ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้ห่างไกล COVID-19

การแพร่ระบาดของ COVID-19  ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง  แถมภูมิคุ้มกันยังน้อยกว่าคนทั่วไป   ทำให้มีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 ได้ง่ายและมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่น  หากไม่ได้รับการดูแลและป้องกันให้ดี   สำหรับลูกหลานผู้ที่ดูแลต้องทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง

โดยหลักการสำคัญในการดูแลและป้องกันผู้สูงอายุในช่วงนี้   คือ  ไม่ให้ใครนำเชื้อไปแพร่ และต้องให้อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย   ควรระมัดระวังบุคคลที่ไม่แสดงอาการแล้วนำเชื้อมาสู่ผู้สูงอายุ   หรือถ้าหากในบ้านมีสมาชิกที่ต้องสงสัยว่าจะป่วยหรืออาจได้รับเชื้อจะต้องให้แยกตัวออกไปเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อมาสู่ผู้สูงอายุที่บ้านได้

วิธีการดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจาก COVID-19

  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่

ควรดูแลอาหารผู้สูงอายุให้ครบทั้ง  5 หมู่  และต้องเลือกอาหารที่หลากหลาย  เพื่อให้ได้สารอาหารครบตามความต้องการของร่างกาย  ควรเน้นทานอาหารที่มีโปรตีนสูง  ทั้งเนื้อสัตว์  ไข่  นม  และถั่วเมล็ดแห้ง   เพื่อช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ  เสริมภูมิคุ้มกัน  รวมทั้งทานผักผลไม้อย่างเพียงพอเพื่อเพิ่มกากใยช่วยการขับถ่าย และไม่รับประทานอาหารที่หวาน หรือเค็มเกินไป   
 

  • ให้ออกกำลังกาย

ผู้สูงอายุที่ยังสามารถเดินได้ตามปกติ   ไม่มีปัญหาเรื่องข้อ และกระดูกสามารถออกกำลังกายได้ เช่น  การเดิน  การแกว่งแขน    แต่สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องกระดูก และข้อ  ให้ออกกำลังกายในท่าง่ายๆ เช่น  หมุนหัวไหล่  หมุนตัว  ยกขาขึ้นลงเท่านั้น   เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องการทรงตัวแล้ว  ยังช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม  ชะลอความเสื่อมของวัยและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับสำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ เพราะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ   ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน  ควรให้นอนไม่เกิน  3  ทุ่ม   เพื่อให้พักผ่อนได้เต็มที่   สำหรับผู้สูงอายุที่มักจะนอนไม่หลับ  ผู้ดูแลต้องให้หลีกเลี่ยงการนอนกลางวันหรือจำกัดเวลานอนกลางวัน   ไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน  ให้งดดื่มน้ำ 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะเข้านอนจะได้ไม่ตื่นมาปัสสาวะบ่อยๆ  รวมทั้งให้ออกกำลังกายในตอนกลางวันก็จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

  • ให้พกเจลล้างมือหรือเตือนให้ล้างมือบ่อยๆ 

ผู้สูงอายุอาจจะลุกเดินลำบากหรือมักจะหลงลืม  ผู้ดูแลควรหาเจลล้างมือให้พกติดตัว  หรือคอยเตือนให้ล้างมือบ่อยๆ  เช่น  ก่อนทานอาหาร  หรือหลังจากการสัมผัสพื้นที่ร่วมต่างๆ
 

  • งดทานอาหารร่วมกับคนในบ้าน

ควรแยกสำรับอาหารสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ  เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
 

  • งดใช้ของร่วมกับคนในบ้าน

 โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัวควรแยกต่างหาก   เช่น  จาน,  ชาม,  ช้อนส้อม, ยาสีฟัน,   สบู่,   ผ้าเช็ดตัว  เป็นต้น

  • งดออกจากบ้าน

ในช่วงที่เกิดการระบาดให้งดออกจากบ้านหรือออกไปพบปะผู้คนโดยเด็ดขาด  หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน   ต้องให้สวมหน้ากากอนามัยและถุงมือยางเพื่อป้องกันไม่ให้มือไปสัมผัสพื้นที่ร่วมต่างๆ  ลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อ และเมื่อกลับถึงบ้านต้องให้ทำความสะอาดร่างกายทันที
 

  • งดแสดงความรัก    

ตามปกติผู้สูงอายุมักเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในบ้าน  เวลาจะออกนอกบ้านหรือกลับเข้ามาบ้าน  ส่วนใหญ่ลูกหลานมักจะแสดงความรักด้วยการกอดหรือหอม  แต่ในช่วงนี้ควรงดโดยเด็ดขาดเพื่อรักษาระยะห่าง และเมื่อลูกหลานกลับมาถึงบ้านควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดก่อนที่จะเข้าใกล้ผู้สูงอายุ
 

  • หากิจกรรมคลายความเครียดให้ทำ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีกลุ่มเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันที่ออกไปพบปะพูดคุยทำกิจกรรมเพื่อคลายเหงาเวลาที่ลูกหลานออกไปนอกบ้าน  แต่ในช่วงที่เกิดการระบาดไม่ได้ออกนอกบ้าน  อาจเกิดความเครียด  ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรหากิจกรรมที่ชอบให้ทำ  เช่น  ร้องคาราโอเกะ, ทำอาหารหรือขนม, ทำงานฝีมือ  เช่น  เย็บหน้ากากผ้า, ทำ Face Shield เพื่อเอาไว้ใช้เองในครอบครัวหรือนำไปบริจาคตามโรงพยาบาลก็จะช่วยให้คลายเหงาได้  แถมยังได้ทำประโยชน์ให้ต่อผู้อื่นอีกด้วย

นอกจากจะดูแลเรื่องอาหารการกิน  สุขอนามัยต่างๆ  ให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในช่วง COVID-19 แล้ว การดูแลทางด้านจิตใจให้ความรัก  ความอบอุ่น  ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันที่ลูกหลานทุกคนจะมอบให้แก่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในบ้าน   เพียงแค่กล่าวทักทาย  พูดคุย  ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ  หรือหาเรื่องราวสนุกๆ มาเล่าให้ท่านฟัง  ก็จะเป็นการเติมความสุข  เติมกำลังใจให้ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี  และอย่าลืมว่าต้องรักษาระห่างกับผู้สูงอายุ   เพื่อที่ท่านได้ปลอดภัยจากโรคมีสุขภาพแข็งแรงอยู่เป็นขวัญและกำลังใจให้กับทุกคนในครอบครัวได้ไปนานๆ   

 

ข้อมูล

https://www.thaihealth.or.th

https://www.samitivejhospitals.com

https://www.paolohospital.com