ลงทุนหุ้นต่างประเทศดีหรือไม่?

เรื่อง: Buffetcode


Hi-Light:

  • หุ้นบางประเภทในตลาดหุ้นไทยเราไม่มี เช่นหุ้น Technology ทั้งหลายอย่าง Facebook, Google, Amazon และ Alibaba แต่ละตัวนั้นขึ้นมาหลายเท่าตัว ที่สำคัญหุ้นเหล่านี้ยังเป็นหุ้นแห่ง “อนาคต” คือมีวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เหมือนธุรกิจทั่วๆไป เน้นใช้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของคนดีขึ้น
  • หุ้นในตลาดต่างประเทศหลายๆ ตัวทำธุรกิจอยู่ในหลายประเทศ ดังนั้นการจะประเมินมูลค่าหรือทำความเข้าใจตัวธุรกิจในแต่ละประเทศนั้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต่างกับหุ้นไทยที่ส่วนใหญ่ทำธุรกิจอยู่ในไทย


ในช่วงหลังมานี้มีนักลงทุนหลายๆ ท่านไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม, จีน, ญี่ปุ่น, ยุโรป และอเมริกา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะว่าการลงทุนต่างประเทศในปัจจุบันนี้มีต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ถูกขึ้นกว่าเดิมมาก หาข้อมูลก็ง่ายขึ้น และคนไทยเองก็มีการใช้บริการสินค้าของต่างประเทศมากขึ้นด้วย


หากเราสังเกตดูในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ ผมมั่นใจได้เลยว่าเราซื้อสินค้าและใช้แบรนด์ของบริษัทต่างประเทศมากกว่าของไทย (ถ้าไม่นับรวมอาหารที่กิน) ตั้งแต่เช้ายันเย็น ตื่นมาเราเปิด App Facebook ผ่านมือถือ iPhone อาบน้ำด้วยฝักบัว Kohler ทาครีมของ Nivea ใส่รองเท้า Nike ขึ้นรถ Toyota Camry แวะซื้อกาแฟ Starbucks เมื่อถึงออฟฟิศคุณก็เปิดคอมพิวเตอร์ Dell ใช้ Windows ของ Microsoft ผ่านโปรแกรมที่ฝากไว้บนระบบ Cloud ของ Google นี่แค่ช่วงเช้าจากบ้านเดินทางมาถึง Office ยังไม่นับช่วงเวลาส่วนที่เหลือของวัน


ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยว่าทำไมนักลงทุนไทยหลายๆ คนจึงกล้าที่จะลงทุนในหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศ เพราะพวกเราคุ้นชินและก็รู้สึก “อิน” ที่ได้ลงทุนในหุ้นของสินค้าและแบรนด์ที่เราชื่นชอบนั่นเอง

นอกจากได้ลงทุนในแบรนด์ที่เราชื่นชอบและใช้เป็นประจำแล้ว การลงทุนในหุ้นต่างประเทศยังมีข้อดีอีกหลายข้อ เช่น
 

  1. หุ้นบางประเภทในตลาดหุ้นไทยเราไม่มี เช่นหุ้น Technology ทั้งหลายอย่าง Facebook, Google, Amazon และ Alibaba แต่ละตัวนั้นขึ้นมาหลายเท่าตัว ที่สำคัญหุ้นเหล่านี้ยังเป็นหุ้นแห่ง “อนาคต” คือมีวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เหมือนธุรกิจทั่วๆ ไป เน้นใช้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของคนดีขึ้น

    หุ้นพวกนี้มีต้นทุนแปรผันน้อยมาก ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคน และการลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อดำเนินการถึงจุดคุ้มทุนเมื่อไหร่ กำไรจะโตอย่างก้าวกระโดดทันที

    คนที่มาใช้บริการ Technology ของบริษัทเหล่านี้แล้วติดใจส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น Facebook ที่เราก็เล่นกันทุกวันมาน่าจะ 10 ปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นมีใครเปลี่ยน Google Map เองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้วถ้าเราต้องเดินทางไปไหน

     
  2. นักลงทุนเลือกหุ้นก็อยากได้การเติบโตที่ต่อเนื่อง หุ้นต่างประเทศหลายๆ ตัวมีการเติบโตที่ต่อเนื่องยาวนานมาก เพราะหุ้นพวกนี้มักจะประสบความสำเร็จในประเทศของตนเองและประสบความสำเร็จในการขยายออกไปในตลาดโลกด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็เช่น Apple เจ้าของ iPhone, Starbuck ร้านกาแฟชื่อดัง, LVMH หลุยส์วิตตองค์, โมเอทเฮนเนซซี่ เจ้าของแบรนด์หรูมากมาย และ Amore Pacific บริษัทเครื่องสำอางค์เกาหลีที่มีแบรนด์ดังอย่าง Etude และ Innisfree จะเห็นได้ว่าหุ้นเหล่านี้มีธุรกิจระดับโลกในขณะที่หุ้นในประเทศไทยบางบริษัทดูเหมือนจะเก่งในประเทศไทย แต่พอออกไปต่างประเทศเมื่อไหร่ 90% มักจะล้มเหลวด้วยหลายๆ เหตุผล


  3. สิ่งสำคัญอีกเรื่องนอกจากการเติบโตคือเรื่องสภาพคล่องที่มากกว่าสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ หุ้น Market cap ระดับล้านล้านบาทในประเทศไทยมีไม่กี่ตัว ทางเลือกก็มีน้อยเพราะตัวใหญ่ๆ ก็เป็นหุ้นน้ำมัน ธนาคาร ไม่ก็สนามบิน

    ที่รู้จักกันเยอะๆ ก็ PTT ที่มี Market cap 1.4 ล้านล้านบาท ด้วยขนาดที่ใหญ่การเติบโตก็มักจะไม่มาก แต่สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น หุ้น Market cap ล้านล้านที่ยังมีการเติบโต 20% ขึ้นไปถือว่ามีอยู่ไม่น้อย

    ประเภทของหุ้นก็มีให้เลือกหลากหลายมากกว่าเยอะเช่น หุ้น AAPL (Apple) ที่ Market cap 31 ล้านล้านบาท,​ WMT (Walmart) 8 ล้านล้านบาท, ITX (Inditex เจ้าของ Zara) 2.7 ล้านล้าน และ Uniqlo 1.5 ล้านล้านบาท

    ความใหญ่ของหุ้นนอกจากช่วยเรื่องสภาพคล่องแล้วยังทำให้หุ้นตัวนั้นถูกปั่นได้ยากกว่า ยากกว่าแค่ไหน? ลองนึกภาพว่าคุณต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการปั่นหุ้นที่มีขนาด 31 ล้านล้านบาทไทยอย่าง Apple ดู

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการลงทุนหุ้นต่างประเทศนั้นก็มีอยู่ ข้อมูลหุ้นหาง่ายขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้ข้อมูลเจาะลึกมากๆ แบบในประเทศไทย ผู้บริหารและ CEO ของหุ้นต่างประเทศนั้นเข้าถึงได้ยากมาก ต่างกับหุ้นไทยที่เข้าถึงได้ไม่ยากนัก


ถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ หน่อยบางครั้งโทรไปที่บริษัทก็สามารถคุยกับ CEO ได้ก็มี แต่ในต่างประเทศจะคุยกับ CEO ได้คุณต้องไปที่การประชุมประจำปี เป็นกองทุนใหญ่ไม่ก็ต้องเป็นนักวิเคราะห์จากธนาคารหรือวาณิชธนกิจชื่อดัง


หุ้นในตลาดต่างประเทศหลายๆ ตัวทำธุรกิจอยู่ในหลายประเทศ ดังนั้นการจะประเมินมูลค่าหรือทำความเข้าใจตัวธุรกิจในแต่ละประเทศนั้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต่างกับหุ้นไทยที่ส่วนใหญ่ทำธุรกิจอยู่ในไทย เราเป็นคนไทยก็เข้าใจธุรกิจในไทยได้มากกว่า “สบายใจ” ที่จะลงทุนในไทยมากกว่า นี่เองก็คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมไม่ค่อยมีคนไทยไปลงทุนในตลาดหุ้นโลกมากนัก ความ “สบายใจ” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่หลายๆ คนให้ความสำคัญ


สุดท้ายหุ้นต่างประเทศน่าลงทุนหรือไม่? คุณจะต้องตอบคำถามข้อนี้ด้วยตัวของคุณเอง แค่ความ “ไม่สบายใจ” คงไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้คุณล้มเลิกความ “ตั้งใจ” ที่จะไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ ลงทุนในหุ้นที่ผลิตสินค้าที่คุณใช้ ลงทุนในแบรนด์ระดับโลกที่คุณหลงไหลจริงไหมครับ?