Universal Design หลักการออกแบบ ปรับปรุงบ้านให้อยู่สบายปลอดภัยสำหรับคนทุกวัยในครอบครัว

ยังมีครอบครัวไทยจำนวนมากที่มีหลายเจนเนอร์เรชั่นอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน เช่น มีคู่พ่อแม่วัยกลางคนที่มีลูกเล็กวัยอนุบาล และมีคุณตา คุณยายวัยชรา ที่คอยช่วยเลี้ยงหลานเวลาที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ชีวิตต่างวัยภายใต้หลังคาเดียวกันบางครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความต้องการและสภาพร่างกายของคนแต่ละวัยนั้นต่างกัน แต่จะออกแบบบ้านอย่างไรให้มีฟังก์ชั่นและพื้นที่ใช้สอยแต่ละส่วนให้ตอบโจทย์สำหรับทุกคนแบบที่ทำแล้วจบครบทุกความต้องการ วันนี้เรามีแนวคิดในการออกแบบ ปรับปรุงบ้านให้อยู่สบายสำหรับทุกคน นั่นคือแนวคิด Universal Design นั่นเอง


Universal Design หรือบางครั้งถูกเรียกว่า Barrier-free design
เป็นแนวคิดในการออกแบบที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงาน ให้อยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับคนทุกประเภท ไม่ว่าจะเรื่องของวัยหรือสมรรถภาพร่างกาย ในทุกเวลา ทุกฤดูกาล โดยไม่ต้องทำการดีไซน์ส่วนใดส่วนหนึ่งเฉพาะเพื่อใครเป็นพิเศษ เพราะทุกองค์ประกอบใช้ได้กับทุกคนในครอบครัว  แนวคิดนี้เป็นของ Ron Mace สถาปนิกชื่อดัง โดยเขาได้ก่อตั้ง The Center for Universal ( www.design.ncsu.edu/cud ) ขึ้นที่มหาวิทยาลัย North Carolina State University ในปี 1989 และภายหลังในปี 2007 ได้มีการปรับปรุงแนวคิดนี้และประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน


หลัก 7 ประการของ Universal Design


หลักการที่ 1 : ใช้งานได้กับทุกคน (Equitable Use )

การออกแบบต้องคำนึงถึงความแตกต่างของสมรรถภาพร่างกายของคนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคนปกติ คนพิการ เด็ก หรือผู้สูงอายุ ซึ่งสามาถขยายความได้ดังนี้

  • การใช้งานส่วนต่างๆ ของบ้านต้องสะดวกสำหรับคนทุกประเภท เช่น ทางเข้าบ้านไม่ควรมีขั้นบันได โดยใช้เป็นทางลาดที่ไม่ชันแทน หรือหากมีทางเข้าหลายทาง อย่างน้อยควรมี 1 จุดที่ไม่มีขั้นบันได เพราะจะดีทั้งกับผู้สูงอายุหรือเด็กที่ต้องใช้รถเข็น แม้กระทั่งการนำรถจักรยานเข้าบ้านหรือขนเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านก็จะทำได้สะดวกขึ้นเช่นกัน

  • หลีกเลี่ยงการออกแบบสำหรับผู้ใช้งานบางประเภทโดยเฉพาะ เช่น ทำห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุใช้เท่านั้น เพราะบางครั้งอาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกไม่ดี ว่าตนเองเป็นภาระ ทำอะไรไม่ได้เหมือนคนอื่น

  • มอบความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การมีมุมต่างๆในบ้าน เช่น มุมทานอาหาร มุมดูทีวี มุมทำงาน เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถมีพื้นที่ส่วนตัวในการทำกิจกรรมที่ตัวเองต้องการตามลำพัง โดยไม่รบกวนสมาชิกคนอื่นในบ้าน

  • มีดวงไฟส่องสว่างหลายจุด เช่น บางคนอาจต้องการอ่านหนังสือก็สามารถเปิดไฟเฉพาะจุดโดยแสงสว่างไม่รบกวนคนอื่นที่ต้องการพักผ่อน

  • รูปแบบ ความสวยงามตรงกันเป็นที่พึงใจหรือยอมรับได้สำหรับทุกคน


หลักการที่ 2 : ความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Flexibility in Use
)

การออกแบบและเลือกใช้วัสดุต่างๆ ภายในบ้านต้องรองรับความต้องการและสมรรถภาพของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันโดยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานให้เหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคนได้

  • มีตัวเลือกในวิธีการใช้งาน เช่น สวิทช์ปิดเปิดไฟอาจมีทั้งแบบสายดึงบริเวณใกล้หัวเตียงและสวิทช์ตรงผนังใกล้ทางเข้าห้อง ฝักบัวในห้องน้ำควรใช้แบบมือจับที่ปรับระดับได้จะดีกว่าแบบยึดติดกับผนัง  บางบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ใช้ระบบ Digital Door Lock ก็ควรเลือกใช้แบบสองระบบคือสามารถกดรหัสหรือใช้คีย์การ์ดและมีระบบไขกุญแจตามปกติด้วย เพราะหลายครั้งพบว่าผู้สูงอายุบางคนไม่ถนัดในการใส่รหัสเพื่อเปิดประตู ชอบใช้กุญแจไขมากว่า

  • ให้ความสะดวกในการใช้งานไม่ว่าคนนั้นจะถนัดซ้ายหรือถนัดขวา ยกตัวอย่างเช่น ก๊อกน้ำที่อ่างล้างจานควรติดไว้ตรงกลางและใช้วิธีการเปิดปิดก๊อกด้วยการโยกไปข้างหน้าและโยกไปข้างหลัง หรือมีหัวโยกเพื่อเปิดปิดน้ำทั้งด้านซ้ายและขวาของตัวก๊อกน้ำแทนแบบหัวหมุนที่ส่วนมากมักจะใช้การหมุนไปทางขวา

  • ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้ถูกต้องและแม่นยำสำหรับผู้ใช้งาน เช่น ที่จอดรถต้องมีสโลปที่พอเหมาะไม่ชันเกินไปจนท้องรถครูดพื้น และบริเวณที่จอดมีสัญลักษณ์ชัดเจนว่าควรหยุดตรงไหนเพื่อไม่ให้ชนกำแพงหรือสิ่งของต่างๆ ที่อาจอยู่ในมุมอับ


หลักการที่ 3 : ไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย (Simple and Intuitive Use
)

การออกแบบนั้นต้องง่ายต่อการเข้าใจโดยไม่คำนึงถึงประสบการณ์ ความรู้ทักษะทางภาษาหรือต้องพยายามมากขณะใช้งาน

  • ออกแบบให้สอดคล้องกับความคาดหวังและความคุ้นเคยของผู้ใช้ เช่น ห้องน้ำในเมืองไทยต้องมีสายชำระ (ซึ่งในประเทศแถบยุโรปหรืออเมริกาจะไม่มี)

  • เข้าใจง่ายสำหรับคนทุกระดับการศึกษาและความสามารถในการเข้าใจภาษา เช่น การปรับน้ำอุ่นน้ำและน้ำเย็น ใช้สัญลักษณ์ที่ทุกคนเข้าใจ เช่น น้ำร้อนสีแดง น้ำเย็นสีฟ้า

หลักการที่ 4 : ข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย (Perceptible Information )

  • การออกแบบการสื่อสารที่จำเป็นและเข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้ใช้งานไม่ว่าผู้ใช้งานนั้นจะมีความสามารถในการรับรู้ระดับใด เช่น สัญลักษณ์ของห้องน้ำชายหรือห้องน้ำหญิงควรเป็นสากลทุกคนเข้าใจตรงกัน ห้างสรรพสินค้าบางแห่งพยายามดีไซน์ไอคอนแสดงสัญลักษณ์ห้องน้ำชาย และหญิงที่ให้แปลกใหม่ สวยงาม แต่ผู้ใช้มองไม่ออกว่าห้องไหนคือของผู้ชายหรือผู้หญิง แสดงให้เห็นชัดว่าการสื่อสารล้มเหลว หรือแม้กระทั่งการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบใหม่ที่เป็นระบบดิจิทัล ที่ต้องกดปุ่มเลือกเมนูหลายขั้นตอนจะทำให้ผู้สูงอายุบางท่านรู้สึกว่าใช้งานยากและทำให้ไม่อยากใช้งาน

