ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
เปิดสินทรัพย์เด่นที่ควรมีติดพอร์ตลงทุนไตรมาส 3
เข้าสู่ช่วงกลางปีแบบนี้หลายคนอาจกำลังนั่งดูพอร์ตลงทุนของตัวเองอยู่ว่าควรปรับลด เพิ่ม หรือโยกย้ายเงินไปลงทุนตรงไหนดี เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมบางอย่างก็เปลี่ยนไปจากที่เคยมองไว้เมื่อช่วงต้นปี
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ที่เคยคาดการณ์ว่าจะขึ้นรอบสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมแล้วคงดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี ก็กลายเป็นว่ายังมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก เพราะเงินเฟ้อยังลงช้า ขณะที่ประเด็นภาคธนาคารสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นช่วงเดือนมีนาคม ก็ทำให้ธนาคารในสหรัฐฯ ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมที่อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่มองไว้ว่าจะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยสูงเพียงอย่างเดียว และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
SCB CIO มองว่า หากนักลงทุนต้องการฝ่ามรสุมเศรษฐกิจถดถอยได้ ควรมีตราสารหนี้ประมาณ 35-40% ของพอร์ตลงทุนรวม อีก 35-40% ลงทุนในหุ้น โดยเน้นไปที่กลุ่ม Defensive หรือหุ้นที่ทนทานทุกสภาพตลาด ส่วนอีก 5-10% ลงทุนในทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) รวมทั้งเน้นเก็บสภาพคล่องอีก 5-15% ไว้ในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนแต่ละท่านมีความสามารถยอมรับความเสี่ยง และมีเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกัน การแบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย
สำหรับเหตุผลที่พอร์ตลงทุนในไตรมาส 3 ควรมีสินทรัพย์เหล่านี้ เนื่องจากเรามองว่า
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอีก 12 เดือนข้างหน้า
มีโอกาส 30% ที่จะแค่ชะลอตัว และเงินเฟ้อลงเร็วกว่าคาด ทำให้อาจไม่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก แต่
มีความเป็นไปได้ถึง 60% ที่จะถดถอยแบบอ่อนๆ (Mild Recession) และเงินเฟ้อพื้นฐานยังชะลอตัวลงช้า ดังนั้นอาจได้เห็น Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง เป็น 5.50-5.75% แล้วคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับนั้น
ซึ่งในภาวะเช่นนี้การลงทุนในตราสารหนี้ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจภายใต้ความเสี่ยงที่ต่ำกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น
ทั้งนี้ ในการประชุมเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Fed แสดงจุดยืนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ซึ่ง SCB CIO ก็คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ยังลงช้า แต่ถึงอย่างไร Fed ก็คงจะใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
หากเราพิจารณาการรับรู้ของตลาดเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ย ก็จะพบว่าตลาดรับรู้คาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในเดือนกรกฎาคมไปค่อนข้างมากแล้ว เมื่อดูการคาดการณ์ของนักลงทุนใน Fed Fund Futures ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับ Fed ที่มองว่าเงินเฟ้อยังลงช้า และอาจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ดังนั้นหาก Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง 0.25% ตลาดคงจะไม่ประหลาดใจ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) คงจะได้รับผลกระทบไม่มาก
ด้วยเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้า และตลาดแรงงานยังตึงตัว เรามองว่า
ทิศทางอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังอยู่ในระดับสูงไปตลอดทั้งปี 2023
คืออยู่ที่มากกว่า 5%
ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้นในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
โดยที่ผ่านมาเราพบว่ามีเงินไหลเข้ากองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ระดับโลกค่อนข้างมากทีเดียว
เรามองว่าการลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ระยะสั้นในต่างประเทศแล้วมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจระดับนี้ ถือว่าหายากมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นหากเป็นไปได้ แนะนำให้ผู้ลงทุนที่มีสภาพคล่องสูง
นำเงินลงทุนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ไปลงทุนผ่านกองทุน Money market ในต่างประเทศ โดยเน้นคัดเลือกกองทุนที่มีความผันผวนน้อยที่สุด หรือลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นในต่างประเทศ ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลา (Term Fund)
อย่างไรก็ดี การลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้นเงินที่นำไปลงทุนต้องเป็นเงินเย็น และไม่จำเป็นต้องใช้เงินในระยะสั้นๆ เมื่อสินทรัพย์ในต่างประเทศที่ลงทุนไว้ครบกำหนด เรามองว่าผู้ลงทุนสามารถหาโอกาสลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งมีโอกาสการลงทุนมากกว่าในประเทศไทยได้
ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เรามองว่า Bond Yield น่าจะผ่านระดับสูงสุดมาแล้วช่วงต้นปี ที่เวลานั้นทุกคนมองว่า Fed ใช้นโยบายการเงินค่อนข้างตึงตัว แต่เวลานี้ท่าที Fed เปลี่ยนไป เน้นพิจารณาข้อมูลที่เข้ามา ทั้งเงินเฟ้อและการจ้างงาน ฉะนั้นหาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 หรือ 2 ครั้ง หลังจากนั้นไป Bond Yield น่าจะอยู่ในขาลงมากกว่าขาขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ แม้ตลาดจะมองว่าเงินเฟ้ออาจยังไม่เข้าสู่กรอบที่ Fed ต้องการในปี 2024 แต่ด้วยดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย จึงทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง หรือ Real Yield (อัตราดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ) มีแนวโน้มเป็นบวก
การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวจึงยังน่าสนใจสำหรับพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวและหุ้นกู้คุณภาพสูงที่มีเรตติ้ง AA- ขึ้นไปของบริษัทที่แข็งแกร่ง ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อยกว่าบริษัททั่วไป โดยตราสารหนี้เหล่านี้ยังให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี อาจได้ทั้งอัตราดอกเบี้ยรับของตราสารหนี้ที่ค่อนข้างสูง และส่วนต่างกำไรจากราคาตราสารหนี้ที่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ดอกเบี้ยลดลง
สำหรับการลงทุนในหุ้นนั้น เราแนะนำให้ขายทำกำไรหุ้นที่ได้รับผลตอบแทนสูงในช่วงที่ผ่านมา เช่น กลุ่ม Mega Technology ในสหรัฐฯ ที่นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาปรับขึ้นไป 30-40% และมีหุ้นหลายตัวที่ราคาเริ่มกลับไปทำระดับสูงสุดใหม่ (New High) ที่ควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น แล้ว
สับเปลี่ยนเงินไปลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ของสหรัฐฯ น่าสนใจ เพราะยังทำผลงานได้น้อยกว่าตลาด แต่เป็นหุ้นที่มีแนวโน้มปรับตัวได้ดีในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีหรือถดถอย
หุ้น Defensive ที่แนะนำคือ กลุ่มสาธารณูปโภค (Utility) เช่น พลังงานทางเลือก ที่ยังปรับขึ้นช้ากว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีค่อนข้างมาก และกลุ่ม Consumer Staples หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ที่ผลการดำเนินงานมักจะมีเสถียรภาพกว่าหุ้น S&P 500 โดยรวมในช่วงตลาดขาลง
ขณะที่การย้ายเงินลงทุนจากตลาดพัฒนาแล้วไปยังตลาดเกิดใหม่ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างเช่น หุ้นจีน A-Share ที่ถึงแม้จะยังทำผลงานได้ดีน้อยกว่าตลาดอื่น แต่เราก็มองว่ามีความน่าสนใจลงทุนระยะยาว จึงยังให้น้ำหนักการลงทุนสูงกว่าตลาดพัฒนาแล้ว
ในส่วนของการ
แนะนำให้มีทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ในพอร์ตนั้น SCB CIO มองว่า หากมีไว้ 5-10% ของพอร์ตลงทุนโดยรวม จะช่วยป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจขาลงได้
โดยในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี กลุ่มนี้มักจะทำให้พอร์ตลงทุนโดยรวมให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบด้วยค่าความเสี่ยงที่เท่ากัน
โดยรวมแล้ว เวลาที่เราลงทุนก็คาดหวังผลตอบแทนปลายทางที่เป็นบวกตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ทั้งสิ้น แต่เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นระหว่างทางที่ลงทุนอาจจะมีสถานการณ์เข้ามากระทบ ทำให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์บางประเภทปรับลดลงหรือผันผวนบ้าง แต่หากนักลงทุนมีระยะเวลาให้เงินลงทุนได้ทำงานนานมากเพียงพอ และมีการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงให้สอดคล้องกับความสามารถยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง ที่สุดแล้วหนทางแห่งความสำเร็จของการลงทุนก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2566
บทความโดยคุณศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ที่มา :
The Standard Wealth