ตามรอยวัดศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 ภาค

ตอนนี้กำลังจะผ่านพ้นครึ่งแรกของปี 2564 และเข้าสู่ฤดูฝนที่เริ่มโปรยปรายลงมา ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง และคนที่เรารักด้วยนะคะ หลังจากน้องมีบุญพาเพื่อนๆ เที่ยววัดต่างๆ ในแต่ละภาคมาแล้ว วันนี้ก็เลยจะขอชวนเพื่อนๆ ตามรอยไปเที่ยวทิพย์กับวัดศักดิ์สิทธิ์จากทั้ง 5 ภาคของประเทศไทยกัน ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลยค่ะ

5-temples-thailand-01

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดแรกที่จะชวนไป เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง เมื่อใช้หลักการของการพยากรณ์อากาศ สภาพเศรษฐกิจ และสังคม วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดใหญ่” เป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม ตามที่ปรากฎบนหลักศิลาจารึกสุโขทัยว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันธาตุสุคนธเจดีย์ และยังมีปรากฎในพงศาวดารเหนืออีกว่า “ในราวพุทธศักราช 1900 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎก และคัมภีร์ศาสนาอื่นๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร 4 ทิศ มีพระระเบียง 2 ชั้น และทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง 3 หลัง” ซึ่งวัดแห่งนี้ มีความงดงามทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และศิลปกรรม และหนึ่งในพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ ก็คือ พระพุทธชินราช พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระที่สวยงามที่สุดของประเทศไทย จนได้รับการจำลองมากที่สุดด้วยเช่นกัน จนเมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ในปี พ.ศ.2458

พระพุทธชินราช หรือหลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 7 ศอก กว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในวิหารเก้าห้องที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ได้รับการบูรณะ ดูแลเป็นอย่างดีจนถือว่าเป็นวิหารที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งนึง และด้วยความเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ของวัดแห่งนี้ ทำให้ผู้คนที่นับถือมักมาขอพร ให้คุ้มครอง ให้แคล้วคลาดจากภัยอันตราย และหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย นอกจากนี้ ที่วัดยังมีงานสมโภชพระพุทธชินราช ในช่วงวันมาฆบูชา หรือวันเพ็ญเดือน 3 เป็นประจำทุกปีอีกด้วย

ที่ตั้ง https://goo.gl/maps/PxfzX8xeXxkgAwKA6

92/3 ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก

วัดบ้านไร่

“ชั่ว ดีอยู่ในกะโหลก มาเขกโป๊กๆ จำไว้ให้ดี” หากเอ่ยถึงเพลงนี้ หลายคนอาจจะร้องอ๋อได้ในทันที ว่าต้องเป็น หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในวัดดังประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลวงพ่อคูณ ได้รับพลังศรัทธาจากผู้คนทั่วทั้งประเทศ ด้วยหลักการสอนแบบเมตตามหานิยม สอนด้วยภาษาง่ายๆ และด้วยความสมถะของท่านนั้น จึงเป็นพระที่เข้าถึงมวลชนได้ทุกระดับ

ในสมัยก่อน วัดบ้านไร่เป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีเจ้าอาวาสรูปแรกคือ พระอาจารย์เชื่อม วิรโช ซึ่งท่านก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อคูณตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กชายคูณอีกด้วย วัดนี้ได้ค่อยๆ พัฒนาจนมาถึงยุคที่หลวงพ่อคูณเป็นเจ้าอาวาส มีผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากแวะเวียนมาหาสม่ำเสมอ พร้อมทั้งได้ถวายปัจจัยเป็นเงินจำนวนมหาศาล จึงทำให้วัดพัฒนาขึ้นมาก นอกจากนี้ได้มีการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ถึงแม้ว่าหลวงพ่อคูณจะได้มรณภาพไปแล้วเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2558 แต่มูลนิธิต่างๆ ที่มีก็ยังดำเนินการตามความตั้งใจที่จะช่วยเหลือชุมชนสืบต่อไป

ปัจจุบันวัดบ้านไร่มีรักษาการเจ้าอาวาส คือ พระภาวนาประชานารถ และวัดแห่งนี้ยังได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งนึงของจังหวัดนครราชสีมา มีหอเทพวิทยาคม เฉลิมพระเกียรติ หรืออาคารปริสุทธปัญญา ซึ่งมีลักษณะเด่นเป็นประติมากรรมช้างอยู่บนบึงน้ำขนาด 30 ไร่ บนดาดฟ้าของอาคารแห่งนี้มีรูปปั้นหลวงพ่อคูณ และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ ที่นี่จึงเป็นพุทธสถานนิกายเถรวาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บรรดาศิษยานุศิษย์ และผู้มีจิตศรัทธาในหลวงพ่อคูณ ยังคงพากันมากราบไหว้ ทำบุญ ขอพรให้แคล้วคลาดจากภยันตรายอยู่เป็นประจำอีกด้วย

ที่ตั้ง https://goo.gl/maps/WtczNFM6ChUpsga57

ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา

วัดท่าการ้อง

มาถึงวัดในภาคกลางกันบ้าง “กากุ กากุ กุกา กุกา นโมพุทธายะ” คือคาถาที่จะได้ยินมากที่สุดจากวัดแห่งนี้ ตามประวัติเล่าว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยชื่อวัดท่าการ้องนั้น ได้จากการรวม 2 วัด คือ วัดท่า และวัดการ้อง เข้าด้วยกัน ในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากย้อนกลับไปศึกษาพงศาวดารจะพบว่าวัดท่าการ้องมีบทบาทสำคัญมากมายในสมัยอยุธยา โดยถูกใช้เป็นค่ายของทหารพม่าในช่วงก่อนจะเสียกรุง จนมีคำกล่าวว่า “นกกาจากวัดการ้อง บินไปเสียบอก ณ ยอดพระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ ใจกลางกรุงศรีอยุธยา น้ำตาหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ไหลนองพระเนตร อันเป็นลางบอกเหตุสิ้นแล้ว แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา”

ในปัจจุบัน พื้นที่ของวัดท่าได้ถูกรวมเข้ามาเป็นวัดท่าการ้อง โดยวัดการ้องนั้นจะอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่พระพุทธรูป ซากเจดีย์ รูปปั้นอีกา 1 ตัว และยังเหลือสถาปัตยกรรมสำคัญ คือ ศาลาการเปรียญไม้สักริมน้ำเจ้าพระยา อุโบสถที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรัตนมงคล หรือหลวงพ่อยิ้ม อันเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน ตัวอุโบสถนั้นเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่มีสภาพสมบูรณ์ หน้าบันเป็นไม้จำหลักสวยงาม ซุ้มประตู และหน้าต่างประดับลายปูนปั้น ภายนอกมีกำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถอีกชั้นหนึ่ง

วัดท่าการ้อง นอกจากจะเด่นในเรื่องของการขอพรจากหลวงพ่อยิ้ม ที่ต้องตั้งจิตอธิษฐานขอพรที่ต้องการที่สุดเพียงข้อเดียวเท่านั้นแล้ว ยังได้รับความนิยมเรื่องเครื่องรางอย่าง ตะกรุดสาลิกาลิ้นทอง ที่เป็นวัตถุมงคลชื่อดังของทางวัดอีกด้วย

ที่ตั้ง https://goo.gl/maps/hpjpCj8h3G2weLkJ7

หมู่ 6 บ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

วัดสมานรัตนาราม

วัดสวยสงบร่มรื่น ริมแม่น้ำบางปะกง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก เป็นที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศปางนอนเสวยสุขที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความสูง 16 เมตร ยาว 22 เมตร เนื้อชมพู พระหัตถ์ซ้ายถืองาที่หัก พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว รอบฐานมีพระพิฆเนศ 32 ปาง และยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนับถืออีกมากมาย เช่น พระธาตุอินแขวนจำลอง หลวงพ่อองค์ดำ หลวงพ่อประทานพรขอโชคลาภ พระโพธิสัตว์กวนอิม ปางประทานบุตร และโชคลาภ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลกันมาสักการะ ขอพรให้ได้ผลสำเร็จสมดังใจปรารถนาจากวัดแห่งนี้กันไม่ขาดสาย

จากคำบอกเล่าถึงที่มาของวัดนี้ กล่าวกันว่า ณ ตำบลบางแก้ว มีท่านขุนนามว่า ขุนสมานจีนประชา มีน้องสาว 1 คนชื่อ นางยี่สุ่น วิริยะพาณิชย์ และท่านขุนมีภรรยาอีก 2 คน คือ นางทิม และนางส่อง สืบสมาน เมื่อท่านขุนถึงแก่อนิจกรรม น้องสาว และภรรยาก็มีความตั้งใจจะสร้างวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดใหม่ขุนสมานเพิ่มนคร” แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่า “วัดใหม่ขุนสมาน” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จทางชลมารค์ผ่านมา และทรงแวะเยี่ยมวัดแห่งนี้ด้วย แต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป ทำให้วัดแห่งนี้เสื่อมสภาพ ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก จนเมื่อปีพ.ศ.2543 พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ ซึ่งเพิ่งบวชได้เพียง 2 พรรษา เห็นสภาพเสื่อมโทรมของวัดจึงเกิดความสังเวช จึงปวารณาตนตั้งจิตอธิษฐาน และลงมือบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ จนทำให้วัดใหม่ขุนสมานพัฒนาไปอย่างมาก กลายเป็นวัดที่สวยงามสะอาดตา และเป็นสถานที่ ที่ให้ความสุขทั้งทางโลก และทางธรรมอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

ที่นี่ ยังมีตลาดน้ำสำหรับเป็นที่พักผ่อน หาซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไปด้วย รวมถึงจุดถ่ายรูปสวยงาม อย่าง พญานาคที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง เรียกว่า มาที่เดียวได้ทั้งความอิ่มใจ อิ่มกาย และสบายตาจริงๆ

ที่ตั้ง https://goo.gl/maps/LSpS8BH46t18KSn5A

หมู่ที่ 11 ถนนฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

วัดมหัตตมังคลาราม

เดินทางลงสู่ภาคใต้ เพื่อสักการะวัดมหัตตมังคลาราม หรือวัดหาดใหญ่ใน แต่เดิมเมื่อปี พ.ศ.2488 ที่นี่จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์มาก่อน อีก 2 ปีต่อมาจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดอย่างเป็นทางการ และในปี พ.ศ.2497 ก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ภายในวัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์ ที่มีความยาว 35 เมตร สูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร ถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก บริเวณฐานขององค์พระ มีศิลปะลายปูนปั้นสวยงามชดช้อยโดยรอบ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามให้ว่า “พระพุทธมหัตตมงคล” แปลว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงบรรลุถึงความเป็นใหญ่ เป็นมงคล” โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ในขณะที่ดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับวัดนี้ ไว้ในพระราชานุเคราะห์ และพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า “วัดมหัตตมังคลาราม” ให้สอดคล้องกับนามของพระพุทธไสยาสน์ประจำวัด พร้อมด้วยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อพระนามาภิไธยย่อ “ม.ว.ก.” ติดซุ้มประตูด้วย

นอกจากนี้ยังมีห้องพระใต้ฐานพระนอนอีก 1 ห้องใหญ่ๆ สามารถเข้าไปสักการะได้ และในบริเวณวัดก็ยังมีเรือพญานาค 7 เศียรจำลอง ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในซุ้มสวยงาม ใต้ต้นไทรขนาดใหญ่ที่ให้ความร่มรื่นสบายใจยามที่เข้ามาในวัด รับรองว่า อิ่มบุญสุขใจเมื่อได้ไหว้พระขอพรจากวัดแห่งนี้แน่นอน

ที่ตั้ง https://goo.gl/maps/KujGK5s1MXZqeu5X9

134 ซอย 26 ถนนเพชรเกษม  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา

ช่วงนี้ หากใครยังไม่สะดวกเดินทาง น้องบุญมี ขอชวนทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วยการบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถานสร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY มีขั้นตอนดังนี้

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด ‘ยอมรับ’ ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่กรมสรรพากร และ/หรือหน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เงินก็ส่งไปเข้าบัญชีวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้วที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจสายบุญยุคดิจิทัล