ก่อนแต่งชวนคิด จับเข่าชวนคุย (ในวันที่ยังรักกันมากพอ)

“ยามรักน้ำต้มผักยังว่าหวาน ส่วนยามชังน้ำตาลยังว่าขม” สุภาษิตไทยสอนใจจากกวีเอกสุนทรภู่


เมื่อคนสองคนพบรักกันไม่ว่าวัยหนุ่มสาววัยกลางคนหรือวัยเลย วัยกลางคน เมื่อเวลาผ่านไปย่อมเริ่มอยากสร้างครอบครัวสร้างอนาคตร่วมกัน แต่อย่างที่รู้กันว่าความรักเมื่อมีได้ ก็เสื่อมได้ดังคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนิจจา ทุกขัง อนัตตา หรือที่เรียกว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่แน่นอน ในวันนี้ผู้เขียนเลยอยากจะมาชวนคุยถึงข้อชวนคิดก่อนที่จะเริ่มสร้างครอบครัวกันด้วยการแต่งงาน (บทความนี้จะขอพูดถึงกฎหมายไทยเรื่องการสมรส ซึ่งในปัจจุบันรองรับการแต่งงานระหว่างหญิงและชายเท่านั้น หากเป็นการแต่งงานระหว่างเพศอื่นๆ หลักการจะเป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ)


เมื่อตัดสินใจแล้วว่าเอาล่ะเราสองคนจะแต่งงานกันนะจ๊ะที่รัก วินาทีนั้นไม่ค่อยจะมีใครคิดถึงเรื่องการวางแผนใดๆ นอกจากการเตรียมการจัดงานแต่งงาน ผู้เขียนเลยอยากจะเล่าว่าการวางแผนเรื่องทรัพย์สินก่อนแต่งงานนั้นจริงๆ แล้วสำคัญมาก อาจจะสำคัญกว่าการจัดงานใหญ่โตเสียด้วยซ้ำ แต่คนส่วนใหญ่ในยามรักกันมากๆ ในช่วงเวลาก่อนแต่งงานมักจะข้ามความคิดในเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ระหว่างคู่เพราะคิดว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่กล้าพูด ไม่กล้าถามขึ้นมา กลัวอีกฝ่ายมองเราไม่ดี และมักจะคิดว่าคู่ที่รักกันมากๆ อย่างคู่เรานั้นไม่มีทางเลิกรากันแน่นอน แต่ในฐานะนักกฎหมายที่มีครอบครัวแล้วดังเช่นผู้เขียนอยากจะบอกเล่าว่าคู่ที่พูดคุยกันเรื่องการวางแผนทรัพย์สินก่อนแต่งงานถือว่าเป็นคู่ที่มีความพร้อมและหันหน้าเข้าหากันปรึกษากันได้ในระดับที่ดีเยี่ยมและน่าชื่นชมมากเลยทีเดียว ที่นี้เราจะมาดูกันค่ะว่าหลักๆ แล้วก่อนแต่งงานเราควรคิดวางแผนชีวิตและทรัพย์สินในเรื่องอะไรบ้าง

money-talk-before-wedding-01

ปรึกษาหารือกันว่าคู่เราจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่


การจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนสมรสมีข้อพิจารณาและผลที่ต่างกันในแต่ละมุมมอง ผู้เขียนไม่อาจแสดงความเห็นได้ว่าจดหรือไม่จดทะเบียนทางไหนดีกว่ากัน เป็นเรื่องของการตัดสินใจระหว่างคู่สมรสและครอบครัวที่จะต้องพิจารณากันว่าคู่เรามีความจำเป็นอย่างไร ในวันนี้ผู้เขียนจะเสนอมุมมองของสองฝั่งให้ได้ทราบกัน


