สิทธิประโยชน์ที่จะได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุ

ใครที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ เคยทราบรายละเอียดเงื่อนไขเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองแล้วหรือไม่? หากไม่ทราบ บทความนี้มีคำตอบ โดยเราจะเรียกรายละเอียดหรือเงื่อนไขของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่า ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้กำหนด ซึ่งต้องนำไปจดทะเบียนกับสำนักงาน ก.ล.ต. จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คณะกรรมการกองทุนต้องขออนุมัติต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนทุกครั้ง

ตัวอย่างข้อบังคับกองทุนที่สมาชิกควรรู้ มีดังนี้

  1. คุณสมบัติของการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน ซึ่งข้อบังคับจะระบุคุณสมบัติของพนักงานที่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนได้ เช่น พนักงานต้องได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ  หรือพนักงานต้องมีอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

  2. อัตราเงินสะสม คือ อัตราที่สมาชิกกองทุนหักสะสมจากค่าจ้างรายเดือน ทุกเดือน หรือเมื่อมีการจ่ายค่าจ้าง

  3. อัตราเงินสมทบ คือ อัตราที่บริษัทนายจ้างสมทบเข้ากองทุน ในรูปของเงินสมทบทุกเดือน หรือเมื่อมีการจ่ายค่าจ้าง

  4. เงื่อนไขการจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินสมทบ การที่สมาชิกกองทุนลาออก สมาชิกจะได้ส่วนของเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมเต็มจำนวน ไม่ว่าจะออกจากองทุนด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม แต่สำหรับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบนั้น สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้เท่าไรขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการจ่ายเงินในข้อบังคับ

ข้อบังคับอาจกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบ ให้อิงตามอายุงานหรืออายุสมาชิกกองทุนก็ได้ เช่น หากสมาชิกลาออกจากกองทุน โดยมีอายุงานน้อยกว่า 1 ปี ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบ จะได้รับ 50% ของที่มีอยู่ และหากลาออกจากกองทุนโดยอายุงานมากกว่า 1 ปี จะได้รับเงินดังกล่าว 100% เป็นต้น


นอกจากนี้ ในข้อบังคับกองทุนยังมีเนื้อหาอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกกองทุน วิธีการจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงื่อนไขด้านการคงเงิน รวมไปถึงวิธีปฏิบัติกรณีกองทุนเลิก ซึ่งทั้งหมดนี้ สมาชิกกองทุนสามารถขอดูรายละเอียดจากคณะกรรมการกองทุนของกองทุนที่เราเป็นสมาชิกอยู่ได้


สิ่งที่สมาชิกควรรู้เพิ่มเติมจากข้อบังคับ และเป็นส่วนที่สำคัญมาก คือ นโยบายการลงทุนของกองทุนที่เราเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งในขณะนี้ การทำ Employee’s Choice กำลังมาแรง บริษัทเริ่มให้สมาชิกกองทุนในบริษัทของตนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนด้วยตนเองได้ เพื่อที่สมาชิกจะได้เลือกนโยบายที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของแต่ละคนได้ อย่างไรก็ตาม การที่สมาชิกจะเลือกนโยบายเองได้นั้น สมาชิกควรจะเข้าใจด้านการลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นและหลักทรัพย์อื่นๆ ว่ามีผลตอบแทนและความเสี่ยงอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถเลือกนโยบายให้ตนเองได้อย่างเหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์ของการทำ Employee’s Choice


นอกจากนี้ หากเกษียณอายุ สิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีดังนี้

1. การได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสม

สมาชิกจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมเต็มจำนวน เพราะเงินส่วนนี้เป็นของสมาชิกทั้งก้อน หรือว่าง่ายๆ คือ ได้เงินต้นและดอกผลจากเงินต้นของเราคืนนั่นเอง


2. การได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ

สมาชิกจะได้รับเงินส่วนนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของข้อบังคับ ดังนั้นสมาชิกจึงต้องไปศึกษาข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทให้ละเอียดว่ามีการกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดจากอายุงานหรืออายุสมาชิกกองทุน


3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ซึ่งเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ เราจะได้รับเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1) เงินสะสมของเรา 2) เงินสมทบของนายจ้าง 3) ผลประโยชน์ของเงินสะสม 4) ผลประโยชน์ของเงินสมทบ


หากเรานำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด เงินสะสมของเรา (ส่วนที่ 1) จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน แต่เงินส่วนที่เหลือ (ส่วนที่ 2 – 4) จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างกัน ตามเงื่อนไข ดังนี้

1. ลาออกจากกองทุน โดยเป็นสมาชิกกองทุนไม่ถึง 5 ปี เราจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเงินส่วนที่ 2 – 4 คือ เงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบเลย และยังต้องเอาเงินส่วนนี้ไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามปกติ

2. ลาออกจากกองทุน โดยเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เราสามารถนำเงินส่วนที่ 2-4 ไปแยกยื่นภาษีต่างหากในใบแนบ (ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ) ซึ่งหากสามารถแยกยื่นภาษีได้โดยไม่ต้องมารวมกับรายได้อื่นๆ จะทำให้ภาระภาษีต่ำลง ดังนั้นเราควรเลือกใช้สิทธิแยกยื่นด้วยใบแนบ

3. ทุพพลภาพ/เสียชีวิต หรือเกษียณโดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เราจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน (ทั้ง 4 ส่วน) เท่ากับว่าเราได้เงินออมก้อนโตไว้ใช้ในยามเกษียณอายุเต็มจำนวนเลยทีเดียว

4. สิทธิในการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หากเรายังไม่มีความต้องการที่จะใช้เงินก้อนนี้ เราสามารถแจ้งความประสงค์ขอคงเงินไว้ในกองทุนตามนโยบายการลงทุนที่เลือกไว้ โดยติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อแจ้งระยะเวลาคงเงิน หรือขอให้กองทุนทยอยจ่ายเงินคืนเป็นรายงวดก็ได้ ซึ่งต้องเป็นไปตามที่ข้อบังคับกองทุนกำหนดไว้


5. สิทธิในการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปไว้ที่กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

หากเรายังไม่มีความต้องการที่จะใช้เงินก้อนนี้ และไม่ต้องการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรายังมีสิทธิในการโอนเงินก้อนนี้ไปยังกองทุนรวม RMF ได้ ซึ่งจะทำให้เรามีอิสระในการเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากับการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย โดยกองทุนรวม RMF ที่สามารถรับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นั้น ต้องเป็นกองทุนรวม RMF for PVD กล่าวคือ มีการระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน (Fact Sheet) ว่า “ รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


นอกจากนี้เรายังสามารถนับอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องกับกองทุนรวม RMF ได้ เพื่อให้ได้รับการ “ยกเว้นภาษี” เมื่อมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด


กล่าวโดยสรุป กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการดีๆ ที่พนักงานประจำควรใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้เราเกษียณสุขได้ เราจึงควรศึกษาข้อบังคับกองทุนให้ดี อีกทั้งเลือกพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับอายุ ระยะเวลาการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราเติบโตอย่างเหมาะสม และเพียงพอที่จะให้เราใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข

บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร