น้องมีบุญ ส่งบุญกลับบ้าน

เทศกาลสงกรานต์มาถึงอีกแล้ว ช่วงนี้หลายคนอาจจะเลี่ยงการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับตนเอง และครอบครัวอันเป็นที่รัก ด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่ และหากเราไม่ได้เดินทางกลับบ้านถิ่นฐานเมืองนอนเพื่อกลับไปร่วมบุญ ก็ยังสามารถส่งบุญกลับบ้านเกิดได้ น้องมีบุญจึงขอชวนเพื่อนๆ ร่วมสร้างบุญสุขใจไปยังวัดในภาคต่างๆ ของประเทศกัน

4-temples-thailand-01

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

เริ่มกันที่ภาคเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ขึ้นดอยไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ วัดและองค์พระธาตุดอยสุเทพ ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช หรือ เจ้าท้าวสองแสนนา เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสองส่วน โดยอัญเชิญองค์หนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนอีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล โดยพระองค์ทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายว่าหากช้างเชือกนั้น หยุดลงตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ซึ่งช้างเชือกดังกล่าวได้มาหยุดลงตรงยอดดอยสุเทพแห่งนี้ จึงได้สร้างเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูง ย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยม ปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ซึ่งก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา บรรจุพระสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่และพุทธศาสนิกชนจวบจนกระทั่งปัจจุบัน สำหรับผู้ที่เกิดปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ เป็นพระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งควรหาโอกาสขึ้นมาสักการะสักครั้งในชีวิตเพื่อความเป็นสิริมงคล

วัดแห่งนี้เป็น พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,046 เมตร มีลานชมวิวทิวทัศน์ของเมืองเชียงใหม่ ที่เหล่านักท่องเที่ยวนิยมขึ้นมาถ่ายรูปกันเป็นประจำ นอกจากนี้วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ยังเป็นหนึ่งในวัดที่ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานแห่งชาติด้วย

ที่ตั้ง 9 หมู่ที่ 9 อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50200

https://goo.gl/maps/bRLJP7KwB2drR67Y7

วัดเขาวงพระจันทร์

มาถึงภาคกลางกันบ้าง ใครหลายคนอาจจะอยากลองขึ้นไปพิสูจน์กำลังกาย กำลังใจกับบันได 3,799 ขั้นสักครั้งในชีวิต ซึ่งเมื่อเดินขึ้นไปถึงยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 650 เมตรแล้ว จะได้พบกับความสวยงามของบรรยากาศโดยรอบ และเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับตำนานของจังหวัดลพบุรี พร้อมกับร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ พระพุทธโชค หรือ พระเชียงแสน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดลพบุรี และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทยด้วย

ความพิเศษยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ที่นี่ยังมีสิ่งมหัศจรรย์ 9 อย่าง คือ รอยพระพุทธบาทแท้ (รอยพระบาทที่ 4), รอยเขี้ยวแก้วพระพุทธเจ้าแท้, หลวงปู่ฟัก อายุ 93 ปี อดีตเจ้าอาวาส ฉันมังสวิรัติ และไม่สรงน้ำ (อาบน้ำ) ตลอดชีวิต, พระบรมสารีริกธาตุที่เสด็จมาเองจำนวนมาก, พิพิธภัณฑ์พันล้าน ที่มีพระเครื่องโบราณมากมาย, บันไดขึ้นเขา 3,790 ขั้น, ต้นปลัดขิกธรรมชาติ, พญาพาลีควาย 3 เขา และ งาช้างสีดำ

หากใครต้องการไปเยือนวัดแห่งนี้ด้วยตนเอง ทางวัดแนะนำให้ขึ้นไปในช่วง 05.00-09.00 น. หรือ 16.00-19.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ไม่ร้อนจนเกินไป ที่สำคัญคือ อย่าลืมอุปกรณ์สำหรับการขึ้นเขา และยาดมติดตัวมาด้วย

ที่ตั้ง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง ลพบุรี 15120

https://goo.gl/maps/Q7a6VwAZQp3fr83X7

วัดเจติยภูมิ (วัดพระธาตุขามแก่น)

ในภาคอีสาน มีปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น ชื่อเรียกเดิมว่า พระธาตุบ้านขาม ไม่ทราบปีที่สร้างแน่ชัด แต่มีตำนานเล่าขานถึงวัดแห่งนี้มากมาย แม้จะพยายามสืบเสาะหาความเป็นมาแต่ก็ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัด ในที่สุด ก็ได้ตำนานที่เล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ เรียบเรียงประวัติใหม่ คณะกรรมการทำการตรวจสอบแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ คือ นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว  ก็มีการนำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในที่ต่างๆ

ครั้งต่อมาโมริยกษัตริย์ เจ้านครโมรีย์ (อยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน) ทราบข่าวภายหลังเพราะอยู่ห่างไกล และเดินทางช้า จึงได้แต่พระอังคารธาตุ (ฝุ่น) นำไปไว้ที่นครของตน ประมาณพุทธศักราชล่วงมาได้ 3 ปี พระมหากัสสปะเถระเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ นำเอาพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก) ไปประดิษฐานไว้ภูกำพร้า (พระธาตุพนมในปัจจุบัน) พระยาหลังเขียว โมริยกษัตริย์ และพระอรหันต์ยอดแก้ว, พระอรหันต์รังษี , พระอรหันต์คันที และไม่ปรากฏชื่ออีก 6 องค์ จึงเดินทางพร้อมอัญเชิญเอาพระอังคารธาตุเพื่อไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนมด้วย ระหว่างการเดินทาง ได้พบกับพื้นที่แห่งหนึ่ง เป็นที่ดอนราบเรียบ มีห้วยสามแยก น้ำไหลผ่านรอบดอน และมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่นอยู่ต้นหนึ่ง จึงได้พักแรมกันที่นี่ และนำเอาพระอังคารธาตุพักไว้บนต้นมะขามที่ตายแล้ว ถึงรุ่งเช้าก็ออกเดินทางต่อไปยังพระธาตุพนม ครั้นไปถึง พระธาตุพนมก็ได้สร้างเสร็จแล้ว ไม่สามารถนำพระอังคารธาตุบรรจุลงไปได้อีก จึงตั้งใจว่าจะเอากลับไปไว้ที่นครของตนตามเดิม โดยได้เดินทางย้อนกลับไปตามเส้นทางเก่า แต่เมื่อเดินทางมาถึงจุดที่เคยพักแรม พบว่าต้นมะขามใหญ่ที่ล้มตายนั้น กลับผลิดดอก ออกผล แตกกิ่งก้านสาขาสวยงาม อาจจะเป็นด้วยเทพนิมิต หรืออภินิหารของพระอังคารธาตุ จึงพร้อมใจกันก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขามนั้น และบรรจุพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ภายใน ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกชื่อพระธาตุนี้ว่า "พระธาตุขามแก่น" เมื่อสร้างจนแล้วเสร็จ พระยาหลังเขียวพร้อมด้วยบริวารจึงสร้างบ้านแปลงเมืองที่นี่ และสร้างวัดให้เป็นที่พำนักของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ประกอบด้วยวิหาร และพัทธสีมาเคียงคู่กับองค์พระธาตุสืบต่อมา เมื่อเวลาล่วงเลย พระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ก็ได้ดับขันธ์ปรินิพพาน ชาวบ้านจึงนำเอาอัฐิธาตุของท่านบรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของอุโบสถ และเรียกพระธาตุองค์ใหญ่ว่า ครูบาทั้งเก้าเจ้ามหาธาตุ  พระธาตุองค์เล็กเรียกว่า ครูบาทั้งแปด

วัดแห่งนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ หากใครได้ไปเยือนขอนแก่น ก็อย่าลืมไปไหว้พระ สักการะทำบุญที่วัดแห่งนี้ โดยที่นี่มีความเชื่อว่าหากใครได้ทำบุญที่นี่ จะได้รับผลอานิสงค์คือ เรื่องร้ายกลายเป็นดี รักยั่งยืน โรคภัยที่มีหลีกลี้ห่างหาย ดุจดังแก่นขามตายแล้วฟื้น นั่นเอง

ที่ตั้ง บ้านขาม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

https://goo.gl/maps/S1xmDZe8qVcTC9Ct7

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร และล่าสุดได้รับการบรรจุลงในบัญชีเบื้องต้นเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้วยประวัติเก่าแก่มากกว่าพันปี

โดยประวัติในการสร้างวัด เกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าชายทนทกุมาร กับเจ้าหญิงเหมชาลาอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาจากลังกา แต่เกิดเรือแตก และลอยมาติดฝั่งหาดทรายแก้ว จึงได้ฝังซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ที่หาดทราย ต่อมาจึงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปลังกา และได้นำพระธาตุส่วนหนึ่งกลับมาประดิษฐานยังจุดที่เคยซ่อนพระเขี้ยวแก้ว โดยสร้างเป็นพระบรมธาตุเจดีย์แบบศรีวิชัยขึ้นเมื่อ พ.ศ.854 ในกาลต่อมา เมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ในปีพ.ศ. 1093 และได้ทรงสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ เป็นเจดีย์แบบศาญจิ และวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารก็ได้รับการบูรณะดูแลเรื่อยมา มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคต่างๆ เช่นในสมัยสุโขทัย และอยุธยาก็ถือเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์  ตลอดจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2559 ก็มีการใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบอายุของอิฐที่ฐานพระบรมธาตุเจดีย์ พบว่ามีอายุมากกว่า 1,000 ปี

ภายในวัด แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วนคือ เขตพุทธาวาส พื้นที่โบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐานอยู่ มีระเบียงล้อมรอบทำเป็นลานประทักษิณชั้นล่าง เรียกว่า วิหารทับเกษตร โดยรอบฐานพระเจดีย์มีประติมากรรมช้างล้อม 22 เชือก ซึ่งเป็นต้นแบบของเจดีย์ช้างล้อมในศาสนสถานที่สุโขทัย สวรรคโลก และกำแพงเพชร บนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์เป็นปล้องไฉน 52 ชั้น ส่วนปลียอดพระบรมเจดีย์สูง 10.89 เมตร หุ้มด้วยแผ่นทองคำหนักราว 141.987 กิโลกรัม โดยได้รับมาจากพลังพุทธศรัทธาของทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ตั้งแต่ประชาชนทั่วไป จนถึงพระมหากษัตริย์ อีกส่วนหนึ่งก็คือ เขตสังฆาวาส ซึ่งใช้เป็นเขตที่พักและจำพรรษาของพระสงฆ์นั่นเอง

นับว่าวัดแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงความสำคัญต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือภาคใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่สำคัญทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่งด้วย

ที่ตั้ง 35 ถ. ราชดำเนิน ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นครศรีธรรมราช 80000

https://g.page/Detkaphon?share

น้องมีบุญ พาท่องเที่ยวสุขใจ ไหว้พระ ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ขอชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถาน สร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY กันต่อ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

และหากอยากทำบุญสุขใจเพิ่มเติม สามารถเข้าเลือกวัดที่จะทำบุญเพิ่มเติมได้ที่ นี้ >> https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation.html