ในกรณีที่จดทะเบียนสมรส* 
 

  • หญิงจะมีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะจากชาย (เรียกร้องตามสมควรกับฐานะ)
  • นับตั้งแต่วันจดทะเบียนสมรสการได้ทรัพย์สินมาจะถือเป็นสินสมรส (ในกรณีที่ไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรสระบุไว้เป็นอย่างอื่น)
  • สิทธิในการได้รับมรดกของอีกฝ่ายหนึ่ง (ในกรณีเสียชีวิตแบบไม่มีพินัยกรรม) เมื่อฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตต้องแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งให้คู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ก่อนจึงค่อยแบ่งมรดก และคู่สมรสยังมีสิทธิได้รับมรดกจากกองมรดกเหมือนเป็นทายาทชั้นบุตรโดยคู่สมรสได้รับยกเว้นภาษีมรดกทั้งหมด
  • บุตรที่เกิดมาจากคู่สมรสจดทะเบียนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของทั้งสองฝ่าย
  • อำนาจการจัดการทรัพย์สิน การทำธุรกรรมบางอย่าง เช่น ขอสินเชื่อ ขาย ซื้อ จำนองอสังหาริมทรัพย์ ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
  • คู่สมรสถือเป็นลูกหนี้ร่วมจากหนี้สินที่ก่อขึ้น โดยต้องชำระหนี้นั้นๆ จากสินสมรสและสินส่วนตัวตามลำดับ

เมื่อมาถึงตรงนี้ต้องเล่าให้ฟังต่อว่า ‘สินสมรส’ และ ‘สินส่วนตัว’ ที่พูดถึงมันคืออะไรกันแน่ จำไว้ได้เลยว่า เมื่อจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ไม่ใช่จดซ้อน) เมื่อคู่สมรสได้ทรัพย์สินใดๆ มาจะถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนกลางเพื่อประโยชน์ของครอบครัวที่เรียกว่า ‘สินสมรส’ หากหย่าหรือคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต ถือว่าการสมรสสิ้นสุด อีกฝ่ายขอแบ่งสินสมรสได้ครึ่งหนึ่ง แต่ ‘สินส่วนตัว’ คือ

  • ทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส
  • ทรัพย์สินที่เป็นของใช้ส่วนตัว เครื่องประดับกายตามฐานะ เครื่องมือทำมาหากิน ของหมั้นของฝ่ายหญิง
  • มรดกที่ได้มาทั้งก่อนและหลังสมรส
  • ทรัพย์สินที่ได้มาจากการให้โดยเสน่หา

 

ในกรณีไม่จดทะเบียนสมรส 
 

เมื่อไม่มีการจดทะเบียนสมรส การย้ายเข้ามาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน จัดงานแต่งงาน มีการผูกข้อมือ เลี้ยงพระใดๆ ก็ตาม สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เรียกว่าคู่สมรสตามกฎหมาย เพียงแต่กฎหมายมองว่าเป็นผู้ที่มาร่วมเตียงหมอนอยู่กินกันและทำมาหาได้ร่วมกันในทางทรัพย์สิน โดยกฎหมายจะใช้หลักกรรมสิทธิ์ร่วมมาพิจารณาหากเกิดกรณีแยกทางกันในภายหลัง


หากตกลงกันไม่ได้ด้วยสันติ ฝ่ายที่เรียกร้องจะเอาทรัพย์สินหลังการแยกทางต้องร้องศาลขอแบ่ง ซึ่งศาลจะพิจารณาให้แค่ไหนจะดูจากหลักฐานประกอบต่างๆ นอกจากนั้นข้อควรคิดหลักๆ ของการไม่จดทะเบียนคือ ทั้งคู่จะไม่ได้รับมรดกของกันและกันในฐานะทายาทโดยธรรม หากต้องการให้อีกฝ่ายหนึ่งได้มรดก จะต้องตกลงไว้ในพินัยกรรม และเรื่องที่สำคัญที่ต้องจัดการคือ หากมีบุตรด้วยกัน บุตรจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของแม่เท่านั้น ถ้าต้องการให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อ จะต้องให้พ่อไปร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร อย่างไรก็ตาม การรับรองบุตรอาจเกิดได้โดยปริยาย เช่น พ่อยินยอมให้ใช้นามสกุลพ่อในสูติบัตร พ่อเลี้ยงดูส่งเสียค่าเล่าเรียนมาตลอด ต่างๆ เหล่านี้สามารถนำไปเป็นพยานหลักฐานเพื่อขอให้ศาลสั่งรับรองบุตรได้


เมื่อตกลงกันได้ระหว่างคู่ของเราว่าต้องการจะจดทะเบียนสมรสกัน แต่ก็ยังอยากจะตกลงเรื่องทรัพย์สินระหว่างกันไว้ก่อนเพราะต่างฝ่ายต่างก็มีทรัพย์สินเดิมมีกิจการของครอบครัวเดิมกันมา กฎหมายมีตัวช่วยในเรื่องนี้ที่เรียกว่า ‘สัญญาก่อนสมรส’ (Prenuptial Agreement) สัญญาก่อนสมรสเป็นสัญญาที่ชายหญิงมาทำความตกลงกันไว้ในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของแต่ละคน ซึ่งเป็นสัญญาที่มีแบบตามกฎหมายไทย ต้องทำขึ้นก่อนการจดทะเบียนหรือในวันที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น โดยต้องแจ้งกับนายทะเบียนที่จดทะเบียนสมรสให้ได้ว่ามีการทำสัญญาก่อนสมรสไว้และแนบสัญญากับทะเบียนสมรส สัญญาต้องลงนามโดยคู่สมรสทั้งสองฝ่ายและมีพยานอย่างน้อยสองคน คู่สมรสสามารถตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินได้ทุกรายละเอียดที่ต้องการ เช่น ทรัพย์สินอะไรบ้างเป็นสินส่วนตัว ดอกผล ดอกเบี้ย รายได้ต่างๆ ที่ได้มาหลังจากสมรส จะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินเหล่านั้น การเปลี่ยนแปลงสัญญาหรือยกเลิกสัญญาก่อนสมรสจะทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ในครอบครัวที่มีทรัพย์สิน มีกิจการส่วนตัว ที่ต้องพิจารณาในรายละเอียด ควรมีนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายครอบครัวมาช่วยพิจารณาและจัดทำสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้ความประสงค์ในเรื่องทรัพย์สินของครอบครัวมีการจัดการอย่างราบรื่นในอนาคต


ปัญหาและคดีความครอบครัวที่มีสถิตินำโด่งในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้แก่ คดีหย่าร้างและเรียกร้องค่าอุปการะ ปัญหาค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับครอบครัวที่มีลูก คดีฟ้องเรียกร้องค่าเลี้ยงดูบุตรถือเป็นคดีที่มีจำนวนมาก ส่วนใหญ่คดีมักจบที่ศาลตัดสินให้ฝ่ายที่ขอเลิกไปต้องมีหน้าที่มาช่วยค่าเลี้ยงดูลูกด้วยตามจำนวนที่สมควรกับฐานะ แต่ในความเป็นจริงมีมากมายที่ฝ่ายนั้นก็ไม่ทำตามคำตัดสินของศาลและปล่อยให้อีกฝ่ายต้องเลี้ยงดูลูกลำพังซึ่งเป็นภาระที่หนักหนาในยุคปัจจุบัน

ข้อคิดคู่สมรสทั้งก่อนและระหว่างแต่งงาน
 

  • การมีรายได้เป็นของตัวเองบ้างบางส่วน ที่ไม่เกี่ยวกับรายรับจากคู่สมรสเป็นสิ่งที่ควรกระทำ (กรณีนี้สำคัญมากตามหลักสามัญเพราะตนเป็นที่พึ่งแห่งตน) ควรมีเงินเก็บหรือทรัพย์สินบางส่วนที่เป็นชื่อของตัวเองล้วนๆ บ้าง เผื่อยามอนาคตหากมีอะไรเกิดขึ้นไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตาย เพราะคนที่ยังอยู่จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือหากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน
  • จากหลายๆ กรณีมีบางบ้านบางครอบครัวที่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนจัดการทรัพย์สินคนเดียว โดยเก็บเงินสด ทรัพย์สินต่างๆ เป็นชื่อคนคนเดียว เช่น กรรมสิทธิ์บ้าน รถ ที่ดิน เงินในบัญชี กองทุน หลักทรัพย์ต่างๆ ใส่เป็นชื่อภรรยาคนเดียวหรือชื่อสามีคนเดียว แบบนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงระดับหนึ่งที่ต้องมีการจัดการเผื่อไว้ด้วย

 

ถ้าเป็นกรณีจากกันแบบเสียชีวิต ก็ต้องมาดูก่อนว่าได้จดทะเบียนสมรสกันไหม ถ้าจดทะเบียนสมรสกันจะค่อนข้างปลอดภัย คู่สมรสฝ่ายที่มีชีวิตอยู่จะถือเป็นทายาทโดยธรรมชั้นบุตรและยังมีสินสมรสอยู่ ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ร่วมกันจะไม่หนีหายไปไหน (ถ้าอีกฝ่ายไม่ได้ทำพินัยกรรมให้คนอื่นไปก่อนลาจาก)


หากเป็นกรณีจากกันแบบที่คนขอเลิกไปคือคนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ และคนที่ขอเลิกไม่แบ่งทรัพย์สินให้ คนฝั่งที่ถูกบอกเลิกจะต้องไปฟ้องร้องขอแบ่งสินสมรสที่อยู่ในชื่ออีกคน ซึ่งการขึ้นศาลขอแบ่งสินสมรสก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องมีทนายความมาช่วยทำคดีและใช้เวลานานพอสมควร อีกทั้งยังใช้พยานหลักฐานมากมาย


ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและเก็บทรัพย์สินในชื่อคนคนเดียว จะค่อนข้างเสี่ยงที่สุดทั้งจากกรณีจากกันแบบเสียชีวิตหรือเลิกร้างกัน ถ้าเป็นกรณีเสียชีวิต และไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทายาทโดยธรรมเท่านั้นที่จะได้รับมรดก หากเป็นกรณีเลิกรากัน ฝั่งที่มีทรัพย์สินในชื่อตัวเองจะได้เปรียบกว่ามาก ถ้าคนที่มีทรัพย์สินในชื่อตัวเองไม่แบ่งให้อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่อยากได้ทรัพย์สินจะต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอแบ่งทรัพย์สินตามหลักกรรมสิทธิ์ร่วม โดยต้องพิสูจน์ในชั้นศาลว่าทำมาหากินได้รายได้มาด้วยกัน ซึ่งไม่ง่ายและใช้เวลาพอสมควร


การวางแผนเรื่องทรัพย์สินก่อนสมรสไม่ใช่เรื่องของการเห็นแก่ตัวหรือการที่รักกันไม่มากพอ แต่คือการแสดงความจริงใจ ควรมองเรื่องนี้อย่างเปิดใจและเป็นกลาง อย่ามองอีกฝ่ายที่ยกเรื่องขึ้นมาคุยว่าทำไมเธอมองโลกแง่ร้าย ทำไมเธอมาคุยกันเรื่องเลิกรากัน เรื่องทรัพย์สินต่างๆ ในตอนนี้ อยากให้คิดว่าเป็นการวางแผนที่ไม่ต่างกับการวางแผนการเงินหลังเกษียณที่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำ


บทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างเสี้ยวเล็กๆ จากกรณีศึกษา จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคู่จะวางแผนร่วมกันในเรื่องทรัพย์สินของคนที่มาใช้ชีวิตด้วยกันเพื่ออนาคตของทั้งคู่ที่จะได้ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลหากมีปัญหาเกิดขึ้น
 

*ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพครอบครัว


บทความโดย คุณกมลชนก รามโกมุท ผู้อำนวยการ Estate Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์


ขอบคุณข้อมูล : The Standard Wealth