  • รูปแบบสื่อสารข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมหรือความสามารถทางประสาทสัมผัสของผู้ใช้ทุกกลุ่ม หลายคนอาจเคยเจอปัญหาว่าประตูนั้นต้องดึงเข้าหรือผลักออก บางที่ไม่มีการสื่อสารชัดเจน เมื่อผลักเข้าอาจไปครูดกับพื้นที่ค่อนข้างต่ำเป็นต้น จึงควรมีข้อความบอกวิธีการใช้งานที่ชัดเจน

  • ใช้การสื่อสารหลายแบบ ทั้งภาพ เสียงหรือการสัมผัส สำหรับข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้บ่อยๆ เช่น ในบ้านที่มีผู้พิการทางสายตา หรือเด็ก อาจต้องมีทั้งตัวหนังสือ รูปภาพและอักษรเบล

  • แสดงให้เห็นความแตกต่างที่มากพอระหว่างพื้นที่ใช้งานและสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น ใช้สีที่แตกต่างกันระหว่างลูกนอนและลูกตั้งบันได ซึ่งทำให้การขึ้นลงบันไดปลอดภัยขึ้นเพราะผู้ใช้งานมองเห็นได้ชัดเจนว่าสุดขั้นบันไดแต่ละขั้นตรงไหน หรือการใช้สีที่ต่างกันชัดเจนระหว่างพื้นห้องกับบัวตรงผนัง ซึ่งช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้เช่นกัน นอกจากนั้นควรมีไฟส่องสว่างที่เพียงพอบริเวณบันไดและทางเข้าบ้านด้วย

  • ทำให้อุปกรณ์ใช้งานที่จำเป็นเด่นชัดขึ้น สังเกตได้ง่ายขึ้น เช่น อุปกรณ์ดับเพลิง หรือทางหนีไฟต้องชัดเจนพอ สังเกตเห็นได้ทันที กริ่งกดหน้าบ้านต้องเห็นชัดเจนไม่ถูกต้นไม้บังไว้และควรเรืองแสงในตอนกลางคืน

  • การออกแบบความกว้างของทางเดินหรือทางเข้าภายในบ้านต้องเข้ากันได้กับเทคนิคหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้โดยคนที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น ในบ้านที่มีผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ต้องใช้วีลแชร์ หรือใช้ไม้เท้าช่วยเดิน ในห้องน้ำรวมทั้งส่วนทางเดินเชื่อมต่อภายในบ้านต้องมีพื้นที่กว้างพอที่วีลแชร์จะผ่านหรือเข้าไปได้ เช่น ทางเดินในบ้านต้องกว้างอย่างน้อย  80 เซ็นติเมตร


หลักการที่ 5 : ลดความผิดพลาด (Tolerance for Error
)

การออกแบบช่วยลดอันตรายและผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

  • จัดเรียงองค์ประกอบเพื่อลดอันตรายและข้อผิดพลาด: ในห้องเก็บของต้องมีการจัดหมวดหมู่ของที่เก็บ สิ่งที่ต้องใช้มากที่สุดเข้าถึงได้ง่ายที่สุด วัสดุหรือสารพิษต่างๆ ที่เป็นอันตรายต้องกำจัด, แยก, หรือติดป้ายเตือนและซ่อนเอาไว้

  • ชั้นล่างของบ้านควรมีห้องน้ำอย่างน้อย 1 ห้อง เพื่อสะดวกทั้งแขกผู้มาเยือนและผู้อยู่อาศัย ปลั๊ก ไฟต่างๆ ไม่ควรอยู่ต่ำเกินไปที่เด็กเล็กเอื้อมถึง หรือมีฝาครอบเพื่อป้องกันเด็กเอามือไปแหย่เล่น

