ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
คนวัย 20 เริ่มทำงาน วางแผนเกษียณอย่างไรให้สำเร็จ
เมื่อเจอพนักงานที่เพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆแล้วถามว่า “เริ่มวางแผนการเงินเพื่อเกษียณหรือยัง” คำตอบที่ได้มักจะบอกว่า “ยังไม่ถึงเวลา” หรือ “ตอนนี้พึ่งเริ่มต้นวัยทำงาน ยังไม่ถึงเวลา”
หากคิดว่าการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ไม่ต้องเริ่มต้นในวันนี้ หรือมองว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องเตรียมเอาไว้ใช้หลังเกษียณไม่ต้องเยอะ คงต้องทบทวนใหม่ เพราะปัจจุบันนี้คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายหลังวัยเกษียณค่อนข้างสูง
ดังนั้น ทางออกสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังวัยเกษียณ คือ การเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อเกษียณให้เร็วที่สุด เพราะหากเริ่มได้เร็วชีวิตก็ยืดหยุ่นได้สูง เช่น ใช้เงินแต่ละเดือนในจำนวนไม่มาก เพราะมีเวลาในการลงทุนที่ยาวนาน
ตัวอย่าง : หากต้องการมีเงินเก็บ 1,000,000 บาท ตอนอายุ 60 ปี
ปัจจุบันอายุ 25 ปี ต้องเก็บเงินเดือนละ 2,381 บาท
ปัจจุบันอายุ 35 ปี ต้องเก็บเงินเดือนละ 3,333 บาท
ปัจจุบันอายุ 45 ปี ต้องเ ก็บเงินเดือนละ 5,556 บาท
จะเห็นว่าการเก็บเงินในแต่ละช่วงอายุมีความแตกต่างกัน เช่น ในช่วงวัย 25 ปี ที่ยังมีเวลาเก็บเงินอีกยาวถึง 35 ปี ทำให้สามารถเก็บหอมรอมริบทีละน้อยได้ เมื่อเทียบกับการเก็บเงินช่วงอายุมากๆ ที่จะต้องเก็บเงินในแต่ละเดือนจำนวนมากขึ้น
นอกเหนือจากนี้ ข้อดีของการลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ คือ มีทางเลือกในการลงทุนหลากหลาย เพราะรับความเสี่ยงได้สูงเมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุมากขึ้น และหากคนรุ่นใหม่ต้องการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณให้ประสบความสำเร็จ สามารถเริ่มต้นจาก 5 ปัจจัย ดังนี้
1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
คนรุ่นใหม่สามารถใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ นั่นคือ ควรใช้กองทุนดังกล่าวให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยสะสมเงินเข้ากองทุนระดับสูงสุดที่บริษัทอนุญาต ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2 – 15% ของเงินเดือน และเงินที่นายจ้าง (บริษัท) จ่ายเข้ากองทุนให้อีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า เงินสมทบ ซึ่งเงินที่บริษัทจะสมทบให้นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละแห่ง เช่น สมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง หรือสมทบให้ตามอายุงาน ซึ่งอาจจะน้อยหรือมากกว่าเงินสะสมก็ได้
ดังนั้น หากบริษัทมีอัตราเงินสะสมให้เลือก เช่น 3%, 5%, 10% หรือ 15% ควรเลือกอัตราเงินสะสมสูงสุดที่สามารถเลือกได้ นั่นคือ 15% และก็จะได้เงินสมทบจากนายจ้างอีกก้อนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
2.ก่อหนี้ไม่ให้เกินตัว
คนรุ่นใหม่หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เป็นวัยใช้เงินเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง เช่น ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว ทำให้ก่อหนี้เกินตัว โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ดี เป็นหนี้ที่กู้เพื่อการบริโภค ดังนั้น เพื่อลดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวตั้งแต่อายุน้อยๆ ควรให้ความสำคัญกับการก่อหนี้ ซึ่งในแต่ละเดือนควรมีหนี้ที่ต้องจ่ายรวมแล้วไม่เกิน 35% ของรายได้ เช่น เงินเดือน 20,000 บาท ควรมีหนี้ที่ต้องจ่ายไม่เกิน 7,000 บาท หมายความว่าเงิน 7,000 บาท จะต้องจ่ายทั้งหนี้ที่ดีและหนี้ที่ไม่ดี
3.เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินต้องเพียงพอ
ทุกคนควรมีเงินก้อนหนึ่งที่เก็บเอาไว้ใช้ตอนฉุกเฉิน อย่างน้อยประมาณ 3 – 6 เดือนของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน การสำรวจว่าตัวเองมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเท่าไหร่ ก็ให้นำเงินเดือนมาคำนวณ เช่น เงินเดือน 20,000 บาท มีค่าใช้จ่ายราว 10,000 บาท สมมติว่าต้องการมีเงินออมสำรองฉุกเฉิน 3 เท่าของค่าใช้จ่าย ก็นำ 10,000 คูณ 3 แสดงว่าควรมีเงินไว้ใช้ยามจำเป็นอย่างน้อย 30,000 บาท ถ้าต้องการมีเงินออมสำรองฉุกเฉิน 6 เท่า แสดงว่าควรมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินไม่น้อยกว่า 60,000 บาท เป็นต้น
4.ลงทุนโดยวิธีอัตโนมัติ
เหตุผลหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่หรือผู้ที่เพึ่งเริ่มต้นทำงานละเลยการวางแผนการเงิน คือ ยังมีรายได้น้อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะความจริงแล้วการวางแผนการเงินเกี่ยวข้องโดยตรงกับทุกคนทุกระดับฐานะการเงิน
หากรายได้น้อย ก็สามารถใช้วิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Average : DCA) ซึ่งเป็นการลงทุนแบบมีระบบ ด้วยการหักเงินจากบัญชีไปลงทุนโดยอัตโนมัติ นอกจากจะทำให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ ยังทำให้มีวินัยในการลงทุนด้วย
5.กล้าเสี่ยง
หากพิจารณาระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทั้งในแง่ทัศนคติด้านการลงทุน อายุ ความอดทนต่อการขาดทุน พบว่าวัยเริ่มทำงาน อายุน้อย ไม่มีภาระ มีระยะเวลาในการลงทุนยาวจะสามารถรับความเสี่ยงการลงทุนได้สูง ดังนั้น ควรจัดพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุน
ตัวอย่าง พอร์ตลงทุน 5 สไตล์
การจัดพอร์ตลงทุน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงินและการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน คนที่อายุน้อยหรือเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ควรเน้นกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกและลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการเติบโตสูง เมื่ออายุมากขึ้นหรือเข้าใกล้เกษียณ ควรเน้นกลยุทธ์การลงทุนเชิงรับ เน้นความปลอดภัย ลดความเสี่ยงลง
1.พอร์ตลงทุนเชิงรุกระดับสูง
เป็นการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อลงทุนที่เน้นความเสี่ยงสูง โดยเน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก
ตัวอย่าง
45% : ลงทุนในหุ้นบลูชิป ซึ่งเป็นหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขนาดใหญ่ เช่น หุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50, มีสภาพคล่องซื้อขายสูง, ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีความมั่นคงด้านการดำเนินธุรกิจ ผลการดำเนินงานเติบโตดีต่อเนื่อง, ผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเป็นที่รู้จัก และเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งทางการตลาด มีความสามารถทางการแข่งขันสูง และทีมผู้บริหารเป็นมืออาชีพ มีชื่อเสียงและมีความสามารถ
อีกทั้ง ควรลงทุนหุ้นที่หุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการดำเนินธุรกิจเติบโตค่อยเป็นค่อยไปและมีความต่อเนื่อง มีความทนทานต่อเมื่อเกิดวิกฤติ เพราะเป็นผู้นำตลาดจึงมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน จึงเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และเป็นที่นิยมของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันราคาหุ้นไม่ผันผวนมากนัก มักขึ้นลงตามตลาดหรือดัชนีหุ้น จึงเป็นกลุ่มหุ้นที่ซื้อขายกันในราคาที่สมเหตุสมผล
40%
: ลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ โดยกองทุนรวมประเภทนี้มี 2 ประเภท ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริหารกองทุนด้วยตัวเอง โดยนำเงินไปลงทุนโดยตรงในหุ้นต่างประเทศ กับ บลจ. ไปลงทุนในกองทุนหุ้นที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีทั้งลงทุนในกองทุนหุ้นกองเดียว (Feeder Fund) และนำเงินไปซื้อกองทุนหุ้นต่างประเทศหลายๆ กอง (Fund of Funds)
15% :
ลงทุนหุ้นเติบโต เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ศักยภาพในการแข่งขันสูง กระแสเงินสดอยู่ในเกณฑ์ดี กำไรสุทธิเติบโตสูง
2.พอร์ตลงทุนเชิงรุกระดับปานกลาง
เน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก เช่น 40% ลงทุนในหุ้นบลูชิป หุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่, 30% ลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ, 15% ลงทุนหุ้นเติบโต, 15% ลงทุนในกองทุนรวมผสม (กองทุนที่ผสมระหว่าง การลงทุนหุ้นและตราสารหนี้ หรือลงทุนรูปแบบของตราสารอื่นๆ เข้าด้วยกัน โดยอัตราส่วนของการลงทุนขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น)
3.พอร์ตลงทุนเชิงรุกระดับต่ำ
ลงทุนผสมกันระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ เช่น 30% ลงทุนในหุ้นบลูชิป หุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่, 30% ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้, 25% ลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ, 15% ลงทุนหุ้นเติบโต
4.พอร์ตลงทุนเชิงรับระดับปานกลาง
เน้นจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนเพื่อความปลอดภัย เช่น 55% ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้, 25% ลงทุนในหุ้นบลูชิป หุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่, 15% ลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ, 5% ลงทุนหุ้นเติบโต
5.พอร์ตลงทุนเชิงรับระดับสูง
จัดสรรสินทรัพย์การลงทุนเพื่อความปลอดภัยสูงสุด เช่น 60% ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้, 20% ลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน, 15% ลงทุนในหุ้นบลูชิป หุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่, 5% ลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ
“ออมก่อน รวยก่อน สบายก่อน” เป็นข้อคิดทางการเงินที่มีโอกาสเป็นไปได้สูง และหากนำเงินไปลงทุนให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ลงทุนตั้งแต่อายุน้อยๆ เพราะหากเริ่มต้นเร็วจะได้เปรียบ เงินที่แบ่งมาลงทุนไม่ต้องมาก ยิ่งลงทุนอย่างต่อเนื่องและมีวินัยก็จะเห็นพลังอัตราดอกเบี้ยทบต้น ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การมีอิสรภาพทางการเงินอย่างรวดเร็ว
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด