ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
น้องมีบุญชวนไหว้ตรุษจีนแก้ชงกับ 8 มังกรบุญ
วันนี้น้องมีบุญขอเริ่มต้นด้วยการกล่าวคำอวยพร ต้อนรับปีใหม่จีนแก่ทุกท่าน 新正如意 新年发财 (ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ) คำอวยพรนี้หมายถึง “คิดหวังสิ่งใดก็ได้สมใจดังปรารถนา มีแต่ความสุข ความมั่งคั่ง โชคดีตลอดปี” สำหรับความเป็นมาของเทศกาลตรุษจีนนั้นไม่ทราบแน่ชัด ว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด หากเพียงปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานหลายพันปีแล้ว และในวันนี้ ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ สิ้นสุดฤดูหนาวที่มีหิมะปกคลุมพื้นที่จนไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชผลได้ ดังนั้นแสงของดวงอาทิตย์ ความอบอุ่นที่เข้ามาแทนที่จนพืชผลสามารถเจริญงอกงาม จึงถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นทั้งการเฉลิมฉลอง การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว และการพักผ่อนอย่างแท้จริงของชาวจีนอีกด้วย
น้องมีบุญ จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ มาไหว้พระทำบุญเสริมดวง แก้ชงกับ 8 มังกรบุญที่เป็นที่เคารพนับถือจากชาวไทยเชื้อสายจีน และหากในช่วงนี้ยังไม่สะดวกในการเดินทาง เราก็สามารถสแกน QR Code เพื่อทำบุญได้โดยง่าย สุขใจรับปีใหม่จีนกันถ้วนหน้า
วัดมังกรกมลาวาส
วัดจีนเก่าแก่เป็นที่เคารพนับถือของชาวไทยเชื้อสายจีนมาอย่างช้านาน และถือเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางบุญสายมังกรอีกด้วย เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของวัดนั้นตรงกับตำแหน่งหัวมังกร ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวจีนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ พระอาจารย์สกเห็ง พระเถระนิกายมหายานหรือนิกายเซ็นจากมณฑลกวางตุ้ง ได้เดินทางจาริกมาถึงประเทศไทย ซึ่งเหล่าสาธุชนเห็นความเคร่งครัดในศีลาจารวัตรอันงดงาม ก็เกิดความเสื่อมใสศรัทธา ในกาลต่อมาพระอาจารย์สกเห็ง ได้หารือกับพุทธบริษัทชาวจีนเรื่องการขยายอารามแห่งใหม่ให้เหมาะกับการจำพรรษาของพระสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานที่ดิน และโปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2414 มีขนาด 4 ไร่ 18 ตารางวา ใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 8 ปี คนทั่วไปนิยมเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดเล่งเน่ยยี่” ถือเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ผู้คนมักนิยมมาไหว้แก้ชง สะเดาะเคราะห์ในแต่ละปี โดยชื่อวัด “เล่ง” หมายถึงมังกร “เน่ย” แปลว่า ดอกบัว และคำว่า “ยี่” คือวัด สามารถเขียนเป็นอักษรจีนว่า 龍蓮寺 มีตัวย่อคือ 龙莲寺 อ่านว่า หลงเหลียนซื่อ และคนจีนแต่ละเชื้อสายก็ออกเสียงแตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มเผ่าพันธุ์ เนื่องจากที่มาของชื่อวัด คำว่า “เล่ง” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานชื่อ “วัดมังกรกมลาวาส” ให้ไว้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455
วัดแห่งนี้สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ โดยช่างชาวจีนแต้จิ๋ว วางแบบแปลนเช่นวัดหลวง เมื่อเราเดินเข้าไปจากประตูทางเข้า จะพบกับวิหารแรกคือ วิหารท้าวจตุโลกบาล มีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ที่เรียกว่า “ซี้ไต๋เทียงอ้วง” เป็นเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครองทิศทั้ง 4 เป็นเทพเจ้าที่อยู่ในชุดนักรบจีนถืออาวุธที่แตกต่างกันไป และเมื่อเดินเข้ามาถึงส่วนตรงกลาง จะเป็นพระอุโบสถ ที่ภายในประดิษฐานพระประธานของวัด 3 องค์ เรียกว่า "ซำป้อหุกโจ้ว" คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ยังมีพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือ "จับโป๊ยหล่อหั่ง" ด้านขวามีเทพเจ้าองค์สำคัญ “ไท้ส่วยเอี๊ยะ” เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา, “หั่วท้อเซียงซือกง” เทพเจ้าแห่งยา หรือหมอเทวดา, “ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ” เทพเจ้าแห่งโชคลาภ, “ไต่เสี่ยหุกโจ้ว” เทพเจ้าเฮ่งเจีย, “ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว” พระเมตไตรยโพธิสัตว์, “กวนอิมผู่สัก” พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์, "แป๊ะกง" และ "แป๊ะม่า" รวมแล้ววัดแห่งนี้มีเทพเจ้าอยู่ถึง 58 องค์
ด้วยความเก่าแก่ เป็นที่นับถือศรัทธา ทำให้ที่นี่เป็นวัดที่ชาวไทยเชื้อสายจีน รวมถึงชาวไทยแท้ที่เลื่อมใสศรัทธาต่างพากันหลั่งไหลมาในช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการไหว้แก้ชงกับองค์เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยะ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ที่อยู่ 423 ถ. เจริญกรุง แขวง ป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
https://goo.gl/maps/CTeLsuteEdG6Y8wA8
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์
วัด 普頌皇恩寺 ที่อ่านออกเสียงภาษาจีนว่า “โพ้ว ซึง อ๊วง อึ๋น ยี่” หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีในนาม วัดเล่งเน่ยยี่ 2 วัดจีนขนาดใหญ่ มีพื้นที่ถึง 12 ไร่ แม้แรกเริ่มเดิมทีวัดแห่งนี้จะเป็นเพียงโรงเจขนาดเล็กที่ชาวบ้านบางบัวทอง นนทบุรี ให้ความเลื่อมใสศรัทธามาอย่างยาวนาน ต่อมาคณะสงฆ์จีนนิกายมีความตั้งใจอยากจะพัฒนาให้เป็นวัด รวมถึงเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี วัดมังกรกมลาวาส ได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 และได้รับพระราชทานนามว่า “วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์” จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 12 ปี
ภายในบริเวณมีอาคารต่างๆ มากมายที่ก่อสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนยุคราชวงศ์หมิง ยึดถือตามแนวปรัชญา และคติธรรมทางศาสนาพุทธจีนนิกายฝ่ายมหายาน อันประกอบไปด้วย วิหารท้าวจตุโลกบาล ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์ไท้ส่วยเอี๊ยะ เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาที่หากใครต้องการแก้ชงต้องมาไหว้ให้ได้ ใกล้กันคือพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระประธาน 3 พระองค์ คือ พระอมิตาภพุทธเจ้า พระศากยมุนีพุทธเจ้า เเละพระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า สองข้างซ้าย ขวา มีรูปปั้น 18 พระอรหันต์ ผนังของพระอุโบสถมีแผ่นไม้แกะสลัก บอกเล่าเรื่องราวของอดีตพระพุทธเจ้า, อนาคตพระพุทธเจ้า, พระธรรมบาลทั้ง 24 พระองค์ และพระอรหันต์ 500 พระองค์ นอกจากนี้ ก็ยังมีอาคารอื่นๆ อีก เช่น วิหารพระกวนอิมโพธิสัตว์ วิหารหมื่นพุทธเจ้า วิหารบูรพาจารย์ ห้องปฏิบัติธรรม ที่พำนักสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรมอันเป็นอีกจุดประสงค์หนึ่งของการสร้างวัดแห่งนี้ เพื่อเป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณร
ที่อยู่ 959 หมู่ 4 ถนน เทศบาล 9 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง นนทบุรี 11110
https://goo.gl/maps/bD8udvkiiR3kaswN6
วัดทิพยวารีวิหาร
วัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2319 หรือในสมัยกรุงธนบุรี รัชสมัยของสมเด็จพระจ้าตากสินมหาราช และเนื่องจากภายในบริเวณวัดมีบ่อน้ำมนต์โบราณที่ชาวบ้านในสมัยก่อนเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ เพราะเป็นตาน้ำที่ไม่เคยแห้งเหือดมาตั้งแต่สมัยสร้างวัด จึงพากันเรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดกัมโล่วยี่” 敕賜甘露禪寺 “กัมโล่ว” แปลว่า น้ำทิพย์ และคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด โดยพื้นที่บ้านหม้อเป็นที่ดินที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานให้เป็นที่อาศัยของชาวญวน และชาวญวนเชื้อสายจีนที่อพยพติดตามองค์เชียงซุน ราชบุตรเจ้าเมืองเว้ และพระยาราชาเศรษฐีม่อเทียนซื่อ ชาวจีนผู้เป็นเจ้าเมืองฮาเตียน ผู้หนีภัยสงครามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พื้นที่ในบริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “บ้านญวน” หลังจากนั้นก็ได้ร่วมกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา โดยมีพระสงฆ์ชาวจีนญวนเป็นเจ้าอาวาส
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องเซียงสือ พระนัดดาของเจ้าเมืองเว้มีปัญหาการเมืองภายในประเทศเวียดนาม จึงได้มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ภายหลังได้ย้ายกลับไปเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทจึงย้ายชุมชนญวนไปที่อื่น วัดแห่งนี้จึงตกสถานะเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงก่อนปี พ.ศ.2439 พระอาจารย์ไหซัน พระสงฆ์ชาวจีนหูหนาน เดินทางจาริกมาจำพรรษาในประเทศไทย ได้เห็นสภาพวัดที่ทรุดโทรม จึงบอกบุญแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายจีน ให้ร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดเป็นครั้งแรก โดยมีสองสามีภรรยา ต้นสกุลเศวตมาลย์ คือ นายเต็ก แซ่เจี่ย และนางซิ่วออม แซ่ตัน เป็นผู้อุปถัมภ์
พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานสมณศักดิ์ถวายแด่พระอาจารย์ไหซัน ให้เป็นหลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ตำแหน่งปลัดซ้ายจีนนิกาย และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดนี้ รูปที่ 3 รวมถึงพระราชทานนามวัดเป็นภาษาไทยว่า วัดทิพยวารีวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2452 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2489 ได้เกิดอัคคีภัยบริเวณตลาดบ้านหม้อ ลุกลามเข้ามาถึงบริเวณวัด จนทำให้ถาวรวัตถุอุโบสถ และองค์พระที่ประดิษฐานอยู่ภายในเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งเจ้าอาวาสในขณะนั้น คือ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (ฟัดบุ๋น) ปลัดขวาจีนนิกาย เกิดปลงสังเวช เดินทางกลับประเทศจีน และมรณภาพลง จึงได้มีการแต่งตั้งพระอาจารย์เย็นบุญ หรือหลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ และหลวงจีนคณาณัติจีนพรต (ตำแหน่งตามลำดับ) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 6 เป็นผู้นำในการปฏิสังขรณ์วัดครั้งที่ 2 จากความร่วมแรงร่วมใจของศิษยานุศิษย์ พุทธศาสนิกชน พ่อค้า ข้าราชการ และประชาชน ใช้เวลา 10 กว่าปีจึงแล้วเสร็จ วัดนี้ก็ได้กลับเข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง แต่เนื่องจากช่วงเวลาที่ทำการบูรณะในตอนนั้นตรงกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทางวัดจึงต้องใช้วัสดุเท่าที่พอจะหาได้ และการต่อเติมอาคารในภายหลังเองก็ผิดหลักวิศวกรรม ทำให้โครงสร้างอาคารไม่แข็งแรง และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ วิศวกรโยธาที่ปรึกษาได้เสนอให้รื้ออาคารทั้งหมด และก่อสร้างวัดใหม่อีกครั้ง ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุคามสีมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2552 ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 การก่อสร้างก็เสร็จสมบูรณ์
นับเป็นอีกวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และเทพที่ผู้คนให้ความนับถือมากที่สุดของวัดทิพยวารีวิหาร คือ แชเล้งเอี้ย หรือเทพมังกรเขียวผู้ทำหน้าที่รักษาบ่อน้ำทิพย์ประจำวัด และยังเชื่อว่าเป็นเทพที่ปกป้องคุ้มครอง บันดาลความอุดมสมบูรณ์ และโชคลาภ หากใครอยากขอพรด้านการงาน การค้า ธุรกิจ และเรื่องที่ดิน ต้องทำบุญที่นี่เลย
ที่อยู่ 119 ซอย ทิพย์วารี แขวง วังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
https://goo.gl/maps/NH2ZEXSw8cHCD7VNA
ศาลเจ้าไต้ฮงกง (มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง)
ด้วยความเลื่อมใสต่อจริยวัตรขององค์ไต้ฮงกง ผู้เป็นต้นแบบของงานสังคมสงเคราะห์ ท่านเกิดในตระกูลลิ้ม ที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ในปีพ.ศ.1582 ตรงกับสมัยราชวงศ์ซ่ง มีนามเดิมว่า หลิงเอ้อ โดยครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยการศึกษา และนับถือศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อโตขึ้นท่านก็สอบเข้ารับราชการเป็นนายอำเภอ จนเมื่ออายุได้ 54 ปี ก็มาบวชเป็นพระ เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาในมณฑลฮกเกี้ยน จนเมื่อท่านอายุได้ 81 ปี ท่านธุดงค์มาถึงอำเภอเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง เข้าจำพรรษาที่อาราม เล่งจั๊วโก๋วยี่ และเดินทางจาริกต่อไปยังวัดเมี่ยนอันกวน ในตำบลฮั่วเพ็ง ที่มักเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ท่านก็ไปช่วยดำเนินการเก็บ และฝังศพ ทั้งยังตั้งศาลารักษาโรคที่ริมโขดหินใหญ่ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ และยังชักชวนชาวบ้านทำกิจกรรมการกุศลนี้จนเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน และเมื่อท่านเห็นผู้คนมากมายเรือล่ม จมน้ำเสียชีวิตเมื่อต้องข้ามแม่น้ำเหลียงเจียงที่กว้างใหญ่ถึง 300 วา (ประมาณ 600 เมตร) ท่านก็ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ ในการก่อสร้างสะพานฮั่วเพ็ง ต่อมาในปี พ.ศ.1670 ท่านได้มรณภาพลง รวมอายุได้ 88 ปี และ 1 ปีต่อมา สะพานแห่งนี้ก็ได้สร้างเสร็จ โดยมีเรื่องเล่าว่า ในวันที่เริ่มสร้างสะพานนั้น ได้เกิดสิ่งอัศจรรย์ คือ แม่น้ำลดลงไปจนเกือบเหือดแห้ง ประชาชนต่างพากันก้มกราบท่าน ท่านจึงบอกว่าให้กราบฟ้าดินเถิด เหตุการณ์นี้ทำให้น้ำทะเลที่ปากแม่น้ำ ไม่ขึ้นลงเป็นเวลานานถึง 7 วัน เหล่าช่างจึงสร้างรากฐานสะพาน และถ้ำสำหรับระบายน้ำจนเสร็จ เมื่อเข้าสู่วันที่ 8 แม่น้ำเหลียงเจียงก็ขึ้นลงตามปกติ เมื่อการสร้างสะพานหินแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ ชาวบ้านก็ได้สร้างศาลเจ้าป่อเต็กตึ๊ง สำหรับประดิษฐานรูปเหมือน ไต้ฮงกงโจวซือ โดยคำว่า “ป่อเต็กตึ๊ง” หมายถึง สนองพระคุณ ปัจจุบันสุสานของท่านที่ฮั่วเพ็งได้รับการบูรณะ และเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เนินเขาเฉียวเหวิ่ยอันมีทิวทัศน์ที่งดงาม บนเส้นทางหลวงสายกวางเจา-ซัวเถา ส่วนในประเทศไทยเอง องค์ไต้ฮงกงก็ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก เมื่อปี พ.ศ.2449 มีการร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ หากใครได้มาไหว้ก็จะหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ประชาชนจึงต่างพากันมาสักการะบูชา
สำหรับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ในประเทศไทยที่ยึดถือคุณงามความดีตามแบบองค์ไต้ฮงกง ในปีพ.ศ.2435 คณะพ่อค้าชาวจีน 12 คน นำโดย ยี่กอฮง ได้ร่วมกันก่อสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง และเริ่มกิจกรรมการกุศลก่อตั้งเป็น “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” ต่อมาในปี พ.ศ.2442 ชาวจีน 710 คน ร่วมกันบริจาคเงิน ซื้อที่นาบริเวณวัดดอน และวัดคอกกระบือ อำเภอยานนาวา เพื่อทำเป็นสุสานสาธารณะเพื่อเก็บศพไร้ญาติ โดยในช่วงแรก การทำงานของคณะเป็นไปด้วยความยากลำบากจากสถานะการเงิน เนื่องจากเงินบริจาคไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง คณะผู้ก่อตั้งจึงได้ขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินช่วยเหลือให้ปีละ 2,000 บาท การดำเนินงานของคณะก็พอจะทำต่อไปได้บ้างจนถึงปีพ.ศ.2480 นักธุรกิจชาวจีนร่วมกับสมาคม และหนังสือพิมพ์จีน ช่วยกันปฏิรูปคณะเก็บศพไต้ฮงกงใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิในนาม “ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” กาลเวลาเดินทางมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนจำนวนมากอพยพมาสู่ประเทศไทย และ 1 ใน 4 ของผู้อพยพเป็นหญิงที่มาพร้อมกับสามี ซึ่งกำลังอยู่ในวัยสร้างครอบครัว แต่การหนีมาต่างถิ่น มิรู้ภาษา และยังแตกต่างด้วยวัฒนธรรม ทำให้เกิดปัญหาในการคลอดบุตร มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งก็ได้เปิดสถานผดุงครรภ์หัวเฉียว ในปีพ.ศ.2481 ขนาด 8 เตียงที่หลังศาลป่อเต็กตึ๊ง และเนื่องจากการให้บริการทำคลอดนั้นได้รับความไว้วางใจ ในปีพ.ศ.2483 จึงได้ขยายเป็นโรงพยาบาลหัวเฉียว และโรงเรียนผดุงครรภ์หัวเฉียวตามลำดับ
มูลนิธิป่อเต๊กตึ๊งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ในทุกๆ ด้าน แก่เพื่อนมนุษย์ในไทยมาตลอดร้อยกว่าปี หากใครอยากส่งต่อความช่วยเหลือนี้ ก็สามารถร่วมกันทำบุญได้เช่นกัน
ที่อยู่ 326 ถนน พลับพลาไชย แขวง ป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
https://goo.gl/maps/2vMNtFVBRRt34rEx5
วัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม
วัดฝ่ายมหายาน สังกัดคณะสงฆ์นิกายจีนที่มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า 敕賜萬佛慈恩寺 และในภาษาแต้จิ๋ว เรียกวัดแห่งนี้ว่า 万佛慈恩寺 (บ่วง ฮุก ฉื่อ อึง ยี่) เป็นวัดจีนแห่งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเมื่อปี พ.ศ.2532 พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เป็นผู้นำพุทธบริษัทในการจัดซื้อที่ดินในการสร้างวัด ในส่วนของการตั้งชื่อวัดนั้น เป็นไปตามคตินิยมชาวจีนที่ทำสืบกันมา คือการสร้างวัดเพื่อเทิดพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบรมราชชนนี ดังที่มีปรากฏคำว่า 慈恩 (ฉือ เอิน) หมายถึง “พระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบรมราชชนนี” นี่คือปณิธานเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และยังตั้งใจให้วัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษา เผยแผ่พระพุทธศาสนานิกายมหายานและเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล ปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชน กรมการศาสนาได้มีหนังสือรับรองอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อปี พ.ศ.2536 และได้รับการจัดตั้งเป็นวัดโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2540
ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือพระสหัสสหัตถสหัสสเนตร (พันมือพันตา) สร้างด้วยไม้แดงแกะสลักจากประเทศจีน มีความสูงถึง 6.50 เมตร และกว้าง 3.19 เมตร และพระศรีอริยเมตไตรย องค์ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถมองเห็นได้โดยง่าย นอกจากนั้นยังมีธรรมศาลา, ศาลากตัญญู, และศาลาปฏิบัติธรรม หากใครมีโอกาสมาเยือนเชียงราย ที่นี่ก็ควรเป็นอีกหนึ่งจุดหมายของการเดินทาง แต่หากยังไม่สะดวก ก็สามารถทำบุญผ่านการสแกน QR Code ได้
ที่อยู่ 80 หมู่ 9 ท่าข้าวเปลือก อำเภอแม่จัน เชียงราย 57110
https://goo.gl/maps/BDWxYZHsxdL5d9U36
วัดโพธิ์เย็น
普仁寺 (โผว หยิ่ง ยี่) หรือวัดโพธิ์เย็น ในปีพ.ศ.2491 ท่านพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) อดีตเจ้าคณะใหญ่คณะสงฆ์จีนนิกายได้จาริกไปประเทศจีน โดยในครั้งนี้ท่านเจ้าคุณได้รับเกียรติอย่างสูงจากพระคณาจารย์จีนพระปรมัตตาจารย์ (เมี่ยวยิ้ว) ประมุขเจ้านิกายวินัยของประเทศจีน องค์ที่ 18 แต่งตั้งท่านเจ้าคุณอาจารย์โพธิ์แจ้งมหาเถระเป็น พระปรมัตตาจารย์ ประมุขนิกายวินัยองค์ที่ 19 โดยตั้งแต่ท่านเจ้าคุณอาจารย์โพธิ์แจ้งมหาเถระได้บรรพชา ณ วัดถ้ำประทุน ก็ได้อุทิศกายใจเพื่อพระพุทธศาสนา หลังจากเข้าพำนัก ณ สำนักสงฆ์หมี่กัง ก็ได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์ จำศีลภาวนา อบรมศิษยานุศิษย์ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จนมีผู้เสื่อมใสศรัทธา เข้ามาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากจนสถานที่ไม่เพียงพอ ท่านเจ้าคุณอาจารย์โพธิ์แจ้งมหาเถระจึงสร้างสำนักสงฆ์อีกแห่งในบริเวณไม่ไกลกัน คือสำนักสงฆ์หลับฟ้า แม้ว่าจะมีการขยายเพิ่มเติม แต่ด้วยความศรัทธาที่หลั่งไหลมา สถานที่ก็ยังไม่เพียงพอ ท่านเจ้าคุณจึงได้สร้างวัดโพธิ์เย็น ในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเป็นที่ประกอบการอุปสมบทตามพระวินัยบัญญัติ จึงถือเป็นปฐมสังฆารามฝ่ายจีนนิกายแห่งแรก โดยก่อนหน้านี้ หากต้องการอุปสมบทจะต้องเดินทางไปประเทศจีนเท่านั้น ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชราชเจ้าโปรดแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌายะฝ่ายจีนนิกายรูปแรกเช่นกัน
พระอุโบสถภายในวัด สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2495 ตามรูปแบบศิลปะทิเบต เป็นพระอุโบสถฝ่ายมหายานแห่งแรกในประเทศไทยที่สร้างได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมากรพระศากยมุนีพระพุทธเจ้า, พระไวโรจน์พุทธเจ้า, พระเวทโพธิสัตว์ และพระสังฆารามปาลโพธิสัตว์ ส่วนที่ด้านหน้าพระอุโบสถ บนผนังประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ (กวนอิมผู่สัก) ประติมากรรมโลหะรมดำลักษณะนูนต่ำ แผ่นจารึกปรัชญาภาษาทิเบต และเจดีย์ทิเบต 5 องค์
หากใครอยากชมความงามของศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบทิเบต วัดแห่งนี้ก็เป็นอีกแห่งที่ไม่ควรพลาด ได้ทั้งบุญ และได้ชมความงามของวัดจีนที่แตกต่างไม่เหมือนที่ไหน
ที่อยู่ 33 ตลาดลูกแก ตำบลดอนขมิ้น อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรี 71120
https://goo.gl/maps/eWeA5pKpGVxffLw19
วัดจีนประชาสโมสร
龍福寺 หรือวัดเล่งฮกยี่ โดยคำว่า ฮก หมายถึง โชคลาภ วาสนา ผู้คนจึงพากันเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดมังกรแห่งวาสนา และที่นี่ยังเป็นวัดจีนเพียงแห่งเดียวในจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อมองตามตำแหน่งฮวงจุ้ยก็เปรียบเสมือนท้องมังกรที่หากใครมาสักการะบูชาก็จะได้รับความเจริญรุ่งเรือง และความอุดมสมบูรณ์กลับไป วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2449 แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ.2450 และได้เสด็จมาที่วัดแห่งนี้ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้เป็น “วัดจีนประชาสโมสร” โดยมีความหมายว่า เป็นที่ชุมนุมของชาวจีน
วัดแห่งนี้สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานซึ่งถูกอัญเชิญมาจากเมืองจีน พระพุทธเจ้า 3 องค์ คือ พระยูไล้, พระโอนิโทฮุด และพระเอี้ยซือฮุด มีความพิเศษ คือ เป็นศิลปะเปเปอร์มาเช่ หรือการสร้างด้วยกระดาษแล้วปิดทอง ทำให้มีน้ำหนักเบา รวมถึงรูปหล่อพระอรหันต์ 18 องค์ก็ทำด้วยกระดาษ และมีความเก่าแก่กว่า 200 ปีด้วยเช่นกัน ภายในวัดยังมีเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยผู้ที่มาสักการะบูชาท่าน มักขอพรเกี่ยวกับโชคลาภ สำหรับผู้ที่อยากได้บุญกุศล แนะนำให้ตีระฆังใบยักษ์จากแต้จิ๋วที่มีขนาดหนักกว่า 1 ตัน ที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัชญาปารมิตาสูตร เชื่อกันว่าการตีระฆังใบนี้ก็เปรียบเหมือนการสวดมนต์บทนี้นั่นเอง
ที่อยู่ 291 ศุภกิจ ถนนศุภกิจ ตำบล หน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทรา 24000
https://goo.gl/maps/ccT7iCyUGRYD4F2u5
วัดมังกรบุปผาราม
龍華禪寺 หรือวัดเล่งฮัวยี่ โดยคำว่า ฮัว หมายถึง ดอกไม้ ที่นี่เป็นวัดสาขาของวัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดจีนนิกายมหายาน และยังอยู่ในตำแหน่งที่เป็นหางมังกร (วัดเล่งเน่ยยี่เป็นหัวมังกร) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2520 บนเนื้อที่ 8 ไร่ โดยหลังจากการสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ และวัดเล่งฮกยี่แล้ว พระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร (สกเห็ง) เคยจาริกมาจำพรรษาที่นี่เมื่อปี พ.ศ.2417 ได้เตรียมจะสร้างวัดเล่งฮัวยี่ขึ้น จนเมื่อถึงปีพ.ศ.2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสน้ำตกพลิ้ว จึงนำคณะพุทธศาสนิกชนเข้ารับเสด็จ และกราบทูลรายงานการก่อสร้าง แต่วัดยังไม่ทันแล้วเสร็จ พระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร (สกเห็ง) ก็มรณภาพเสียก่อน ลูกศิษย์ของท่าน หลวงจีนคณาณัติจีนพรต รับดำเนินการต่อ แต่ก็มรณภาพลงเสียก่อนเช่นกัน วัดแห่งนี้จึงสร้างไม่เสร็จเสียที และกลายเป็นที่รกร้าง มีเพียงหลักฐานที่แสดงว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินธรณีสงฆ์ จนเมื่อปี พ.ศ.2508 พระเจตชฎา ศิษย์ของท่านพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ได้ริเริ่มเจตนาที่จะสืบสานโครงการนี้ต่อให้สำเร็จ และได้แรงศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน รวบรวมปัจจัย ทุนทรัพย์ต่างๆ มาก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดต่อไป แต่ต่อมาพระเจตชฎาก็ได้มรณภาพลงจากไข้ป่าเมื่อปี พ.ศ.2518 พระมหาคณาณัติจีนพรต (เย็นบุญ) เจ้าอาวาสวัดทิพยวารีวิหาร จึงเข้ามาช่วยสานต่อจนสร้างวัดได้สำเร็จ
เมื่อเดินเข้าซุ้มประตูวัดที่สร้างด้วยศิลปะจีน จะพบกับลานโล่งด้านนอก มีอาคารหอแปดเหลี่ยมสองหลังตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสก และหินขัดลวดลายสวยงาม ภายในวัดมีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแบบวัดเล่งเน่ยยี่ มีวิหารท้าวจตุโลกบาล เมื่อเดินผ่านเข้ามาแล้วจะพบกับอุโบสถแบบจีนที่มีหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ยอดเป็นทรงเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน 3 องค์ บริเวณด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงจีนคณาณัติจีนพรต (เย็นบุญ) มีสถูปเจดีย์ทรงทิเบตบรรจุอัฐิบูรพาจารย์ กุฏิสงฆ์ โรงครัว โรงอาหาร และที่พักผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ด้วย
หากใครมาเที่ยวน้ำตกพลิ้ว ก่อนถึงน้ำตก แนะนำให้แวะเข้ามาสักการะบูชา หรือหากต้องการแก้ชงก็สามารถเข้ามาทำบุญเสริมดวงที่นี่ได้เช่นกัน
ที่อยู่ ตำบล พลิ้ว อำเภอ แหลมสิงห์ จันทบุรี 22190
https://goo.gl/maps/VDUQwEhJWm31g2LW6
เคล็ดลับของชาวจีนบางกลุ่ม เชื่อว่าในการไหว้เส้นทางมังกรนั้น จะเริ่มจากหางมังกรมาสู่หัวมังกร เปรียบเหมือนการรีดทรัพย์ของพญามังกรมาสู่ตัวเรา แต่หากใครยังไม่สะดวกเดินทาง ก็สามารถสแกน QR Code ทำบุญเส้นทางบุญแห่งมังกรได้เช่นกัน
>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ
>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง
ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล
และหากอยากทำบุญสุขใจเพิ่มเติม สามารถเข้าเลือกวัดที่จะทำบุญเพิ่มเติมได้ที่ นี้ >> https://www.scb.co.th/th/personal-banking/other-services/e-donation.html
ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด