ทำไงดีเป็นหนี้เพราะแต่งงาน?

การเริ่มต้นชีวิตคู่ของคนสองคน  มักเริ่มต้นด้วยงานแต่งงาน  เพื่อเตรียมตัวสร้างครอบครัวด้วยกัน เมื่อตัดสินใจแล้วว่าทั้งคู่ คือ คนที่ใช่ ขั้นต่อไป คือ เตรียมวางแผนทางการเงิน เพื่อนำไปใช้จัดงานแต่งงาน สำหรับบางคู่ถึงแม้จะทำการบ้านมาอย่างดีแล้ว พยายามช่วยกันออมเงินเพื่ออนาคต แต่หลังแต่งงานกลับเจอปัญหาเป็นหนี้  เพราะเงินที่ออมไว้ใช้สำหรับงานแต่งไม่เพียงพอ งบประมาณบานปลาย  ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่าย ขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน หรือบางคู่มีความจำเป็นต้องรีบจัดงานแต่งงาน แต่ยังไม่มีความพร้อมทางการเงิน  ทำให้การเริ่มต้นชีวิตครอบครัวหลังแต่งงานไม่ราบรื่นนัก เพราะแค่ก้าวแรกที่เริ่มเดินไปด้วยกัน ก็มีหนี้สินที่ต้องจ่ายไปอีกหลายปี ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับอนาคตของครอบครัว ทั้ง ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของลูก เงินเก็บฉุกเฉินของครอบครัว  ซึ่งหากหลังแต่งงานครอบครัวของคุณต้องเจอปัญหาแบบนี้  เรามีวิธีช่วยคลี่คลายให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ ขอแค่ทั้งคู่จับมือช่วยกันแก้ปัญหา เพื่ออนาคตของครอบครัวที่ดีขึ้น

  • วางแผนจ่ายหนี้ หากเราพลาดในการเตรียมเงินจัดงานไม่เพียงพอ  ทำให้ก่อหนี้ขึ้นมาแล้ว  กรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย ให้พยายามรวมหนี้เป็นก้อนเดียว  เพื่อลดภาระในการผ่อนชำระต่อเดือน  โดย เลือกสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเจ้าหนี้เดิมที่เราผ่อนจ่ายอยู่ เช่น หากเรากดเงินสดจากบัตรเครดิต  หรือกู้ยืมนอกระบบมาใช้จ่ายในงานแต่งงาน ให้รีบเคลียร์หนี้ประเภทนี้ก่อน  วิธีนี้จะช่วยปิดหนี้ดอกเบี้ยแพง ซึ่งมีโอกาสพอกพูน เพิ่มจำนวนขึ้นกลายเป็นดินพอกหางหมู นอกจากนี้  ควร โปะหนี้ถ้ามีโอกาส เช่น  ได้โบนัส หรือมีเงินก้อนเข้ามา ให้รีบนำมาจ่ายหนี้ เพื่อช่วยลดเงินต้น ซึ่งมีผลให้ดอกเบี้ยและภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนลดลงด้วย และยังช่วยให้ระยะเวลาในการเคลียร์หนี้สั้นลง


  • ตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือย การใช้ชีวิตครอบครัวต้องสร้างความสุขให้กันและกันอย่างพอดี มีการรางวัลชีวิตให้กันบ้าง  แต่ต้องไม่ลืมเป้าหมายสำคัญ คือ การปลดหนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของครอบครัว โดยเริ่มต้นที่การตัดรายจ่ายไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อให้เรามีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหลังจ่ายหนี้  เช่น งดช้อปของฟุ่มเฟือย ดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้  คู่สามีภรรยาต้องไม่สร้างหนี้เพิ่ม  เช่น รูดบัตรเครดิต หรือใช้บัตรกดเงินสดเยอะจนเกินความสามารถในการจ่ายคืน เพราะจะทำให้ครอบครัวมีภาระหนักขึ้น  และการพยายามปลดหนี้จากงานแต่งงานก็จะยากขึ้นไปอีก กลายเป็นภาวะหนี้เก่ายังไม่ได้ใช้ หนี้ใหม่พอกพูน อนาคตครอบครัวคงต้องกู้หนี้ยืมสินไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

how-to-solve-marriage-debt-01

  • ใครเป็นคนจ่ายหนี้ สำหรับปัญหานี้ จริง ๆ แล้ว ขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย  เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ทั้ง 2 แบบ กรณีแรก คือ ฝ่ายที่กู้เงินจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยสามารถทำได้  หลังมีการวางแผนจ่ายหนี้ และแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายในบ้านร่วมกันแล้ว หากมีหนี้จำนวนมากกว่าค่าใช้จ่ายในบ้าน ฝ่ายที่รับผิดชอบจ่ายหนี้ส่วนนี้ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้านอื่น ๆ  ส่วนมากมักเป็นฝ่ายสามีที่เลือกรับผิดชอบในส่วนนี้ สำหรับภรรยาจะดูแลค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้าน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า  แต่หากจำนวนหนี้ และค่าใช้จ่ายในบ้านใกล้เคียงกัน ฝ่ายที่รับผิดชอบหนี้  อาจรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้านเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายต้องรับภาระหนักเกินไป เช่น  ครอบครัว A  สามีจ่ายหนี้ค่าจัดงานแต่งงาน 15,000 บาท+ค่าอาหาร 5,000 บาท รวม 20,000 บาท/เดือน  ภรรยาจ่ายค่าน้ำ+ค่าไฟ+ค่าอินเทอร์เน็ต+ค่าของใช้บ้าน รวม 15,000 บาท/เดือน

    แบบที่ 2  คือ ช่วยกันจ่าย  โดยนำหนี้จำนวนนี้มารวมกับค่าใช้จ่ายในบ้านและหารสอง ถือเป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัว  ซึ่งเหมาะกับคู่รักที่มีบัญชีเงินกองกลาง โดยรวมเงินของทั้งสองฝ่ายเดือนละเท่า ๆ กัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในบ้าน  เช่น ครอบครัว B   มีค่าใช้จ่ายในบ้าน ดังนี้  หนี้ค่าจัดงานแต่งงาน+ค่าอาหาร+ค่าน้ำ+ค่าไฟ+ค่าอินเทอร์เน็ต+ค่าของใช้บ้าน รวม 30,000 บาท นำมาหารสอง = ช่วยกันจ่ายคนละ 15,000 บาท/เดือน โดยนำมาจากเงินกองกลางที่โอนเข้าบัญชีร่วมทุกเดือน

  • ออมเงินฉุกเฉินสำหรับครอบครัว หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน และเราไม่ได้เตรียมเงินออมประเภทนี้ไว้ โอกาสเป็นหนี้เพิ่มจะสูงขึ้น  เพราะเราไม่มีเงินเพียงพอ จึงต้องกู้เงินด่วนมาจ่ายในยามฉุกเฉิน  ทำให้เป็นหนี้เพิ่ม และไม่สามารถปลดหนี้เดิมที่มีอยู่ได้ ดังนั้น  การวางแผนออมเงินสำรองเพื่อครอบครัว จึงเป็นสิ่งจำเป็น  แม้ว่าครอบครัวเราจะมีค่าใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว แต่หากเป็นไปได้ ควรแบ่งเงินกองกลางมาเก็บออมเพิ่ม 3-6 เท่าของรายจ่ายในบ้านทั้งหมด  โดยเริ่มออมตามความจำนวนที่พอจะทำได้  และหากเราสามารถเคลียร์หนี้จากงานแต่งงานได้แล้ว ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเงินออม  เพื่อเตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่เราคาดไม่ถึง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายสำรองกรณีตกงาน สำหรับการสำรองเงินประเภทนี้ ควรออมในรูปแบบที่ ดึงมาใช้ได้ง่ายในยามฉุกเฉิน  ไม่ติดเงื่อนไขต่าง ๆ  เช่น  บัญชีออมทรัพย์  เป็นต้น

การสร้างครอบครัวให้เติบโตอย่างแข็งแรง หนึ่งปัจจัยที่สำคัญนอกเหนือจากความรัก ความเข้าใจแล้วการร่วมมือ ร่วมใจกันฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นไปได้ เรื่องหนี้จากการแต่งงานก็เช่นกัน หากทั้งครอบครัวพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง และอดทนเพื่อเป้าหมายของครอบครัวแล้ว อนาคตปลอดหนี้ ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม สนใจสินเชื่อ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ง่ายๆ เลือกยอดจ่ายและวันผ่อนชำระได้ตามใจ ดูข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่