  • ห้องเก็บของหรือตู้เก็บของควรมีคำเตือนที่ชัดเจนว่าสิ่งใดเป็นอันตรายหรืออุปกรณ์ใดเสียหรือใช้การไม่ได้  เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ ยาฆ่าแมลงไว้ในที่เฉพาะและมีสติกเกอร์ติดไว้หน้าตู้ว่าเป็นสารอันตราย หรือเก็บมีดไว้ในที่ที่พ้นมือเด็กเป็นต้น อุปกรณ์ใดเสียควรติดป้ายบอกชัดเจนว่าห้ามใช้งาน

  • มีระบบความปลอดภัยหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ และมีระบบสปริงเกอร์ในกรณีที่เกิดไฟไหม้


หลักการที่ 6 : ไม่ต้องออกแรงมาก (Low Physical Effort
)


การออกแบบสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องออกแรงมาก มีความเหนื่อยล้าน้อยที่สุด

บางบ้านใช้ประตูกระจกบานเฟี้ยมหรือบานเลื่อนที่ใหญ่และหนักมาก ซึ่งผู้หญิงและคนแก่อาจไม่สามารถเปิดหรือปิดเองได้เพราะต้องออกแรงมากจนอาจเกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อได้

  • ช่วยให้ผู้ใช้รักษาตำแหน่งของร่างกายที่ปกติ ไม่ต้องก้ม เงย เอี้ยว เอื้อมตัวมากไป เช่น ระดับของก๊อกน้ำ หรือปลั๊กไฟต้องไม่ไกลจนเอื้อมไม่ถึง อ่างล้างหน้าควรจะติดกับของเคาท์เตอร์ให้มากที่สุดจะได้ไม่ต้องเอื้อมตัวมากเมื่อใช้งาน

  • ลดการทำซ้ำๆ บ่อยๆ ให้เหลือน้อยที่สุด เช่น ก๊อกน้ำแบบกดแล้วน้ำจะไหลออกมาเองระยะหนึ่งแล้วหยุด บางครั้งตั้งเวลาให้น้ำไหลออกมาสั้นเกินไป จนกระทั่งยังไม่สามารถล้างสบู่ที่มือออกได้หมด ต้องกดใหม่อีก 2-3 ครั้ง กว่ามือสะอาด กรณีนี้ควรปรับให้เวลาการไหลออกของน้ำยาวขึ้นพอเหมาะกับการใช้งานจริง


หลักการที่ 7 : ขนาดและพื้นที่ในการเข้าไปใช้งาน (Size and Space for Approach and Use )

พื้นที่การใช้งานต่างๆ ควรมีขนาดและพื้นที่ที่เหมาะสม เพียงพอสำหรับการเข้าถึง การจัดการและการใช้งานต้องคำนึงถึงขนาดร่างกาย ท่าทางหรือการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ เช่น พื้นที่ในครัว พื้นที่ระหว่างส่วนเตรียมอาหาร เตาหรืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตู้เย็น ควรมีพื้นที่เพียงพอที่จะสามารถหมุนตัว โดยเฉพาะในขณะที่มีของ เช่น มีถาดอาหารในมือ หรือกว้างพอที่คนสองคนสามารถเดินสวนกันได้สะดวก

บางบ้านมีบันไดที่แคบมากจนไม่สามารถขนของที่มีขนาดใหญ่เช่นที่นอน ก่อนออกแบบต้องแน่ใจว่าทุกส่วนมีพื้นที่ว่างเพียงพอสำหรับขนของ และพอสำหรับผู้ที่ต้องใช้เครื่องมือช่วยหรือมีคนช่วยระหว่างใช้งาน เช่น ผู้สูงอายุที่ต้องมีคนช่วยพยุง ใช้ไม้เท้า หรือผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์


จะเห็นว่าหลัก Universal Design จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่เราทราบอยู่แล้ว แต่บางครั้งละเลยหรือคิดไม่รอบคอบพอ ในกรณีปรับปรุงบ้านเดิมเทคนิคทั้งหมดสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทีละส่วนได้แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าเป็นการสร้างบ้านขึ้นใหม่ทั้งหลังก็สามารถใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการสร้างบ้านให้สะดวกสบายสำหรับทุกคนตั้งแต่เริ่มต้น


อ้างอิง https://www.udll.com/media-room/articles/the-seven-principles-of-universal-design/