ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เคล็ดลับการลงทุนในหุ้นเติบโต
หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นมีอยู่มากมาย แต่หากมาพิจารณากันให้ดีๆ จะสามารถแบ่งลักษณะของหุ้นออกเป็นกลุ่มๆ ได้ และหุ้นในแต่ละกลุ่มก็มีการเคลื่อนไหวและแนวทางการลงทุนที่แตกต่างกัน หากนักลงทุนได้ทำความเข้าใจลักษณะหุ้นในกลุ่มต่างๆ ก็จะสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนของตัวเองได้ ซึ่งในบทความนี้จะมาพูดคุยถึงเคล็ดลับการลงทุนในหุ้นเติบโต หรือ Growth Stock
จะทราบได้อย่างไรว่าหุ้นตัวไหนเป็น Growth Stock พิจารณาได้จาก
1. คุณภาพหรือความแข็งแกร่งของกิจการ จะมาจากหลายปัจจัย เช่น มีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง มีความได้เปรียบด้านต้นทุน มีสิทธิบัตรหรือสัมปทาน รวมถึงมีทีมผู้บริหารที่มีความสามารถและธรรมาภิบาลสูง ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
2. การเติบโต ควรมีการเติบโตทั้งในส่วนของรายได้และกำไรโดยเฉลี่ยประมาณ 15% - 20% ต่อปี ซึ่งการเติบโตที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นผลมาจากการขยายกำลังผลิตหรือขยายตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น ขายสินค้าเดิมให้กับลูกค้ากลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ นอกจากนี้ หากการเติบโตนี้เป็นผลทำให้บริษัทเกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ทำให้ลดต้นทุนในส่วนต่างๆ ได้ ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้กำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด
หุ้นเติบโตต่างจากหุ้นประเภทอื่นๆ อย่างไร
หากเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างหุ้นเติบโตและหุ้นปันผล หุ้นเติบโตจะอยู่ในวัฏจักรของการเติบโต มุ่งเน้นการขยายฐานรายได้และควบคุมต้นทุน แต่เมื่อขยายธุรกิจไปจนถึงจุดอิ่มตัว หุ้นเติบโตนี้ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นหุ้นปันผล เพราะเมื่อบริษัทไม่มีความจำเป็นในการกันกระแสเงินสดไว้เพื่อลงทุนในการขยายกิจการ บริษัทก็จะนำกระแสเงินสดนี้มาจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผลในสัดส่วนที่มากขึ้น
นอกจากนี้หุ้นเติบโตไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) หรือหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) ตราบใดที่หุ้นนั้นๆ สามารถสร้างการเติบโตของผลการดำเนินงานได้เด่นกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม เพียงแต่เรามักพบหุ้นเติบโตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ยังมีฐานกำไรจากการดำเนินงานที่ต่ำ ส่งผลให้เมื่อคำนวณเป็นอัตราการเติบโตของกำไรจึงมีค่าที่สูงมาก ทำให้นักลงทุนเกิดความสนใจในการลงทุนในหุ้นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของหุ้นเติบโตขนาดกลางและเล็กมักมีความผันผวนของอัตรากำไรจากการดำเนินงาน หากเกิดปัจจัยเสี่ยงที่มากระทบกับธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ย่อมส่งผลโดยตรงกับกำไรสุทธิของงบการเงินของบริษัทได้เลยทันที ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นเติบโต จะต้องมีความสามารถในการรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาในระดับที่สูงเช่นกัน หากนักลงทุนต้องการลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ หรือรอต้องการอัตราเงินปันผลที่สูง การลงทุนในหุ้นเติบโตอาจจะไม่ตอบโจทย์
แล้วเราจะเลือกลงทุนในหุ้นเติบโตอย่างไร
ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นเติบโต ควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1. การเติบโตของผลกำไรในอดีตต้องแข็งแกร่ง โดยพิจารณาจากการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ว่าเป็นอย่างไร เช่น หากธุรกิจยังมีขนาดเล็ก เพิ่งเริ่มดำเนินการไม่กี่ปี อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นอาจจะอยู่ที่ระดับ 5 – 7% ต่อปี ถ้าเป็นธุรกิจขนาดกลาง อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นอาจจะอยู่ที่ระดับ 7 – 9% ต่อปี ส่วนถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นอาจจะอยู่ที่ระดับ 10 – 12% ต่อปี โดยอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นควรจะดูย้อนหลังไปหลายๆ ปี หรือดูตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินธุรกิจได้ยิ่งดี เพราะหากมีอัตราการเติบโตของกำไรดีต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี ก็พอที่จะพิจารณาได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง
2. การเติบโตของกำไรในอนาคตควรไว้ใจได้ เมื่อการเติบโตของกำไรในอดีตดี อนาคตก็ควรจะไว้วางใจได้เช่นกัน โดยอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นในอนาคตควรจะอยู่ที่ระดับ 10 – 15% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ) โดยนักลงทุนต้องทำการวิเคราะห์และประมาณการอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทที่จะลงทุนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ซึ่งสามารถหาข้อมูลจากการประมาณการของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และควรดูหลายๆ แหล่งเพื่อเปรียบเทียบและสร้างความมั่นใจ นอกจากนี้ควรหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของบริษัทเพื่อประเมินว่าบริษัทนั้นๆ ยังสามารถเติบโตในระดับที่น่าลงทุนอยู่หรือไม่
3. การบริหารจัดการด้านต้นทุนและรายได้ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากอัตรากำไรขั้นต้น (Profit Margin) ในงบการเงินของกิจการ อัตรากำไรขั้นต้นจะเป็นตัวชี้วัดว่ากิจการมีความสามารถในการแข่งขันมากน้อยขนาดไหน หากผู้บริหารมีประสิทธิภาพ จะสามารถทำให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้ามหากกิจการมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำ หรือติดลบ (ขาดทุน) แปลว่ากิจการมีต้นทุนที่สูงมาก
4. ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยดูจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ Return on Equity (ROE) ซึ่งเป็นการบอกถึงความสามารถของบริษัทในการนำเงินลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นไปดำเนินธุรกิจ แล้วงอกเงยได้ในอัตราผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นค่า ROE ควรอยู่ในระดับสูงๆ (อย่างน้อย 12% ขึ้นไป) ในการเปรียบเทียบ ROE ระหว่างบริษัท ควรนำค่า ROE เฉลี่ยอย่างน้อย 5 ปี มาใช้เปรียบเทียบ และค่า ROE ของบริษัทที่เราต้องการลงทุนควรมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมด้วย
กล่าวโดยสรุป การลงทุนในหุ้นเติบโตไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินเอื้อม ขอเพียงเริ่มต้นให้ถูกทาง และหมั่นฝึกฝนการวิเคราะห์หุ้น เพื่อเลือกหุ้นที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง โดยการลงทุนในกิจการที่ตัวเองรู้จักและเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ นอกจากนี้หากต้องการประสบความสำเร็จในการลงทุน ต้องหมั่นหาความรู้อย่างต่อเนื่อง มีวินัย และมีการตรวจสอบและประเมินผลการลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ
บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร