สัญญาณบอกว่า คุณเกษียณได้

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากเกษียณอายุจากการทำงานให้เร็วขึ้น พูดง่ายๆ ไม่อยากทำงานจนถึงอายุ 60 ปี เพราะต้องการอิสรภาพในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น และถึงแม้ทุกคนมีความฝันและวาดภาพสวยงามกับชีวิตหลังวัยเกษียณ แต่จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2560 พบว่ามีคนไทยเพียง 25% ที่สามารถวางแผนการออมเพื่อวัยเกษียณและทำได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ แปลว่าในคน 100 คน มีเพียง 25 คนที่สร้างฝันให้กลายเป็นจริงได้ ส่วนอีก 75 คนยังเกษียณไม่ได้


หลายคนออกแบบชีวิตหลังวัยเกษียณเอาไว้อย่างสวยงาม แต่ในความเป็นจริงยังห่างไกลจากคำว่าประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญมาจากขาดการวางแผนที่ดี เช่น ยังไม่รู้ว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไหร่, หลังเกษียณอยากใช้ชีวิตแบบไหน และที่สำคัญยังไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมเงินเท่าไหร่


อย่าลืมว่าหลังจากเกษียณไปแล้ว หมายถึง ไม่ได้ทำงานประจำ ไม่มีรายได้หลัก แต่ชีวิตยังต้องกินต้องใช้กันต่อไป ยิ่งหากใครมีอายุยืนยาวมากเท่าไหร่ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการเกษียณอย่างราบรื่นไปพร้อมกับความมั่งคั่งทางการเงิน ต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดี และนี่คือสัญญาณที่บอกว่าคุณเกษียณได้


1.เงินพอใช้

ถึงแม้ไม่มีใครรู้ว่าหลังเกษียณจะใช้เงินมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ต้องรู้ให้ได้เพื่อเตรียมเงินให้พอใช้ไปจนถึงวันสิ้นลมหายใจ ซึ่งในความจริงก็สามารถคำนวณได้เพียงแค่รู้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนและจำนวนปีที่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ


เริ่มจากประเมินค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งในปัจจุบันอัตราค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น ก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่าย 18,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะอยู่แถวๆ 12,600 – 14,400 บาทต่อเดือน (150,000 – 173,000 บาทต่อปี)


หลังจากนั้นก็ประเมินว่าหลังจากปีที่เกษียณจะมีชีวิตต่อไปอีกกี่ปี ซึ่งสามารถประมาณการอายุขัยได้จากคนในครอบครัว เช่น เกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึง 85 ปี แสดงว่ามีชีวิตหลังเกษียณอีก 25 ปี ก็นำ 173,000 คูณ 25 เท่ากับ 4,325,000 หมายความว่า ต้องมีเงินอย่างน้อยๆ 4,325,000 บาทก่อนเกษียณ

2.ปลดหนี้ทุกอย่างหมดแล้ว

หากชีวิตหลังเกษียณยังเต็มไปด้วยหนี้สิน หรือบางคนก่อนเกษียณไม่กี่ปีก็ยังก่อหนี้เหมือนตอนอายุ 30 ปี แปลว่าต้องแบ่งเงินที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณมาผ่อนชำระ หากเป็นแบบนี้ย่อมส่งผลให้เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตหมดลงอย่างรวดเร็ว


ดังนั้น สัญญาณสำคัญที่บอกว่าเกษียณได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น คือ เคลียร์หนี้ได้หมด โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้รถยนต์ สำหรับหนี้บ้าน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนชำระนาน อาจทำให้หลายคนไม่สามารถเคลียร์ได้หมดในวันเกษียณก็ควรพยายามทำให้หนี้เหลือให้น้อยที่สุด วิธีการคือ การโปะหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและช่วยให้ผ่อนบ้านหมดเร็วยิ่งขึ้น


3.ซ้อมใช้จ่ายว่าหลังเกษียณจะอยู่ได้หรือไม่

เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้รู้ว่าชีวิตหลังเกษียณจะต้องใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน คือ การทดลองลงมือทำว่าถ้าเกษียณจริงๆ จะมีค่าใช้จ่ายต่อการดำรงชีวิตอะไรบ้าง ซึ่งถ้าต้องการเห็นผลที่ใกล้เคียงก็ควรซ้อมใช้จ่ายทั้งเดือน เช่น ลดการช้อปปิ้ง ลดการใช้บัตรเครดิต หยุดซื้อของฟุ่มเฟือย งดทานอาหารนอกบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ควรทดลองใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ โดยประเมินจากไลฟ์สไตล์ เช่น การพักผ่อน ท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งการซ้อมแบบนี้จะทำให้รู้ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหลังเกษียณเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาประเมินว่าปัจจุบันมีเงินเก็บเพียงพอแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่พอต้องเก็บเพิ่มอีกเท่าไหร่


และอย่าลืมว่าในแต่ละปีค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่างๆ จะแพงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องคำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย เพื่อจะได้ประเมินคร่าวๆ ได้ว่ามูลค่าของเงินในวันนี้ พอถึงวันเกษียณจะมีมูลค่าอยู่ที่ระดับไหน เช่น วันนี้อายุ 35 ปี อยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาทเพื่อเกษียณตอนอายุ 60 ปี สมมติว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3% แปลว่ามูลค่าเงิน 6 ล้านบาทในวันนี้ จะเหลือเพียง 2,865,633 บาท ตอนอายุ 60 ปี (หรืออีก 25 ปีข้างหน้า) หรืออีกความหมาย ถ้าต้องการอยากมีเงินใช้หลังเกษียณ 6 ล้านบาท ต้องวางแผนเก็บเงินให้ได้ 12,600,000 บาท

4.วางแผนประกันชีวิตได้เหมาะสม

ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นประกันที่คนไทยให้ความสนใจน้อยมาก เพราะมองว่าต้องจ่ายเบี้ยเป็นระยะเวลานานและกว่าจะได้เงินคืนต้องรอวันเกษียณ แต่ในความจริงแล้วทุกคนควรทำเพราะประกันแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อจัดการด้านเกษียณ โดยผู้ทำประกันจะได้รับผลตอบแทนหรือเงินต้นจากบริษัทประกันที่ทยอยจ่ายคืนให้เป็นเงินบำนาญให้เป็นจำนวนเท่าๆ กันทุกปี ตั้งแต่เริ่มเกษียณ (เช่น อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี) ไปจนถึงอายุของการจ่ายผลประโยชน์ เช่น 85 ปี หรือ 90 ปี เป็นต้น ดังนั้น หากทำประกันชีวิตแบบบำนาญกันตั้งแต่ตอนมีรายได้ประจำ ก็การันตีได้ว่าหลังเกษียณจะได้เงินบำนาญทุกๆ ปีแน่นอน

5.มีเป้าหมายที่อยู่อาศัยและกิจกรรมชัดเจนหลังเกษียณ

ปัจจุบันในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยจะมีระดับค่าครองชีพแตกต่างกัน หากเป็นจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ค่าครองชีพจะอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ตัวเลขค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็สามารถนำมาวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณในเบื้องต้นได้ หมายความว่า หากมีจังหวัดในใจที่ต้องการไปใช้ชีวิตก็สามารถออกแบบค่าใช้จ่าย ไลฟ์สไตล์ได้อย่างเหมาะสม และยิ่งมีเป้าหมายชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมจะยิ่งทำให้แผนการเกษียณเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่ง เช่น อยากมีผักสวนครัว ก็วางแผนเตรียมเงิน เตรียมที่ดิน ลงมือปลูกให้เรียบร้อยก่อนถึงวันเกษียณ เป็นต้น


การวางแผนเกษียณเป็นเรื่องที่ง่ายและทุกคนทำได้ ขอเพียงเริ่มต้นให้ถูก จากนั้นก็เดินตามแผนที่วางเอาไว้ หากมีความผิดพลาดก็ปรับปรุงแก้ไข ถ้าทำได้รับรองพอถึงวันเกษียณจะมีความสมบูรณ์ที่สุด