วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ

ด้วยในวันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของชาวไทย ผู้ทรงอุทิศพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์ตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังมิได้มีพระราชอิสริยยศ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิถันยรักษ์ ในด้านการศึกษา ทรงก่อตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 400 โรงเรียนเพื่อให้การศึกษาไม่ขาดหายแม้จะอยู่ในที่ห่างไกลกันดาร ด้านธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พระองค์ได้เปลี่ยนจากไร่ฝิ่นบนผืนป่าดอยตุง เป็นดอยที่เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ ผลไม้ต่างๆ เช่น กาแฟอาราบิกา เห็ดหลินจือ สตรอว์เบอร์รี่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวเขาอย่างยั่งยืน ปราศจากยาเสพติด

ดังนั้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยมิเห็นแก่ความยากลำบาก อุทิศทั้งเวลา และทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ แก่คนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันนี้ เป็นวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2528

วันนี้ จึงอยากขอเชิญชวนเพื่อนๆ ส่งต่อความรัก และความปรารถนาดีให้เพื่อนคนไทยที่ยังขาดโอกาส รอความหวัง และการช่วยเหลือกันค่ะ บริจาคง่ายๆ เพียงแค่สแกน QR Code ก็สามารถส่งต่อสุขให้กับผู้อื่นได้เล่นกันค่ะ

> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของมูลนิธิโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

สามารถเลือกสถานที่ที่ต้องการทำบุญเพิ่มเติม ผ่านการ สแกน QR Code และ SCB EASY APP ได้ที่ >>

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation/e-donation-religious-sites.html

welfare-day-donation-01
มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ในประเทศไทยที่ยึดถือคุณงามความดีตามแบบองค์ไต้ฮงกง ในปีพ.ศ.2435 คณะพ่อค้าชาวจีน 12 คน นำโดย ยี่กอฮง ได้ร่วมกันก่อสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง และเริ่มกิจกรรมการกุศลก่อตั้งเป็น “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” ต่อมาในปี พ.ศ.2442 ชาวจีน 710 คน ร่วมกันบริจาคเงิน ซื้อที่นาบริเวณวัดดอน และวัดคอกกระบือ อำเภอยานนาวา เพื่อทำเป็นสุสานสาธารณะเพื่อเก็บศพไร้ญาติ โดยในช่วงแรก การทำงานของคณะเป็นไปด้วยความยากลำบากจากสถานะการเงิน เนื่องจากเงินบริจาคไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง คณะผู้ก่อตั้งจึงได้ขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินช่วยเหลือให้ปีละ 2,000 บาท การดำเนินงานของคณะก็พอจะทำต่อไปได้บ้างจนถึงปีพ.ศ.2480 นักธุรกิจชาวจีนร่วมกับสมาคม และหนังสือพิมพ์จีน ช่วยกันปฏิรูปคณะเก็บศพไต้ฮงกงใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิในนาม “ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” กาลเวลาเดินทางมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนจำนวนมากอพยพมาสู่ประเทศไทย และ 1 ใน 4 ของผู้อพยพเป็นหญิงที่มาพร้อมกับสามี ซึ่งกำลังอยู่ในวัยสร้างครอบครัว แต่การหนีมาต่างถิ่น มิรู้ภาษา และยังแตกต่างด้วยวัฒนธรรม ทำให้เกิดปัญหาในการคลอดบุตร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งก็ได้เปิดสถานผดุงครรภ์หัวเฉียว ในปีพ.ศ.2481 ขนาด 8 เตียงที่หลังศาลป่อเต็กตึ๊ง และเนื่องจากการให้บริการทำคลอดนั้นได้รับความไว้วางใจ ในปีพ.ศ.2483 จึงได้ขยายเป็นโรงพยาบาลหัวเฉียว และโรงเรียนผดุงครรภ์หัวเฉียวตามลำดับ

มูลนิธิป่อเต๊กตึ๊งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ในทุกๆ ด้าน แก่เพื่อนมนุษย์ในไทยมาตลอดร้อยกว่าปี หากใครอยากส่งต่อความช่วยเหลือนี้ ก็สามารถร่วมกันทำบุญได้เช่นกัน

มูลนิธิรักษ์ไทย

จากสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่การก่อตั้งองค์การแคร์นานาชาติ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2488 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่เป็นเหยื่อในสงคราม ต่อมาในปี พ.ศ.2522 ไทยได้เริ่มดำเนินการ องค์การแคร์นานาชาติประเทศไทย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามจากประเทศกัมพูชา จากนั้นได้ทำการขยายขอบเขตการช่วยเหลือ พัฒนาชุมชนยากจน และด้อยโอกาสเมื่อปี พ.ศ.2527 และยังขยายต่อในด้านการเกษตร ทรัพยกรธรรมชาติ งานส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการศึกษา และด้านการป้องกันเอดส์

ต่อมาในปี พ.ศ.2540 ได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิรักษ์ไทยเพื่อสานต่อองค์การแคร์นานาชาติประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทยดำเนินงานพัฒนากลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ค่านิยมของคำว่า CLEAR คือ

Caring, Leadership, Empower, Accountability, และ Respect โดยมีการกำหนดกิจกรรมหรืองานหลักไว้ 5 ด้าน ได้แก่

1. งานส่งเสริมสุขภาพ และงานป้องกันเอดส์

2. งานส่งเสริมการศึกษา

3. งานส่งเสริมธุรกิจ และอุตสาหกรรมในชุมชน และการส่งเสริมอาชีพ

4. งานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

5. งานด้านการช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประสบภัย

มูลนิธิสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท

สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2496 ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเป็นสถานสงเคราะห์แห่งแรกในประเทศไทย ดูแลโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แรกเริ่มเดิมทีนั้นตั้งอยู่บนถนนพระรามหก มีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ แต่ต่อมามีจำนวนเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท ได้ย้ายสถานที่ไปยังย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่

ที่นี่ ดูแลเด็กกำพร้าทั้งชาย และหญิงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี โดยเป็นเด็กที่ถูกทิ้งในที่สาธารณะ ทิ้งหลังคลอดที่โรงพยาบาล เร่ร่อน พลัดหลง ถูกทารุณกรรม และประสบปัญหาทางสังคมซึ่งพ่อแม่ไม่สามารถดูแลเด็กๆ ได้ โดยมีเด็กในความดูแลเกือบ 400 คน

มูลนิธิศัลย์ฯ สร้างข้อต่อชีวิต

เมื่อทีมแพทย์ออร์โธปิดิคส์ พยาบาล ตลอดจนนักกายภาพบำบัดจิตอาสาร่วมทีมกันออกเดินทางไปผ่าข้อให้ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ด้วยความเชื่อที่ว่า ความสุขเต็มตื้นเกิดขึ้นง่ายๆ เพียงแค่เราให้ความรัก ความเมตตาต่อผู้คน จะคนใกล้ คนไกล หรือแม้คนไม่เคยรู้จัก

คุณหมอกีรติ เจริญชลวานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมได้ถามตัวเองเมื่อมินิซีรีส์โรคเข่าเสื่อมจบลงว่า “เราจะทำอะไรให้ดีกว่านี้ได้ไหม เราจะออกไปช่วยพี่น้องที่ด้อยโอกาสในชนบทที่ป่วยโรคนี้ในชนบทได้อย่างไร” จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์ของการดูแลผู้ป่วยโรคเข่าเสื่อม และเริ่มทำการผ่าตัดเมื่อปี พ.ศ.2557 เพื่อให้ทุกคนทุกคนกลับมาเดินได้ ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ ด้วยเงินบริจาคที่จะเปลี่ยนข้อเทียมธรรมดา ให้กลายเป็นข้อมหัศจรรย์อย่างนึกไม่ถึง