พิกัด 9 วัด บูชาท้าวเวสสุวรรณ ร่ำรวยมั่งคั่ง เสริมเฮงตลอดปี 2567

 

คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ ป้องกันภูตผี เสริมการเงิน หน้าที่การงาน


ช่วงนี้น้องมีบุญเห็นเพื่อนๆ หลายคนไปกราบไหว้สักการะบูชาท้าวเวสสุวรรณ ตามวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดในจังหวัดกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด วันนี้น้องมีบุญจึงอยากจะบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมา และเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญเสริมสร้างบารมี บูชาท้าวเวสสุวรรณ ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งทำได้ง่ายๆ เพียงสแกน QR Code ก็สร้างบุญสุขใจได้ทันที และยังมั่นใจได้ว่าเงินของเรานั้นจะส่งถึงบัญชีของทางวัดโดยตรงอีกด้วย

 

สำหรับประวัติของท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวเวสวัณ หรือท้าวกุเวรนั้น เป็นเทพเจ้าแห่งยักษ์ และเป็นหนึ่งในจาตุมหาราช ที่ทำหน้าที่คุ้มครองดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ในเรื่องรามเกียรติ์เป็นโอรสของท้าวลัสเตียน กับนางศรีสุมณฑา จึงเป็นพี่ต่างมารดาของทศกัณฐ์ ทรงฤทธานุภาพ เคยตัดเศียรของท้าวราวัณขาดไป 1 เศียร ครองโลกบาลทิศเหนือ รูปร่างพิการ ผิวขาว มีฟัน 8 ซี่ และมีขาสามขา ภาพท้าวเวสวัณจึงมักเขียนเป็นท่ายืนแยงแย่ ถือไม้กระบองยาว อยู่หว่างขา เหมือนดั่งภาพตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุดรธานี

การบูชาท้าวเวสสุวรรณนั้น มีความเชื่อ และความศรัทธาว่าหากผู้ใดบูชาท่าน จะได้ทรัพย์ ได้โชค การงานรุ่งเรือง ป้องกันภูตผีปีศาจวิญญาณร้าย ช่วยให้มีชีวิตยืนยาว ส่งเสริมให้ผู้บูชาเป็นคนดี มีศีลธรรม และหากบ้านไหนมีเด็กเล็ก เด็กแรกเกิดมักบูชาไว้บริเวณใกล้ๆ ที่นอนเด็ก เพราะเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองเด็กคนนั้น

 

คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ


สำหรับการบูชาท้าวเวสสุวรรณ นิยมใช้ธูป 9 ดอก และดอกกุหลาบแดงอีก 9 ดอก โดยมีบทบูชาที่อาจแตกต่างไปในแต่ละวัด ในครั้งนี้ น้องมีบุญจึงเลือกนำคาถาบทหนึ่งมาดังนี้

 

ตั้งนะโม 3 จบ แล้วกล่าวพระคาถาบูชา

“อิติปิโส ภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มะระณังสุขัง อะหังสุคะโต นะโมพุทธายะ ฯ

ท้าวเวสสุวรรณโณ จาตุมะหาราชิกา ยักขะพันตา ภัทภูริโต เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโมพุทธายะ ฯ”

เมื่อเราทราบถึงประวัติความเป็นมาต่างๆ แล้ว น้องมีบุญจะพาเพื่อนๆ ไปเยือน 9 วัดในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงที่เปิดให้บูชาท้าวเวสสุวรรณ โดยเริ่มจาก 

thao-wessuwan-bkk-01

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร  คนทั่วไปมักเรียกสั้นๆ ว่า วัดสุทัศน์ สร้างขึ้นในต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปีพ.ศ.2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน และพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส  ทรงโปรดให้สร้างพระวิหารเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลก่อนจะแล้วเสร็จ (จำหลัก คือการแกะสลักภาพให้เป็นลวดลาย) จนในที่สุด วัดก็สร้างเสร็จใน ปีพ.ศ.2390 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทัศน์เทพวราราม" ดังที่ปรากฎในจดหมายเหตุ ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี", "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี"

ท้าวเวสสุวรรณแห่งวัดสุทัศน์นั้น มีที่มาจากสมัยปีพ.ศ.2493 เจ้าคุณพระมงคลราชมุนี ซึ่งเป็นศิษย์เอกของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีตำนานเล่าว่าวัดสุทัศน์ ได้จัดสร้างขึ้นครั้งแรก เพื่อเป็นเครื่องรางปกป้องผู้คนจากภูตผีปีศาจที่มารบกวนขณะที่ไปบูรณะวัดในป่าห่างไกลแห่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.2562 ทางวัดได้ทำการหล่อท้าวเวสสุวรรณองค์ใหญ่สำหรับกราบไหว้ ประดิษฐานบริเวณหน้าพระอุโบสถ

ที่ตั้ง 146 ถ. บำรุงเมือง แขวง วัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

         https://goo.gl/maps/Uw2QtzkPeSFaq7Js9

วัดประดิษฐาราม

วัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย อายุเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2293 หรือเกือบ 300 ปีมาแล้ว แต่เดิมทีนั้นกุฏิพระของวัดแห่งนี้เป็นฝาไม้ขัดแตะ เมื่อชาวมอญเริ่มมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ก็ได้ช่วยกันทำนุบำรุงจนในที่สุดก็กลายเป็นวัดของชุมชนมอญ โดยเจ้าอาวาสท่านแรกคือหลวงพ่อเกษร และเจ้าอาวาสองค์ต่อมาคือ หลวงปู่โต ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสชาวมอญ ที่ชาวบ้านนิมนต์ท่านมาจากบ้านบางปลา จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงสมัยต้นรัชกาลที่ 5 และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ในการปลงศพหลวงปู่โต ทางฝ่ายราชการได้ส่งนายช่างสิบหมู่เข้ามาเพื่อสร้างเมรุ และจุดลูกหนูในงานด้วย และต่อมาทางวัดก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521

สำหรับท้าวเวสสุวรรณที่วัดแห่งนี้ มีขนาดสูง 4.5 เมตร และได้ทำพิธีบวงสรวง เบิกเนตรไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2565 นอกจากจะมีท้าวเวสสุวรรณแล้ว ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคือ พระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระนอน และเจดีย์คู่ทรงมอญให้สักการะอีกด้วย

ที่ตั้ง  เลขที่ 33 อิสรภาพ 17 แขวง หิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600

         https://goo.gl/maps/WPC4DoDyA2REvxS86

วัดหัวกระบือ

เดิมทีเรียกว่าวัดศีรษะกระบือ ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด หากพิจารณาจากโบราณวัตถุ และเอกสารด้านโบราณคดี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยา เช่น โคลงนิราศต่างๆ อาทิ โคลงนิราศนรินทร์ โดยนายนรินทร์ ราชการมหาดเล็กที่แต่งหนังสือโคลงเล่มหนึ่งกล่าวถึงหัวกระบือ เมื่อคราวตามเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เมื่อปีพ.ศ. 2352 และยังมีนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ที่กล่าวถึงศีรษะกระบือไว้เช่นกัน โดยสรุปแล้วที่มาของหัวกระบือนั้น น่าจะสอดคล้องกับรามเกียรติ์ ตอนปราบทรพี ที่พาลีตัดหัวทรพี (ควาย) ขว้างไปตรงที่ย่านหัวกระบือ แต่ตำนานการสร้างวัดนั้น บันทึกจากคำบอกเล่าของชาววัด และชาวบ้าน มีสาระสำคัญเกี่ยวกับขุนช้างขุนแผน โดยสมเด็จพระพันวษาโปรดประพาสป่าล่าควายป่า และควายป่าถูกขุนไกรซึ่งเป็นบิดาของขุนแผนฆ่าเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระพันวษาจึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น แล้วตั้งชื่อว่าวัดหัวกระบือ

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานอ้างอิง เช่น ซากศิลปกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ที่วัด มีบันทึกในหนังสือชุดจิตรกรรมฝาผนังประเทศไทยเรื่อง “จิตรกรรมสมัยอยุธยาจากสมุดข่อย” โดยปรากฎหลักฐานโบราณคดีที่ยังเหลือพอจะกำหนดอายุของวัดได้ มีเพียงเสมา เจดีย์ และสมุดข่อย

·       เสมา เป็นหินทรายสีแดง มีขนาดเล็กอย่างเสมาในตระกูลอัมพวา ซึ่งเป็นใบเสมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย

·       เจดีย์ เป็นเจดีย์คู่ด้านหน้าโบสถ์ แข้งสิงห์มีลักษณะยาวซึ่งเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา

·       สมุดข่อย มีจารึกบอกศักราชว่าจารขึ้นในปี พ.ศ.2286 ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายประมาณ 24 ปี ทั้งเส้นสาย และการวางองค์ประกอบภาพ สันนิษฐานได้ว่าเขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย

สำหรับวัดหัวกระบือนั้น มีพระคาถาบูชา ท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งประพันธ์โดย พระครูวิบูลพัฒนกิตติ์ ดร. โดยมีบทคือ

“บูชาท้าวเวสสุวรรณ ค้าขายร่ำรวย ป้องกันภูตผีปีศาจ แคล้วคลาดปลอดภัย ฯ”

และภายในวัดหัวกระบือสวนสวรรค์ลานบุญที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์, พระพิฆเณศวร องค์มหาเทพ มหาเทวี,  และปู่ฤๅษีร้อยแปด ครอบเศียรเสริมบารมี

ที่ตั้ง  77 ซ. เทียนทะเล 19 แขวง ท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 10150

         https://goo.gl/maps/u8CohG9hUMeP51Gt7

วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง

จากสำนักสงฆ์กลางทุ่งนาที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีพระสงฆ์จำพรรษามากขึ้นก็พัฒนาเป็นวัด มีนามว่า วัดสระแก โดยมีพระครูปรีชาเฉลิม หรือ หลวงปู่แฉ่งแห่งวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร เป็นผู้ริเริ่ม และได้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคที่ดินเพื่อขยายบริเวณ ต่อมาก็ได้รับการอนุญาตให้สร้างขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2435 เมื่อหลวงปู่แฉ่ง มรณภาพ ก็ได้หลวงพ่อฉ่ำมาเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดต่อ ภายหลังได้มีช่วงที่วัดเว้นว่างจากพระสงฆ์ ชาวบ้านกลัวว่าจะกลายเป็นวัดร้าง จึงได้ไปนิมนต์พระอธิการพยุง จากวัดกำแพง มาเป็นเจ้าอาวาสต่อ เมื่อปี พ.ศ.2491 เริ่มทำการปฏิสังขรณ์ และพัฒนาเรื่อยมา นายบัว ฉุนเฉียว ได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติมให้ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายบัว ทางวัดจึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น วัดบัวขวัญ

ต่อมาวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2506 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2551 นอกจากการพัฒนาวัดในด้านต่างๆ แล้ว วัดแห่งนี้ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วย จึงได้มีการก่อตั้งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดนนทบุรีแห่งที่ 1 รวมถึงสนับสนุนการศึกษา โดยการสอนธรรมศึกษาในโรงเรียน และยังเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนสำหรับระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลายอีกด้วย   

สำหรับวัดบัวขวัญ มีความพิเศษคือ ที่นี่มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 องค์ให้บูชาสักการะ คือ ท้าวธตรฐ ที่เด่นด้านการทำงาน ศิลปะการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปะการแสดง, ท้าววิรุฬหก ที่เด่นด้านการทำงาน ความก้าวหน้า โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นข้าราชการ,  ท้าววิรูปักษ์ เด่นด้าน ความเป็นที่รักแก่มนุษย์ และเทวดา แคล้วจากภัยอันตราย และให้ความมั่งคั่งด้านทรัพย์สินเงินทอง โดยเฉพาะกับผู้ที่ทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์ และองค์สุดท้าย ท้าวเวสสุวรรณ เด่นด้านการให้พ้นเคราะห์ ปกป้องจากอันตราย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางบ่อยๆ  ผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับต่างประเทศ

ที่ตั้ง  1 หมู่ที่ 9 ซอย งามวงศ์วาน 23 บางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000

         https://goo.gl/maps/65yTRr2dATjdFJpr5

        

วัดไทรใหญ่

วัดเก่าแก่ประจำอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2410 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเดิมมีชื่อเรียกว่า วัดมหานิโครธาราม ที่แปลว่า ต้นไทรใหญ่ ซึ่งชาวบ้านมักติดปากเรียกว่าวัดไทรใหญ่เสมอมาเพราะว่าเรียกง่ายกว่าจนในที่สุดก็ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดไทรใหญ่ และต่อมา ด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของนางเง็ก จึงได้ถวายที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์จำนวน 77 ไร่ 72 ตารางวา และนางผันได้ถวายเพิ่มอีก 15 ไร่ 96 ตารางวา จึงถือเป็นวัดที่มีพื้นกว้างขวางวัดนึง และวัดแห่งนี้ได้รับ พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2491 โดยพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498

ท้าวเวสสุวรรณ ณ วัดไทรใหญ่แห่งนี้ สร้างขึ้นโดยพระเดชพระคุณพระมงคลนนทเขต (อดีตเจ้าอาวาสวัดไทรใหญ่) เมื่อปีพ.ศ.2521 มีขนาดสูงประมาณ 1 เมตร  แต่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และขลังเป็นอย่างมาก เพราะเคยถูกโจรขโมยลักไปถึง 2 ครั้ง โดยในครั้งสุดท้าย หลวงพ่อพระมงคลนนทเขต (อดีตเจ้าอาวาสวัดไทรใหญ่) ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากท้าวเวสสุวรรณองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์จริง ก็ขอให้กลับมาวัดไทรใหญ่เหมือนเดิม ต่อมาหลวงพ่อได้ไปพบท้าวเวสสุวรรณองค์ดังกล่าวที่ร้านขายของเก่าแห่งนึง หลวงพ่อจึงได้บอกกับทางร้านว่า ท้าวเวสสุวรรณองค์นี้ถูกลักมาจากวัดไทรใหญ่ ทางร้านจึงได้สอบถามรายละเอียด หลวงพ่อจึงบอกลักษณะของท้าวเวสสุวรรณได้อย่างถูกต้อง ทางร้านจึงมอบคืนให้ พร้อมถวายเงินอีก 50,000 บาท โดยการส่งคืนในครั้งนั้น ใช้รถขนส่ง ชาวบ้านต่างพากันลุ้นสลากล็อตเตอร์รี่เป็นเลขท้าย 3 ตัวของรถคันดังกล่าว และทุกคนก็ได้รับโชคในครั้งนั้น จึงเป็นที่เล่าขานบอกกล่าวถึงความอัศจรรย์สืบมา

นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ของท้าวเวสสุวรรณแล้ว ภายในวัดยังมีอาคารเสนาสนะที่สำคัญได้แก่ อุโบสถ ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 เป็นอาคารทรงไทย หลังคามุงกระเบื้อง ช่อฟ้าใบระกา หน้าบันปิดทอง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเจ้าสิบชาติ และเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอู่ทอง ฝีมือช่างหลวงอีกด้วย  

ที่ตั้ง  8917 ถนน บ้านกล้วย-ไทรน้อย ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย นนทบุรี 11150

         https://goo.gl/maps/Z5gwzb49LAjvDATh8

วัดท่าอิฐ

วัดเก่าแก่อายุ 200 กว่าปี สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2316 เดิมทีนั้นเป็นวัดร้างบนที่ดอน ต่อมาได้ย้ายมาตั้งบริเวณใกล้แม่น้ำเพื่อความสะดวกในการเดินทาง โดยเลือกที่ตั้งแห่งใหม่ใกล้เจ้าพระยาแถวแม่น้ำอ้อมเกร็ด อยู่ตรงข้ามกับวัดศาลากุล ชื่อของวัดแห่งนี้มาจากชุมชมแถวนั้นประกอบอาชีพปั้นอิฐ และยังเป็นท่าน้ำขึ้นลง วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2525

วัดท่าอิฐแห่งนี้ มีองค์ท้าวเวสสุวรรณที่ไม่เหมือนวัดอื่น โดยแกะสลักขึ้นจากไม้ประดู่เลือด หรือไม้ประดู่แดงทั้งต้น ในปีพ.ศ.2551 ต่อมาในปีพ.ศ.2554 เกิดภัยน้ำท่วมใหญ่ แต่องค์ท้าวเวสสุวรรณกลับไม่ได้รับความเสียหาย และยังมีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์อีกมากมายด้วย

ภายในบริเวณวัดยังมีวิหารริมน้ำ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตนาลันทาทอง พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาองค์ใหญ่ที่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาด้วยเช่นกัน

ที่ตั้ง  1 หมู่ที่ 7 ซอย ท่าอิฐ ตำบล ท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี 11120

          https://goo.gl/maps/KkBLRhzRUhm83iVa8

วัดโบสถ์ (เมือง) หลวงปู่เทียน

วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะโดยชาวมอญที่อพยพมาจากหงสาวดี วัดแห่งนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2167

ภายในวัดมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระอุโบสถที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2158 และวิหารรามัญเก่าแก่ อายุมากกว่า 400 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2160 ด้วยรูปแบบการก่ออิฐถือปูน มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่บริเวณหน้าวิหารมีหอระฆังเก่าแก่จากยุคเดียวกันด้วย วิหารนี้เคยได้รับการบูรณะมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เข้ากราบสักการะ โดยพระประธานประจำวิหารแห่งนี้ คือ พระรามัญทรงเครื่อง หรือพระพุทธมหาจักรพรรดิ ที่คาดว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้คนต่างพากันมากราบไหว้สักการะขอพรจนเป็นผลสำเร็จ จึงได้มีการขนานนามว่า “หลวงพ่อสมปรารถนา” โดยในประเทศไทยมีพระรามัญทรงเครื่องเพียงแค่ 2 องค์ โดยอีกองค์ประดิษฐานอยู่ที่อยุธยา

นอกจากนี้ ในวัดยังมี มหาศาลาสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งประดิษฐานพระรูปจำลองของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขนาด 3.5 เมตร มีความเชื่อว่าใครที่ได้ไปกราบไหว้ ก็จะชนะศัตรู ได้พบเจอแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต และประสบแต่ความสุข ความเจริญ และสำหรับท้าวเวสสุวรรณที่วัดนี้ ได้ประดิษฐานให้คนมาบูชาขอพร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด โดยสามารถผูกผ้าตามจุดหมายขอพรได้

จุดสุดท้ายที่ห้ามพลาด คือ มณฑปพระครูบวรธรรมกิจ หรือหลวงปู่เทียนอดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ซึ่งท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพรักศรัทธาจากคนทั่วไป เพราะเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัด มีเมตตา ในปีพ.ศ.2448 ซึ่งนับเป็นพรรษาที่ 9 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์รูปที่ 3 และได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมา ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2509 สิริอายุ 90 ปี 70 พรรษา ที่มณฑปมีรูปจำลองของท่านให้กราบไหว้สักการะขอพร โดยมากจะมาขอพรเรื่องค้าขาย หรือการงาน

ที่อยู่        หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000

               https://goo.gl/maps/jmY3dhpqT4S4H3hN7

วัดโบสถ์ (สามโคก)

หลายคนอาจจะรู้จักวัดโบสถ์ (สามโคก) ในนาม วัดโบสถ์หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ ที่สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2370 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 แน่นอนว่า จุดเด่นของวัดนั้นคือ รูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ปางเทศนาธรรม มีความสูงถึง 28 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2549 โดยคุณวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ เป็นผู้จัดสร้างถวาย และบริเวณลานธรรมหลวงพ่อโต ก็สามารถเดินไปศาลาจัตุรมุขยอดมงกุฎได้ ภายในวัดยังประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์ใหญ่, พระสีวลี  และพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อเหลือ ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองปทุมธานี สร้างด้วยศิลาทราย โดยที่มาของชื่อคือ ในราวปี พ.ศ. 2507 มีโจรเข้ามาลักลอบตัดเศียรพระพุทธรูปภายในโบสถ์ เหลือแต่เพียงหลวงพ่อเหลือเท่านั้นที่ไม่โดนตัด ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า หลวงพ่อเหลือ และในวัดยังมีวังมัจฉาที่มีปลามากมาย

ท้าวเวสสุวรรณของวัดโบสถ์ ได้ทำพิธีเบิกเนตร เมื่อวันที่12 มิถุนายน 2565 โดยประชาชนทั่วไปมักมากราบไหว้ขอโชคลาภ

ที่ตั้ง  15 หมู่ที่ 1 ซอยบางกระบือ ซอย 6 ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 12160

         https://goo.gl/maps/wH1evktvYqszEDd27

วัดสายไหม

วัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่สร้างด้วยจิตศรัทธาของหม่อมราชวงศ์หญิงน้อย และหม่อมหลวงนุ่น ที่มอบที่ดินจำนวน 7 ไร่ 35 ตารางวาให้แก่วัดเมื่อปีพ.ศ. 2441 ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2498 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2498 มีการเปิดสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2482

ท้าวเวสสุวรรณที่วัดสายไหมแห่งนี้มีถึง 4 องค์ โดยองค์สีแดง เด่นด้านอำนาจ บารมี และการเงิน, องค์สีเขียว เด่นด้านการเก็บเงินที่หามาด้วยความสุจริต, องด์สีทอง เด่นด้านสุขภาพ และองค์สุดท้าย สีเงิน เด่นด้านโชคลาภ

และภายในวัดมีอุโบสถที่สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2508 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง หน้าตักกว้าง 3 ศอก และรูปหล่อพระอธิการญัติ อุตตโม อดีตเจ้าอาวาสรูปแรก  ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2514 ทางวัดได้ทำการซื้อที่ดินเพื่อขยายขอบเขตออกไปอีก 7 ไร่ 12 ตารางวา นอกจากนี้ ที่วัดแห่งนี้ยังมีศาลเจ้าแม่กวนอิม ให้ประชาชนที่ศรัทธาได้เข้ามาสักการะอีกด้วย

ที่อยู่        37 หมู่ที่ 3 ถนนลำลูกกา ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130

                https://goo.gl/maps/M4u8UyKv5S2wXX5o7

น้องมีบุญ พาท่องเที่ยวสุขใจ ไหว้พระ ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ขอชวนมาบริจาคเงินทำบุญแบบ E-Donation บำรุงศาสนสถาน สร้างบุญกุศลผ่านแอป SCB EASY กันต่อ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

>> สแกน QR Code ทำบุญทันใจ

>> กด “ยอมรับ” ให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลรายการนี้ ให้แก่ กรมสรรพากร และ/หรือ หน่วยรับบริจาค เพื่อการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

>> ใส่จำนวนเงินบริจาค กดปุ่มยืนยัน เพียงเท่านี้ เงินก็จะถูกส่งไปเข้าบัญชีของวัดโดยตรง

ข้อมูลบริจาคที่ส่งไปกรมสรรพากรจะถูกนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยเราสามารถคลิกดูรายละเอียดข้อมูลที่บริจาค E-Donation ไปแล้ว ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ง่ายสะดวกทันใจ สายบุญยุคดิจิทัล

สามารถเลือกวัดที่ต้องการทำบุญเพิ่มเติม ผ่านการ สแกน QR Code ได้ที่ >> /th/personal-banking/other-services/e-donation/e-donation-religious-sites.html

ทำบุญสุขใจ ผ่าน SCB EASY App โดยตรง เลือกวัดที่ต้องการทำบุญ ได้ที่ >> /th/personal-banking/digital-banking/scb-easy/easy-donation.html