ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
หลีกเลี่ยง 3 ปัญหาทางการเงินที่ทำให้ครอบครัวพัง
คู่รักโดยเฉพาะคู่สามีภรรยาที่แต่งงานอยู่กินด้วยกัน บางคู่อาจมีปัญหาการเงิน ที่ตอนแรกดูเหมือนเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ทั้งคู่อาจมองข้ามไปได้ แต่พอนานวันเข้าหากไม่มีการเปิดอกพูดคุยกัน กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ และมักจะเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการหย่าร้าง บทความนี้จะมานำเสนอวิธีหลีกเลี่ยง 3 ปัญหาการเงินที่อาจทำให้ครอบครัวพังได้ มาลองดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
1.ไม่คุยเรื่องการบริหารเงิน และการวางแผนการเงิน
เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่หลายคู่แชร์ประสบการณ์และเป็นที่ปรึกษากันได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเงิน ด้วยสาเหตุส่วนตัวของแต่ละคน อย่างไรก็ตามการไม่คุยกันเกี่ยวกับเรื่องเงิน ทำให้ไม่สามารถวางแผนการเงินในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้อย่างที่ควรจะเป็น เรื่องที่ควรคุยกันเกี่ยวกับเงิน เช่น การตั้งเป้าหมายทางการเงินร่วมกัน การวางแผนค่าใช้จ่าย การวางแผนการออมทั้งระยะสั้น กลาง ยาว รวมไปถึงการวางแผนอนาคตร่วมกัน
การวางแผนการเงินสำหรับอนาคตถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องพูดคุยกันทันทีที่เริ่มต้นชีวิตคู่ ตัวอย่างเช่น การวางแผนการเงินระยะยาว อาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป บางคู่อาจเตรียมแผนสำหรับมีลูกในอีก 5 ปีข้างหน้า ซื้อบ้านใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการ แต่แผนที่ทุกคู่ควรมีและต้องมี คือ การวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุ จึงต้องแยกกับเงินสำรองฉุกเฉิน และเงินระยะยาวอื่นๆ โดยอาจเริ่มต้นจากการแบ่งเงินเดือน 20% ของทุกๆ เดือนสำหรับฝากออมทรัพย์ หรือลงทุนในกองทุน หุ้น หรือลงทุนอื่นๆ ตามความเข้าใจและความเสี่ยงที่รับได้เพื่อให้เงินส่วนนี้ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับการเวลาเพื่อนำไปสู่ “การเกษียณสุข” และความรู้สึกมั่นคงทางการเงินของทั้งคู่ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อวันหนึ่งวันใดมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างยังมีเงินประคับประคองชีวิตของตัวเองได้แบบไม่ลำบาก
2.ปัญหาหนี้สินทั้งของตนเองและคนในครอบครัว (ของทั้ง 2 ฝ่าย) รวมถึงการค้ำประกันให้ผู้อื่น
คู่สามีภรรยาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหนี้ แต่อีกฝ่ายไม่มี ไม่ว่าจะหนี้รถยนต์ หนี้บ้าน หรือแม้แต่หนี้นอกระบบทั้งของตนเองและคนในครอบครัว รวมไปถึงการค้ำประกันให้กับผู้อื่น และการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ทำให้เกิดคำถามว่าใครควรเป็นคนใช้หนี้ แล้วอีกฝ่ายต้องช่วยใช้หนี้ด้วยหรือไม่ ทางที่ดีควรมีการพูดคุย ตกลงกันให้ชัดเจนตั้งแต่แรก อย่าปล่อยให้เป็นคำถามคาใจรอวันปะทุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการจดทะเบียนสมรสกันหนี้ส่วนตัว ใช้สินส่วนตัวชำระก่อน ถ้าไม่พอจึงใช้สินสมรสในส่วนของตน หนี้ร่วม (หนี้สมรส) เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกบังคับชำระหนี้ได้จากสินสมรส หากไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถเรียกเอาจากสินส่วนตัวของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นควรเปิดอกคุยกันให้ชัดเจน ก่อนที่ปัญหาหนี้สินจะลุกลามและบานปลายจนเป็นสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวพังได้
3.ปัญหาเรื่องการติดการพนันของตนเองและคนในครอบครัว
คนส่วนใหญ่ยังมองปัญหาการติดการพนัน (Pathological Gambler) เป็นปัญหาเล็กกว่าการติดสารเสพติด และบางคนยังคิดว่าเป็นเรื่องเสี่ยงโชค เป็นการเล่นสนุกเพื่อความตื่นเต้น แต่ในหลายกรณี อาจนำไปสู่การติดการพนันที่เป็นปัญหาได้ คือเล่นบ่อย เล่นมากขึ้น เลิกไม่ได้ จนเกิดความเสียหายทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน เวลา ประสิทธิภาพการเรียนและการทำงาน ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ตลอดจนเป็นปัญหาสุขภาพทั้งกายและใจ เช่น ปัญหาความกังวล ความเครียด และปัญหาอื่นๆ แม้คนติดการพนันอาจจะมีสัดส่วนที่น้อย แต่อาจมีผลกระทบถึงครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงใกล้ชิด ทำให้ความเสียหายใหญ่กว่าที่เราคาดกัน
คนทั่วไปที่เล่นการพนันอาจเล่นเพราะรู้สึกสนุกกับการที่ได้เสี่ยง หรือลุ้นที่จะชนะพนัน ในขณะที่บางคนเล่นเพื่อทำให้อารมณ์ตนเองดีขึ้น หรือเพื่อหลีกหนีจากปัญหามรสุมในชีวิต สำหรับสาเหตุของการติดการพนันนั้น ปัจจุบันจัดว่าเป็นโรคทางสมอง ** โดยงานวิจัยได้พบว่า วงจรการทำงานของสมองของผู้ติดการพนันมีลักษณะที่ต่างจากคนทั่วไป เช่น วงจรการควบคุมตนเอง มีความผิดปกติ นอกจากนี้สารสื่อประสาทในสมองชนิดหนึ่ง คือ Serotonin อาจเสียสมดุลในผู้ที่ติดการพนัน หากพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวติดการพนัน อาจจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์
** ที่มา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดังนั้นคู่สามีภรรยา จึงต้องหมั่นสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของอีกฝ่ายและคนในครอบครัวว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และเปิดอกพูดคุยเรื่องการเงินให้ชัดเจน เพื่อที่หากมีปัญหาทางการเงินใดๆ ก็ตามเกิดขึ้น จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที และจะได้ร่วมกันวางแผนการเงินสำหรับอนาคต เพียงเท่านี้ชีวิตคู่ของคุณก็จะยืนยาว สมดังคำอวยพร ‘
ขอให้ครองคู่กันไปจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
’
บทความโดย : นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC
นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร