คัดหุ้นดี ด้วยเทคนิคการอ่านงบการเงินฉบับรวบรัด

ปัจจุบันยังมีนักลงทุนหลายคนที่ตัดสินใจซื้อหุ้นโดยที่ไม่ศึกษาข้อมูลงบการเงิน ด้วยเหตุผลหลากหลาย เช่น ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน มีความซับซ้อน หรือใช้เวลาค่อนข้างนาน กว่าจะดูเสร็จอาจพลาดโอกาสทองในการทำกำไร ดังนั้น นักลงทุนหลายคนยังคงซื้อหุ้นด้วยการดูเพียงราคาหุ้นตัวนั้นๆ ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ หรือจากคำแนะนำของเพื่อนๆ


อย่างไรก็ตาม การลงทุนให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว งบการเงินเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนถึงฐานะทางการเงินและความมั่นคงของธุรกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน


วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จกับการลงทุน แต่ปัจจุบันเขายังคงอ่านงบการเงินด้วยตัวเอง เขาบอกว่า “นักลงทุนต้องเข้าใจงบการเงิน ต้องเข้าใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในงบการเงิน ถ้ายังไม่เข้าใจ ไม่ได้อ่านและยังไม่ได้ตีความหมายจากงบการเงิน อย่าตัดสินใจซื้อหุ้น”


สำหรับนักลงทุนที่ยังคงมองว่างบการเงิน เต็มไปด้วยตัวเลข ซับซ้อน ไม่รู้จะเริ่มต้นบรรทัดไหน อย่าพึ่งท้อ เพราะใช้เวลาไม่นานก็สามารถเข้าใจและมีเทคนิคในการอ่านงบการเงินอย่างง่ายและตัดสินใจได้ว่าบริษัทนั้นมีสุขภาพทางการเงินเป็นอย่างไร และน่าสนใจในการลงทุนหรือไม่


1.งบแสดงฐานะการเงิน


บอกให้รู้ว่าสถานะหรือความมั่งคั่งของบริษัทเป็นอย่างไร หากบริษัทมีโครงสร้างฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ย่อมทำให้สามารถดำเนินธุรกิจสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว
 

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น (ทุน)

 

สิ่งแรกที่ควรดูก็คือ รายการสินทรัพย์ โดยการแสดงสินทรัพย์จะเรียงตามสภาพคล่อง ดังนั้น เงินสดจะโชว์อยู่ในบรรทัดแรก เพราะมีสภาพคล่องสูงที่สุดและสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที นั่นหมายความว่า บริษัทต้องมีสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ในทันที หรืออาจเป็นเงินสดก็ได้


ข้อมูลด้านสินทรัพย์ ในเบื้องต้นจะทำให้รู้ถึงขนาดธุรกิจ การเติบโต การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินลงทุนในสินทรัพย์


ถัดจากนั้น ดูหนี้สินซึ่งหลักๆ ก็เป็นหนี้สินหมุนเวียนกับหนี้สินไม่หมุนเวียน โดยข้อมูลนี้จะทำให้เห็นสภาพคล่องทางด้านการเงิน เพราะบริษัทควรมีสินทรัพย์ เช่น เงินสดหรือลูกหนี้ มากกว่าหนี้สินระยะสั้น นั่นหมายความว่า เมื่อรวมสินทรัพย์กับรวมหนี้สินแล้ว ฝั่งสินทรัพย์ควรมีมากกว่า


ส่วนสุดท้าย ดูส่วนของผู้ถือหุ้นและกำไรสะสม ซึ่งบอกถึงเงินลงทุนตั้งแต่จัดตั้งรวมกับกำไรสุทธิที่เกิดจากการทำธุรกิจตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน หากมีกำไรสะสมสูงแสดงถึงความสามารถในการทำธุรกิจดีมีประสิทธิภาพและมีโอกาสที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้ง ยังตรวจสอบถึงความมั่นคงของบริษัทได้อีกด้วย โดยผ่านอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio)

  D/E Ratio = หนี้สินรวม

                        ส่วนของผู้ถือหุ้น


หากผลลัพธ์ D/E Ratio ออกมาสูง เช่น 4 เท่า, 6 เท่า 10 เท่า เป็นต้น แสดงว่าบริษัทมีการกู้หนี้ยืมสินมาดำเนินธุรกิจมากจนเกินไป หากสนใจลงทุนก็ควรระมัดระวัง เพราะในอนาคตอาจจะมีปัญหาด้านสภาพคล่องหรือมีผลขาดทุนสุทธิ ดังนั้น อัตราส่วนนี้ “ยิ่งต่ำก็ยิ่งดี” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ควรเกิน 2 เท่า 


2.งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

แสดงให้เห็นว่าในแต่ละงวดของผลการดำเนินงานของบริษัท เช่น 1 ไตรมาส, 1 ปี บริษัทมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร อย่างแรกที่ต้องดูคือ รายได้ บอกถึงเมื่อผลิตสินค้าหรือบริการแล้วขายได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนค่าใช้จ่ายจะบอกให้รู้ว่าในงวดนั้นๆ บริษัทมีประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายดีแค่ไหน เมื่อดูทั้งสองอย่างนี้แล้วก็จะนำไปสู่การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร


ข้อมูลงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ในเบื้องต้นทำให้เห็นว่าบริษัทสามารถทำธุรกิจได้ดีแค่ไหน มีโอกาสเติบโตในอนาคตหรือไม่ และมีความสามารถในการทำกำไรสู้กับคู่แข่งได้หรือไม่


3.งบกระแสเงินสด


บอกถึงบริษัทมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน มีแหล่งเงินทุนมาจากที่ไหนบ้าง และใช้เงินไปลงทุนอะไรบ้าง รวมๆ แล้วหมายถึง มองเห็นความสามารถในการวางแผนการเงินในอนาคต ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะเกี่ยวข้องถึงการดำเนินงาน การลงทุนและการจัดหาเงินทุน


ข้อมูลงบกระแสเงินสด ในเบื้องต้นทำให้เห็นถึงพฤติกรรมการได้มาและการใช้ไปของเงินทุน หากบริษัทใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจได้ว่าบริษัทจะเติบโตในระยะยาว


4.อัตราส่วนทางการเงิน


ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้น ก็ต้องวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เพราะเป็นการประเมินฐานะทางการเงินและความสามารถในการทำกำไร โดยส่วนใหญ่จะต้องทำการเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน เพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละบริษัทมีข้อดี ข้อเสียต่างกันอย่างไร


นี่เป็นเพียงการดูงบการเงินในเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวต้องศึกษาหาความรู้ลงลึกในรายละเอียด ที่สำคัญต้องติดตามดูข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพราะงบการเงินเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนถึงฐานะทางการเงินและความมั่นคงของบริษัท จึงเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน