7 เรื่องน่ารู้ “ภูเก็ต” ที่หลายคนอาจยังไม่รู้

ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดสมุทรสงคราม แต่เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ มีหาดทรายสีทอง น้ำทะเลสีครามสดใส ถือได้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ แห่งท้องทะเลอันดามันที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และยังเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ ที่รองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีเรื่องราวน่าสนใจมากมายที่หลายคนอาจยังไม่รู้มาก่อน จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน บอกเลยว่า ข้อสุดท้าย ห้ามพลาดเด็ดขาด

#SpecialisedExpo #PhuketExpo2028 #Expo2028

phuket-01

1. ในอดีต “ภูเก็ต” ไม่ได้เป็นเกาะ


เมื่อประมาณเกือบ 2,000 ปีก่อน มีนักภูมิศาสตร์ชาวกรีกชื่อ ปโตเลมี (Ptolemy) ได้เขียนบันทึกการเดินทางจากสุวรรณภูมิลงมาทางตอนใต้ไปยังแหลมมลายูว่าต้องผ่าน “แหลมตะโกลา” หรือที่นักเดินเรือชาวยุโรปเรียกว่า “จังซีลอน” (จ.ภูเก็ตในปัจจุบัน) จึงมีข้อสันนิษฐานกันว่าภูเก็ตในอดีตน่าจะเป็นแหลมติดกับแผ่นดินใหญ่ ก่อนที่พื้นดินบริเวณช่องปากพระที่เป็นร่องน้ำระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ตจะถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนค่อยๆ แยกออกจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งข้อมูลของกัปตัน James Forrest ที่ตีพิมพ์ในกรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ.2335 ช่วยสนับสนุนข้อมูลของการค่อยๆ แปลงสภาพเป็นเกาะ โดยระบุว่า เมื่อ พ.ศ.2327 เขาได้เดินทางมาถึงเกาะจังซีลอน เกาะนี้แยกจากแผ่นดินใหญ่โดยช่องแคบอันเต็มไปด้วยทรายยาวประมาณครึ่งไมล์ ช่องแคบนี้จะถูกน้ำท่วมในเวลาน้ำขึ้น และตอนเหนือสุดของช่องแคบก็เป็นท่าเรือที่ดีเยี่ยมเรียกว่า “ปากพระ” ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างสะพานสารสินข้ามช่องปากพระแห่งนี้ เพื่อเชื่อมระหว่างเกาะภูเก็ตบริเวณท่าฉัตรไชย กับ ท่านุ่น จ.พังงา


อ้างอิง: http://www.treasury.go.th

2. ถลาง และ ภูเก็ต จากชื่อเมือง มาเป็นชื่อเกาะ


ถลางและภูเก็ต เคยเป็นทั้งชื่อเมืองและชื่อเกาะทั้งเกาะเหมือนกัน เพียงแต่เรียกในช่วงระยะเวลาที่ต่างกัน และขึ้นอยู่กับผู้เรียก เมืองถลางในอดีตเป็นชื่อของชุมชนขนาดใหญ่แห่งแรกในเกาะภูเก็ต มีปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารทั้งของไทย โปรตุเกส และเป็นชื่อที่ชาวเอเชียเรียกเกาะภูเก็ตในระยะแรก ต่อมาชาวดัตช์ อังกฤษ และฝรั่งเศสเข้ามา กลับเรียกเมืองถลางและเกาะทั้งหมดว่าภูเก็ต ซึ่งภูเก็ตเดิมเป็นชื่อเรียกชุมชนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นใหม่ทางใต้เมืองถลางลงไป โดยมีคลองบางคูคดเป็นเขตแดนแบ่งเกาะคนละครึ่ง จนปัจจุบันทั้งถลาง และ ภูเก็ต ได้ถูกรวมกันเป็นจังหวัดภูเก็ต โดยอาณาเขตของจังหวัดทั้งหมดตั้งอยู่บนเกาะในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย และเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศไทย


อ้างอิง: http://www.finearts.go.th

3. จุดกำเนิดประเพณีถือศีลกินผัก (เจี่ยะฉ่าย)


ประเพณีการกินผัก หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกกันว่า “เจี่ยะฉ่าย” เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดจากบ้านในทู หรือไล่ทู (เขตอำเภอกะทู้ ในปัจจุบัน) โดยมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า สมัยก่อนภูเก็ตมีชาวจีนอพยพหลั่งไหลมาทำการค้าและเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก เกิดเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ และมีคณะงิ้วจีนเร่เดินทางเข้ามาทำการแสดงในชุมชนแห่งนี้ด้วย จนวันหนึ่งเกิดโรคระบาดขึ้น มีคนเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก คนในคณะงิ้วจึงคิดได้ว่า อาจเป็นเพราะพวกตนละเลยการถือศีลกินผักที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ตอนอยู่ประเทศจีน จึงได้จัดพิธีถือศีลกินผักขึ้นตลอด 9 วัน 9 คืน ณ ชุมชนกะทู้แห่งนี้ ไม่นานโรคระบาดก็ค่อยๆ หายไป ทำให้ชาวชุมชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และจัดให้มีพิธีถือศีลกินผักต่อเนื่องกันมาเป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดภูเก็ต

4. จุดเริ่มต้นของการเป็นเมืองท่องเที่ยว


ภูเก็ตเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในการเดินทางระหว่างสุวรรณภูมิ และอินเดียทวีปมาตั้งแต่สมัยก่อน มีสินค้าสำคัญคือแร่ดีบุก ซึ่งมีการซื้อขายกันตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากทางการไทยเองและพ่อค้าชาวยุโรป เมื่อความต้องการดีบุกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากมีการค้นพบวิธีทําเหล็กวิลาดในอังกฤษ ทำให้เมืองภูเก็ตในสมัยนั้นเริ่มเจริญรุดหน้ากว่าเมืองถลาง เพราะมีแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์กว่า จนเวลาผ่านไป กิจการเหมืองแร่เริ่มซบเซาลง รายได้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าแรงคนงานเหมือง กลุ่มนักลงทุนเริ่มมีแนวคิดในการนำธุรกิจท่องเที่ยวเข้ามาแทนที่ ทำให้การท่องเที่ยวกลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนภูเก็ตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

5. ความหมายของ “ไข่มุกอันดามัน”


คำว่า ‘ไข่มุกอันดามัน’ ที่ปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดภูเก็ต นอกจากจะหมายถึงความงดงามของภูมิประเทศ จ.ภูเก็ต ที่เป็นส่วนหนึ่งของท้องทะเลอันดามันแล้ว ยังหมายถึงความงดงามของไข่มุกซึ่งเป็นอัญมณีธรรมชาติจากท้องทะเลภูเก็ตอีกด้วย โดยภูเก็ตเป็นแหล่งผลิตไข่มุกน้ำเค็มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ คนนิยมซื้อมาเป็นเครื่องประดับด้วยความที่เป็นมุกน้ำเค็มที่หายากแล้ว ไข่มุกของภูเก็ตยังมีความกลมใส และแวววาวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ยิ่งเมื่อต้องแสงไฟ ก็ยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้กับผู้สวมใส่ โดยไข่มุกอันดามันของภูเก็ตจะมีเพียง 3 สี ได้แก่ สีขาว สีดำ และสีทอง

6. ภูเก็ต ได้รับเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร


เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ภูเก็ตเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร โดยเป็น 1 ใน 18 เมืองทั่วโลก และเป็นลำดับแรกในอาเซียน นั่นก็เพราะความโดดเด่นด้านอาหารของชาวภูเก็ต ที่มีการผสมผสานระหว่างอาหารพื้นเมืองที่ใช้วัตถุดิบเฉพาะถิ่นเข้ากับอาหารของชนชาติต่างๆ ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่ง ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการกินที่มีเอกลักษณ์ และหลากหลาย อีกทั้งอาหารภูเก็ตยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในทุกเทศกาล พิธีการ ความเชื่อ วิถีชีวิตในครอบครัว รวมถึงการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย อาหารเฉพาะถิ่นที่ของภูเก็ตที่หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินชื่อ เช่น "โอวต้าว" หน้าตาคล้ายๆ เมนูหอยทอดที่ใส่เผือกนึ่ง หรือ "โลบะ" ที่ใช้เนื้อหรือหมู รวมถึงเครื่องในหมักกับเครื่องพะโล้ นำมาทอดจนกรอบนอกนุ่มใน กินเป็นอาหารว่าง เป็นต้น

7. ภูเก็ตผ่านเข้ารอบสุดท้าย ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo 2027/2028


ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ในปี พ.ศ. 2571 ภายใต้ชื่อ Expo 2028 Phuket Thailand ด้วยแนวคิด “ชีวิตแห่งอนาคต แบ่งปัน ความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว” เพื่อนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างสันติและสอดคล้องกันจากการมีสุขภาพที่ดีและมีความมั่งคั่งอย่างสมดุล


งานนี้ถือเป็นงานใหญ่ระดับโลก ที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทย มีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2571 ใช้พื้นที่ในการจัดงานรวม 141 ไร่ ในบริเวณตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยจังหวัดภูเก็ตได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายร่วมกับอีก 4 เมือง ได้แก่ เมืองซาน คาร์ลอส เด บาริโลเช ประเทศอาร์เจนตินา, เมืองเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย, เมืองมาลากา ประเทศสเปน และเมืองมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา


ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการคัดเลือกประเทศเจ้าภาพการจัดงานโดยผู้แทนจากประเทศสมาชิก BIE ซึ่งจะประกาศผลประเทศที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในเดือนมิถุนายน 2566 โดยระหว่างนี้ พวกเราสามารถส่งแรงเชียร์ให้ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้จัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand โดยการสแกน QR Code ในภาพ หรือเข้าไปที่ https://support.expo2028thailand.com/th จากนั้นเลือกภูมิลำเนา และกดสนับสนุนได้ตั้งแต่ วันนี้ - 20 มิถุนายน 2566