ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เทคนิคลงทุนหลังวัยเกษียณ
ก่อนเกษียณ ทุกคนจะประเมินว่าอยากมีเงินเท่าไหร่ จากนั้นก็วางแผนเก็บเงินเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ตัวเองวางเอาไว้ แต่เมื่อถึงวัยเกษียณก็ต้องคำนวณว่าจะบริหารเงินก้อนนี้อย่างไรเพื่อให้พอใช้ไปตลอดชีวิต
อาจมีคำถามว่า ในเมื่อวางแผนการเงินมาตั้งแต่เริ่มต้นวัยทำงาน แล้วทำไมหลังเกษียณยังต้องวางแผนต่อไปอีก พอถึงเวลาใช้เงินก็แค่ถอนออกมาใช้ หรือบางคนอาจรู้สึกกังวลว่าหากนำเงินก้อนสุดท้ายของชีวิตไปลงทุน ถ้าเกิดความผิดพลาดถึงขั้นขาดทุนจะทำให้เงินหมดลงอย่างรวดเร็ว สู้เก็บไว้ในตู้เซฟหรือในรูปเงินฝากก็น่าจะเพียงพอ
สำหรับผู้ที่เกษียณอายุที่หยุดการทำงานประจำ มักจะมีกระแสเงินสดรับเข้ามาต่ำกว่ารายจ่าย ดังนั้น เงินเก็บที่มีอยู่จึงควรนำไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มีเงินเก็บเพื่อเกษียณ 4 ล้านบาท ถ้านำไปลงทุนและได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี แปลว่าจะได้ดอกผล 200,000 บาทต่อปี ก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่เงินต้น (4 ล้านบาท) ยังอยู่เหมือนเดิม
ตรงกันข้าม หากไม่รู้จักการบริหารเงิน 4 ล้านบาท ด้วยการถอนออกมาใช้ เงินก้อนนี้จะลดลงเรื่อยๆ และสมมติว่าใช้เดือนละ 16,000 บาท เงิน 4 ล้านบาทจะหมดภายใน 21 ปี ดังนั้น การลงทุนหลังเกษียณจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าก่อนเกษียณ
ข้อควรระวังในการลงทุนหลังเกษียณ
1. อย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำจนเกินไป
เพราะผลที่ตามมา คือ จะได้ผลตอบแทนในระดับต่ำจนเกินไป เช่น นำเงินทั้งหมด 4 ล้านบาท ไปฝากออมทรัพย์ สมมติได้ดอกเบี้ย 0.75% ต่อปี แปลว่าจะได้ดอกผล 30,000 บาทต่อปีเท่านั้น
2. อย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงจนเกินไป
เช่น นำเงินไปลงทุนหุ้นเก็งกำไร ลงทุนในตลาดอนุพันธ์ เพราะผลที่ตามมาอาจผิดพลาดและทำให้ขาดทุนได้
3.อย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ
เช่น ซื้อหุ้นกู้อายุ 10 ปี เพราะหากต้องการใช้เงินก็จะไม่สามารถถอนได้ในระยะเวลาที่ต้องการ
ดังนั้น ในเมื่อเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต เทคนิคการลงทุนหลังวัยเกษียณจึงต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงสูง เพื่อเป็นการรักษาเงินต้น ส่วนผลตอบแทนถือเป็นความสำคัญรองลงมา ซึ่งคำว่ารองลงมา แปลว่า เป้าหมายการลงทุนต้องไม่ให้เกิดผลขาดทุน ดังนั้น ผลตอบแทนที่ได้จึงควรเป็นบวก หากเป็นไปได้ก็ควรให้ผลตอบแทนระยะยาว 5 ปีขึ้นไปสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย
การจัดพอร์ตลงทุนหลังเกษียณจึงต้องมีความรอบคอบสูง เพราะเป้าหมายหลักอยู่ที่การมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต ดังนั้น จึงต้องเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง โดยผลตอบแทนควรสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้, กองทุนรวมผสม และกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไม่เกิน 10%
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในหุ้นหลังเกษียณ ก็ต้องศึกษาหุ้นที่จะลงทุนให้ละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจ โดยเลือกหุ้นที่มีความมั่นคงและควรเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เพื่อที่จะนำเงินปันผลมาเป็นรายได้ที่ต่อเนื่อง
เทคนิคลงทุนหลังเกษียณ เริ่มง่ายๆ ด้วยการแบ่งเงินออกเป็น 2 ก้อน
ก้อนแรก
:
ให้กันเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายช่วง 1 – 2 ปีแรก
ส่วนจะมากหรือน้อยเท่าไหร่ก็ให้ดูว่าตัวเองต้องการใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างไรเช่น เงินเกษียณ 4 ล้านบาท อยากใช้จ่ายต่อเดือน 20,000 บาท ก็กันเงินเพื่อใช้จ่าย 2 ปีแรก 480,000 บาท จากนั้นก็นำไปเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ถอนได้ทันทีที่ต้องการใช้ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น หลังหักเงินก้อนแรกก็จะเหลือเงิน 3,520,000 บาท
ก้อนที่ 2 : ให้นำไปลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เรียกว่า Income Fund
ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสินทรัพย์ที่กองทุนประเภทนี้นิยมลงทุน ประกอบด้วยตราสารหนี้ภาครัฐ, หุ้นกู้ภาคเอกชน, หุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) นอกจากนี้ ยังสามารถไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกองทุนประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 3 – 5% หรือลงทุนในกองทุนรวมผสม ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไม่เกิน 10% ได้ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 4 – 5%
เหตุผลที่ควรเน้นกองทุนประเภทนี้ เนื่องจากคนวัยเกษียณต้องให้ความสำคัญกับการสร้างรายให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการแบ่งเงินว่าจะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้
หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรเน้นพอร์ตลงทุนที่มีสินทรัพย์ตราสารหนี้ภาครัฐที่เหลือก็เป็นสินทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ภาคเอกชน หุ้นที่จ่ายเงินปันผล หากรับความเสี่ยงได้ปานกลางก็ยังคงเน้นตราสารหนี้ภาครัฐ แต่อาจเพิ่มกองทุนรวมผสม และกอง REITs และถ้ารับความเสี่ยงได้สูงก็อาจเพิ่มกองทุนรวมผสม และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต ก็ควรนำไปลงทุนเพื่อให้เงินทำงานออกดอกออกผลต่อ แต่สิ่งที่ต้องเน้น คือ ปลอดภัยไว้ก่อน ดังนั้น การลงทุนผ่านสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมั่นคงจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะกับวัยเกษียณ