปลี่ยนตามก็เป็นได้
4.
พิจารณาความยากง่ายในการหาข้อมูลในการลงทุน
ต้องไม่ลืมว่ากองทุน RMF มีการเปิดกองมานานแล้ว และมีความหลากหลายในการลงทุน ทำให้สามารถหาข้อมูลการลงทุนได้ง่ายกว่า เราสามารถเปรียบเทียบการลงทุนของแต่ละ บลจ. ได้ง่ายและสะดวกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกอง SSF ซึ่งเป็นกองที่เปิดใหม่ ดังนั้นหากคุณมีเป้าหมายที่จะลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอยู่แล้ว (แม้ว่าตอนนี้จะมีอายุไม่ถึง 45 ปีก็ตาม) การลงทุนใน RMF ก็น่าที่จะตอบโจทย์เป้าหมายเกษียณอายุของคุณมากกว่า นอกจากนี้ระยะเวลาถือครองของกองทุน SSF ที่ 10 ปีเหมือนจะยาว แต่จากสถิติการลงทุนที่ผ่านมา การลงทุนยิ่งยาวยิ่งสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูง และช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนลงได้
กล่าวโดยสรุปการกระจายการลงทุนที่เหมาะสม ไม่มากไปและไม่น้อยไป และตามความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญเพื่อการประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ในการลงทุนมีปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้อยู่มากมาย สิ่งที่เราควบคุมได้มีเพียงวินัย และการทบทวนพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น ดังนั้นเราควรมุ่งเน้นไปในสิ่งที่เราควบคุมได้จะดีกว่า
บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด